“การจับผู้ร้ายนั้นหาใช่ผลงานที่สำคัญไม่”

กระชากขบวนการทุจริตสอบโรงเรียนนายสิบตำรวจนครบาลกลายเป็นข่าวโด่งดัง พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน ผู้กำกับการศูนย์ฝึกอบรม กองบัญชาการตำรวจนครบาลงัดเอากลยุทธ์วิชาสืบสวนที่ตัวเองถนัดจัดการอยู่หมัด

เพียงเพื่อไม่ต้องการให้ “มะเร็งร้าย” เหล่านี้ไปบ่อนทำลายระบบราชการเมืองไทย

ทำลายองค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ผิดพลาดมาตั้งแต่เริ่มต้นคัดสรรบุคลากรไปสวมเครื่องแบบดูแลรับใช้ประชาชน นับเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ประสบความสำเร็จของนายพันตำรวจเอกหนุ่มผู้มีพื้นฐานเติบโตมาจากงานสืบสวนสอบสวน

นิตยสาร COP’S ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ขอขันอาสาพาไปสัมผัสตัวตนของ พ.ต.อ.อุเทนพิสูจน์หลักคิดและทฤษฎีมากมาย ทำให้เขากลายเป็น “นักสืบรุ่นใหม่” ไฟแรง

 

ประเดิมได้กลิ่นพิรุธผู้สมัครสอบ กระดาษคำตอบไขปริศนา

เริ่มต้นด้วยปฐมบทเปิดโปงขบวนการโกงสอบนายสิบตำรวจ หลังจาก พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน มีหน้าที่เป็นคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า เพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบนครบาล ประจำปีงบประมาณ 2560 เขาเริ่มได้กลิ่นส่อไปทางทุจริตเมื่อตรวจพบนิสิตนักศึกษาระดับหัวกะทิของคณะแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำมาสมัครสอบ ที่สนามสอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก

“มันเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาเรียนดีมีอนาคตจะเลือกมาสอบเป็นนายสิบตำรวจ” พ.ต.อ.อุเทน บอกถึงข้อพิรุธ ทั้งที่เขาตอนแรกตั้งข้อสังเกตเพียงว่า อาจเป็นพวกติวเตอร์โรงเรียนกวดวิชาจ้างพวกนี้มาดูแนวข้อสอบเพื่อไปสอนพิเศษ สุดท้ายสิ่งที่นายตำรวจหนุ่มนักสืบเก่าไม่ยอมมองข้าม คือ พยานหลักฐานที่ขบวนการเหล่านี้พลาดท่าทิ้งไว้มัดตัวเองในสนาม

ผู้กำกับการศูนย์ฝึกอบรม กองบัญชาการตำรวจนครบาล เผยเบื้องหลังว่า การสืบสวนเรื่องนี้ไม่ต่างไปจากการสืบสวนคดีอาชญากรรมทั่วไป แถมยังอาจจะมีความยากมากกว่าในการรวบรวมหลักฐานด้วยซ้ำ โชคดีที่เราประสานบอกคณะกรรมการควบคุมการสอบเวลาตรวจกระดาษคำตอบไว้แล้ว ถึงพบผลการสอบของผู้สมัครคนหนึ่งได้คะแนนเพียง 13 คะแนนจากคะแนนเต็ม 150 คะแนน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้และพบยากมากในสนามสอบที่จะได้คะแนนเพียงเท่านี้ ในขณะที่คนที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ 123 คะแนน

คลี่คลายได้นิสิตนักศึกษาหัวดี ทำหน้าที่ “มือปืนรับจ้าง”

“ยอมรับว่า ตอนนั้นคิดว่า คนที่ได้คะแนนต่ำสุด อาจถูกครอบครัวบังคับให้มาสอบ แต่เพื่อความรอบคอบ ผมจึงสั่งให้ตรวจสอบประวัติเด็กคนนั้นว่าเป็นใคร เนื่องจากตอบมั่วยังน่าจะได้คะแนนมากกว่านี้ ปริศนาทั้งหมดถึงเริ่มคลี่คลาย เด็กคนนั้นใช้วุฒิการศึกษามัธยมปีที่ 6 มาสมัคร แต่ปัจจุบันกำลังเรียนคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ยิ่งเป็นประเด็นคำถามว่า เป็นนิสิตแพทย์ทำไมสอบได้ 13 คะแนน แล้วทำไมเรียนแพทย์มาสอบนายสิบตำรวจ” พ.ต.อ.อุเทนว่า

จากจุดสังเกตที่ซุ่มตรวจนิสิตแพทย์แอบแฝงสมัครเข้าสนามสอบ พ.ต.อ.อุเทน ตัดสินใจนำกระดาษคำตอบมาดูพบว่า เด็กคนนี้มีการเขียนเฉลยคำตอบรวมทั้งวิธีการทำอย่างถูกต้องกว่า 100 ข้อบนกระดาษคำถาม และมีลักษณะการเขียนตัวอักษรที่ใหญ่กว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นสมมติฐานแรกก็คือ การสอบครั้งนี้ต้องมีการทุจริตอย่างแน่นอน มิเช่นนั้นทำไมถึงเลือกคำตอบที่ผิดลงในกระดาษคำตอบ ทั้งที่เขียนคำตอบที่ถูกบนกระดาษโจทย์ และคำตอบที่ถูกต้องมีขนาดใหญ่

เพียงเท่านี้ ผู้กำกับนักสืบเก่ารู้ทันทีว่า เป็นการเจตนาให้คนที่นั่งอยู่ใกล้เคียงลอกคำตอบ ถึงเปิดปฏิบัติขยายผลพบเป็นเครือข่ายขบวนการใหญ่ มีนิสิตนักศึกษารับเป็นมือปืนทำข้อสอบเฉลยให้หลายคน ผู้ที่อยู่ในข่ายกระทำความผิดร่วมกว่า 300 ราย เมื่อเรียกมาสอบปากคำสารภาพว่า ได้ค่าจ้างรายละ 20,000 บาท ให้มานั่งสอบแล้วให้คนข้างหลังลอก ก่อนหน้านี้มีการซักซ้อมกันมาแล้วที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านถนนรัชดาภิเษก

 

เปิดฉากล้างบางขบวนการทุจริต  Back to Basic ลอกข้อสอบ

“นิสิตแพทย์คนหนึ่งสวมแว่นหนาเตอะ ยอมรับโดยดีว่า ไม่กล้ามาเป็นมือปืนรับจ้างสอบให้คนอื่นลอก เพราะใส่แว่นกลัวจะพิรุธว่า สายตาสั้นขนาดนี้จะมาสอบทำไม เพราะตรวจร่างกายเพื่อเป็นตำรวจก็ไม่น่าจะผ่านอยู่แล้ว” พ.ต.อ.อุเทนยกตัวอย่างพยานในคดี  ทำให้รู้ว่า กลุ่มคนที่ทุจริตมีการวางแผนและเตรียมการมาเป็นอย่างดี มีการพบคุยกับผู้ปกครองของเด็กให้มาร่วมทุจริตสอบ เก็บเงินค่าหัวเป็นค่าดำเนินการรายละ 500,000 บาท แต่จ่ายเบื้องต้นเพียง 400,000 บาท เมื่อสอบได้แล้วค่อยจ่ายอีก 100,000 บาท

“หากสามารถพาลูกค้ามาให้ในการสอบครั้งต่อไปก็ไม่ต้องจ่าย 100,000 บาท ถือว่าเป็นการกระทำการทุจริตแบบลูกโซ่ ส่วนใครไม่มีเงินจ่ายก็ให้ไปกู้คนอื่นมาก่อน หัวโจกของขบวนการจะบอกกับผู้ปกครองว่า เมื่อลูกหลานเป็นตำรวจได้ครบ 1 ปี ก็จะมีสิทธิในการกู้เงินจากสหกรณ์ของตำรวจ สามารถนำมาใช้หนี้ได้และผู้ปกครองก็สามารถผ่อนชำระได้จากสหกรณ์ด้วยดอกเบี้ยราคาถูก วิธีการนี้ทำให้มีผู้เข้าร่วมทุจริตจำนวนมาก” นายตำรวจผู้เปิดโปงขบวนการโกงสอบว่า

“ก่อนหน้านี้การทุจริตมีการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ ในที่สุดก็โดนจับได้มาตลอด ถึงกลับไปใช้วิธีการแบบเดิม เรียกได้ว่า Back to Basic ให้ลอกข้อสอบกัน เหมือนที่เด็กๆเคยทำกันในชั้นเรียน ไม่มีความซับซ้อน  แต่ทั้งหลายทั้งปวง กลุ่มเหล่านี้ถ้าหลุดไปเป็นตำรวจ อะไรจะเกิดขึ้น พวกเขาก็ต้องดิ้นรนหาเงินมาใช้หนี้ คิดโกงสารพัด คนที่เดือดร้อนไม่พ้นประชาชน เช่นเดียวกับเหล่ามือปืนรับจ้าง นิสิตนักศึกษาเรียนดี แต่ขี้โกง อนาคตของประเทศคงไม่พ้นพวกทุจริตคอร์รัปชั่นเต็มไปหมด ผมถึงยอมปล่อยผ่านไปไม่ได้ คือถ้ามือปืนไม่มา ปัญหาก็ไม่เกิด” พ.ต.อ.อุเทนน้ำเสียงจริงจัง

ย้อนเส้นทางนายตำรวจหนุ่ม  สุ่มสอบเตรียมทหารเป็นพราน 50

ย้อนกลับไปถึงเส้นทางชีวิตของ พ.ต.อ.อุเทน เกิดกรุงเทพมหานคร แต่ย้ายไปโตที่จังหวัดพิจิตร เข้าเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดจนจบมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม ครอบครัวส่งเข้าเมืองหลวงอีกครั้ง เพราะมองโอกาสน่าจะดีกว่าอยู่ต่างจังหวัด แม้ตัวเขาจะเรียนดี แต่อยู่แค่ต่างจังหวัดก็จะไม่เห็นความแตกต่าง

ปรากฏว่า เขาต้องไปเรียนต่อโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา จังหวัดนครปฐม แต่ยังมีโอกาสเข้ากรุงเทพฯ ไปติวหนังสือ พอจบมัธยมปีที่ 5 เบนเข็มไปสอบโรงเรียนเตรียมทหาร แต่พลาดหวังไม่มีชื่อ เมื่อจบมัธยมปีที่ 6 เลือกเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจวบเหมาะกับไปลองสมัครสอบโรงเรียนเตรียมทหารอีกรอบ เที่ยวนี้ติดเหล่าตำรวจ กลับไปบอกพ่อแม่ ถูกตั้งคำถามว่า คิดอะไร เพราะพ่อต้องการให้เรียนวิศวะ สุดท้ายเขายืนยันเจตนารมณ์แน่วแน่จะเป็นตำรวจ และลาออกจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทันที

สอบเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 34 เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 50 เรียนได้อันดับ 115 ของรุ่น มีเพื่อนร่วมรุ่น อาทิ พ.ต.อ.สำราญ นวลมา พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย พ.ต.อ.สนธยา ธูปทอง พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ รวมถึงนักกีฬาช้างเผือกทีมชาติอย่าง ภูเมศ อั้งสุวรรณกูล วีรยุทธ ตาสีพันธ์ เฉลิมชัย เหิรสวัสดิ์ และประเสริฐ ช้างมูล

 

ค่าแจ้งความสมุดแบงก์หาย กลายเป็นแรงบันดาลใจในวัยเด็ก

แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็นตำรวจ พ.ต.อ.อุเทน เล่าว่า สมัยเรียนประถม โรงเรียนจะให้เอาเงินไปฝากธนาคารออมสิน วันหนึ่งดันทำสมุดบัญชีหาย ธนาคารให้ไปแจ้งความ เสร็จสรรพนายดาบตำรวจที่รับแจ้งเอกสารหายคิดเงิน 2 บาทเป็นค่าทำเรื่อง เราก็ตกใจ ไม่คิดว่า ต้องเสียเงิน เพราะกะจะเจียดเงินตรงนี้ไปฝากธนาคาร พอดีมีนายตำรวจติดดาวเดินมาถาม เมื่อรู้เรื่องก็หยิบเอกสารไปเซ็นให้ และบอกว่า ไม่ต้องเสียเงิน

“วินาทีนั้น ผมมองว่า ตำรวจที่มีดาวบนบ่าใหญ่มาก อำนาจเยอะ ขนาดนายดาบยังกลัว กลับมาเล่าให้พ่อฟัง พ่อบอกว่า ตำรวจพอจบนายร้อย เป็นเจ้าคนนายคน ทำอะไรได้เยอะ ช่วยเหลือใครก็ได้ พวกชั้นประทวนจะไปรู้เรื่องอะไร เห็นไหมว่า นายคนมันใหญ่ ตรงนี้เองกลายเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กที่อยากเป็นตำรวจมาโดยตลอด คิดว่า ต้องเป็นนายร้อยตำรวจให้ได้ อำนาจมันเยอะ เด็ก ๆ ผมคิดแบบนี้ ”

นายตำรวจหนุ่มเล่าอีกว่า พอได้เป็นจริง ๆ สิ่งหนึ่งที่คาใจมานาน อยากพิสูจน์ด้วยตัวเอง คือย้อนกลับไปดูเรื่องค่าธรรมเนียมแจ้งเอกสารหายมีจริงหรือไม่ พบว่า มีจริง แต่ตอนนั้นแค่ 1 บาท ที่คิด 2 บาทน่าจะเป็นค่าถ่ายเอกสาร หลังเรียนจบลงนครบาลราคาค่าแจ้งเอกสารหายเป็น 20 บาท เราจะบอกตำรวจชั้นประทวนที่รับแจ้งทุกคน หากวันไหนเราเข้าเวรอย่าไปเก็บค่าธรรมเนียมแจ้งเอกสารหายเด็ดขาด เพราะเป็นหน้างานบริการของโรงพัก

เลือกฝึกงานโรงพักมีนบุรี ได้พี่เลี้ยงดีช่วยขัดเกลา

ระหว่างเรียนอยู่ในรั้วสามพราน พ.ต.อ.อุเทน ออกตัวว่า ไม่ได้เป็นคนที่เรียนเก่งอะไร แต่จุดเปลี่ยนอยู่ตอนปี 4 ได้ฝึกงานโรงพักมีนบุรี มีพี่เลี้ยงดีช่วยกล่อมเกลา แม้เป็นโรงพักในนครบาล ทว่ารูปแบบการทำงานเหมือนภูธร เพราะเป็นโรงพักที่อยู่ชานกรุง คดีเหมือนตำรวจภูร มีทั้งลัก วิ่ง ชิง ปล้น ยาเสพติด ทุกอย่าง อีกทั้งคดีจราจร ทำให้ได้เรียนรู้จากพี่เลี้ยง

เขาบอกว่า เพื่อนที่ไปฝึกงานโรงพักจักรวรรดิ ไม่มีโอกาสทำคดีจราจรเลย เพราะไม่มี ผิดกับมีนบุรี ฝนตกทีรถบัสชนกัน มีอยู่ครั้งอุบัติเหตุรถเมล์ชนตายกันเป็นสิบ เลือดเต็มถนน รุ่นพี่จะสอนว่าไปถึงที่เกิดเหตุแล้วต้องทำอะไรไรบ้าง เป็นประสบการณ์ฝึกงานโรงพักในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่คุ้มค่ามาก มีพี่เลี้ยงคอยแนะนำหลายคน

ระหว่างนั้น เขามีความคิดศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ตามรุ่นพี่ แต่ติดตรงขาดคุณสมบัติต้องทำงานไม่น้อยกว่า 2 ปี เลยเปลี่ยนไปลองสอบคณะศิลปศาสตร์ หลักสูตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เพิ่งเปิดรับนักศึกษาใหม่ได้ปีเดียวแทน ส่งผลให้เส้นทางชีวิตหักเหอีกครั้ง

 

มีโอกาสเรียนจบปริญญาโท ขยับไปโชว์ฝีมือที่กองปราบ

“ผมวาดหวังไว้ว่า ถ้าเรียนจบนายร้อยตำรวจแล้วจะไปลงเชียงใหม่ ประทับใจช่วงไปเที่ยว บรรยากาศเย็นสบาย พอสอบติดเรียนปริญญาโทเลยไม่ได้ไป แถมมาเจอแฟนจึงเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ ไม่เลือกลงนครบาล ทั้งที่คะแนนลงได้” เจ้าตัวว่า ครั้งนั้นเขาเลือกโรงพักบ้านนา จังหวัดนครนายก โชคไม่เข้าข้างต้องขยับออกลงตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

อยู่ได้ 10 เดือนต้องทำวิทยานิพนธ์ส่ง เลยขอย้ายไปเป็นนายเวร พล.ต.ต.ศิริพงษ์ สรรพตานนท์ ผู้บังคับการกองคดี มีโอกาสเรียนรู้มิติของตำรวจยุคเก่า มีแต่เพื่อน พรรคพวก ความจริงใจ ไม่คบโจร ซึมซับหลักการทำงานอยู่จนปัจจุบันนี้ พ.ต.อ.อุเทน เล่าว่า พอจบปริญญาโทได้ย้ายเป็นรองสารวัตรแผนก 2 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม สมัยท่านอัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้บังคับการ ทำคดีตามคนร้ายหนีหมายจับมากมาย

“แผนก 2 กองปราบปรามทุกเดือนจะมีหมายจับส่งจากทะเบียนประวัติอาชญากรจำนวนมาก ประกาศให้สืบจับ จากที่อ่าน ผมก็คิดต่อยอดไปว่า ทำอย่างไรถึงจะจับได้ กลายเป็นภารกิจหลักของผมไปเลย ตามจับคดีค้างเก่า เป็นยุคเปลี่ยนถ่ายกฎหมายใหม่ ตำรวจไม่มีหน้าที่ออกหมายจับแล้ว ต้องขอหมายจากศาลอย่างเดียว”

รู้จักสัมผัสท่านผู้พิพากษา นำพาได้ศึกษาวิชากฎหมาย

ถือเป็นวิกฤติที่เปลี่ยนเป็นโอกาส ทำนายตำรวจหนุ่มจากกองปราบปรามถูกใช้เดินทางไปขอหมายศาลจนสนิทสนมผู้พิพากษาระดับรองอธิบดีศาลอาญา และแนะนำให้เขาไปเรียนกฎหมายเพิ่มเติม เพราะเห็นสำนวนการเขียนคำร้องขอหมายแล้วเข้าท่า เมื่อถูกรบเร้า เขาถึงไปลงเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เพิ่มเติม ได้รับฟังวิธีคิดจากอาจารย์ที่เป็นผู้พิพากษาด้านหลักกฎหมายประดับสมองมากขึ้น ยกระดับให้เขาเป็นรองสารวัตรนักสืบรุ่นใหม่ที่ศึกษาเรื่องกฎหมายครบสูตรสามารถนำไปใช้ปฏิบัติในการทำคดีสำคัญไม่น้อย

ใช้เวลาเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุมนาน 2 ปี สำเร็จปริญญาตรีอีกใบ เข้าโรงเรียนสารวัตรพอดี สอบได้เป็นอันดับ 1 เจอผู้พิพากษาคนเดิมแนะนำให้ไปเรียนเนติบัณฑิตยสภาต่อ กระทั่งสำเร็จคุณวุฒิเนติบัณฑิตไทยสะสมองค์ความรู้ในมุมมองใหม่ว่า คดีอาชญากรรมเป้าหมายสำคัญไม่ใช่การจับคนร้าย แต่ต้องคิดว่า อะไรที่จะเป็นตัวยืนยันว่า นี่คือคนร้าย

“ตำรวจทั่วไป หรือฝ่ายสืบสวนไม่ค่อยรู้ว่า คำรับสารภาพของผู้ต้องหาไม่เพียงพอต่อการใช้พิจารณาในชั้นศาล จากที่ผมเรียนกฎหมายมา ทำให้รู้ว่า ต้องหาพยานหลักฐานอื่นประกอบกับคำให้การด้วย ตรงนี้เป็นหัวใจเวลาทำคดี ปัจจุบันมันคือ นิติวิทยาศาสตร์ สมัยก่อนอาจจะยังไม่แพร่หลาย หรือเข้าใจว่า มันคืออะไร” นายตำรวจดีกรีเนติบัณฑิตอธิบาย

 

ขึ้นเป็นสารวัตรคุมโรงรับจำนำ ชุ่มช่ำจับนักโจรกรรมสารพัด

หลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงภายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาเป็นคนหนึ่งที่ร่วมลงไปอยู่ในคณะทำงานสืบสวนสอบสวน ก่อนกลับมาขึ้นเป็นสารวัตรงาน 1 (ควบคุมโรงรับจำนำ) กองกำกับการ 2 กองทะเบียน เจ้าตัวยอมรับว่า ตอนแรกงงว่า มีหน้าที่อะไร รับผิดชอบ กฎหมายโรงรับจำนำ กฎหมายค้าของเก่า พอปรับตัวเรียนรู้ได้ เราก็เดินเครื่องทำงาน รู้ว่า โรงรับจำนวนมีการออกตั๋ว และพิมพ์ลายนิ้วมือ ส่วนหนึ่งทำให้ตำรวจติดตามทรัพย์ที่จากโจรกรรมได้ไม่น้อย

“ถ้าสร้อยเส้นไหนมีลักษณะขาด ผมสั่งอายัดต้นขั้วเลย เพราะมันเป็นทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายมาแน่นอน ต้องดูตั๋วเลยว่าใครเป็นคนเอามาจำนำ” พ.ต.อ.อุเทนอธิบาย เขาต้องตรวจโรงรับจำนำถึง 208 แห่ง สัมผัสได้ถึงสภาพเศรษฐกิจสังคม ตอบโจทย์แต่ละพื้นที่ได้ว่า ที่ไหนมีการพนัน มักมีคนเอาพวกนาฬิกามาจำนำเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดน มีส่วนพาให้เขาจับคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ได้เยอะจากตำหนิรูปพรรณทรัพย์สิน

อดีตสารวัตรควบคุมโรงรับจำนำเล่าว่า วันหนึ่งมีผู้เสียหายเป็นเจ้าของร้านเพชรถูกขโมยเพชรประมาณ 3 กะรัตไป ทำทีเป็นลูกค้ามาดูแล้วเปลี่ยนเอาของปลอมวางไว้แทน เราถามลูกน้องว่า ถ้าเช็กตามโรงรับจำนำจะเจอหรือไม่ ลูกน้องว่า ยาก เพราะราคาแพง โรงรับจำนำไม่กล้ารับ เลยตัดสินใจย้อนไปตรวจที่เกิดเหตุ ประสานกองพิสูจน์หลักฐานเก็บลายนิ้วมือแฝงที่ตู้กระจก “แค่ 2 วัน รู้ตัวคนร้ายเป็นบุคคลพ้นโทษที่เรือนจำคลองไผ่ เพียงเท่านี้เราก็ติดตามจับกุมตัวได้พร้อมของกลาง เป็นสารวัตรโรงรับจำนำ แต่เฝ้าจับอย่างกับสารวัตรสืบสวน ล็อกมันหน้าลิฟต์อพาร์ตเมนต์ที่มันกบดานอยู่ ผู้เสียหายดีใจมาก”

ก้าวใหม่ดูคดีเด็ก เยาวชนและสตรี อยากทำสังคมดีแต่ยากจะสำเร็จ

อยู่ในตำแหน่งปีเดียวปิดแฟ้มคดีลักทรัพย์เป็นประวัติศาสตร์หน่วย  เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี  พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เป็นผู้บังคับการคนแรกเห็นฝีไม้ลายมือตอนไปทำคดีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส จึงชวนเขามาเป็นสารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี  ศึกษากฎหมายใหม่เกี่ยวกับการสอบปากคำเยาวชนที่ต้องมีสหวิชาชีพ แต่ก็คลี่คลายคดีได้เป็นจำนวนมาก จับกุมคนร้ายได้รวดเร็ว ช่วยเหลือผู้เสียหายได้ทันท่วงที

“อยู่ตรงนั้น ผมรู้เลยว่า คดีที่ผู้เสียหายถูกประทุษร้าย มันไม่สามารถจะกลับมาเหมือนเดิมได้ เด็กถูกฉุดไปข่มขืน คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็แค้น อยากให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษโดยเร็ว แต่บางทีมันก็เป็นการซ้ำเติมความรู้สึกของเหยื่อ ต้องมาพูดเรื่องตัวเองถูกข่มขืนให้พนักงานสอบสวนฟัง มันกระทบกระเทือนความรู้สึกไม่น้อย ยอมรับว่าเหนื่อยมาก”

บ่อยครั้งที่ พ.ต.อ.อุเทน อึดอัด เมื่อต้องสืบสวนเกาะติดชีวิตคนกลางคืนที่มีอาชญากรรมหลากหลายรูปแบบ ทำให้รู้สึกอยากเข้าไปแก้ปัญหาสังคมให้ดีขึ้น ผู้หญิงที่ถูกเอาไปข่มขืน บางคนเป็นผู้หญิงหากินทำงานอยู่แล้วก็ไม่รู้สึกอะไร ถ้าไปแจ้งความเดี๋ยวก็ถูกส่งกลับมาอีก เขายิ่งสะท้อนภาพชัดเจนว่า ตัวเขาคนเดียวคงไม่สามารถทำอะไรให้สังคมดีขึ้นได้ แม้จะพยายามอย่างเต็มที่

 

สะบักสะบอมโดนย้ายไกล โชคดีได้นายช่วยกลับเข้าฝั่ง

พลันที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติเมื่อปี 2549 องค์กรตำรวจเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง อำนาจสลับขั้ว ดีชั่วทุกคนก็ต้องพร้อมยอมรับชะตากรรม เฉกเช่น นายตำรวจหนุ่มของบ้านนุ้ยพิน ถูกคำสั่งย้ายข้ามห้วยเป็นสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร โดยที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน “เจอสภาวะเช่นนี้ ชีวิตก็ต้องเปลี่ยน ถือว่า อาการสะบักสะบอมพอสมควร เพราะตอนอยู่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี ทำงานอีกหน้า จำเป็นต้องแก้ปัญหาชีวิต และธุรกิจส่วนตัวที่กำลังก่อร่างสร้างฐานเป็นแรงเสริมครอบครัว” พ.ต.อ.อุเทน ระบายความรู้สึก

ทำงานอยู่กำแพงเพชรได้ปีเศษ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เขาเลยได้กลับไปทำหน้าที่ตามถนัดอีกครั้งในตำแหน่ง สารวัตรกลุ่มงานสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และสตรี ศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ก่อนขยับเป็นสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 เป็นรองผู้กำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนภูธรภาค 1

การกลับมาเจอนายเก่าอีกครั้ง พ.ต.อ.อุเทน ได้เรียนรู้การทำงานที่แตกต่างจากกองบังคับการปราบปราม มีนายเมตตาคอยสนับสนุน เพราะเห็นถึงความสามารถ ขึ้นรองผู้กำกับการระดับต้น ๆ ของรุ่น กระนั้น เขาได้เตือนตัวเองเสมอ ต้องให้เป็นเด็กน้อยอ่อนน้อมถ่อมตนมากที่สุด ทำตัวไม่ดี ไม่ได้เด็ดขาด เพราะรุ่นพี่หลายคนยังเป็นแค่สารวัตร

แกะรอยไขคดียิงนักการเมือง ด้วยเรื่องหมาเพียงตัวเดียว

แม้รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชัยนาท ทว่าเมื่อคดีสำคัญที่เกิดขึ้นนอกเหนือความรับผิดชอบ เขาก็ทิ้งมันไม่ได้ พ.ต.อ.อุเทน ยกตัวอย่างคดียิงนายประชา ประสพดี สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดสมุทรปราการ ตอนราว 4 ทุ่มกว่า ตัดสินใจขับรถไปที่เกิดเหตุกับลูกน้อง เสร็จแล้วก็กลับไม่ได้อยู่ประชุมด้วยที่โรงพักพระประแดงตามมารยาท ปรากฏมีประชุมต่อที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 จำเป็นต้องนั่งฟัง ก่อนผู้บังคับบัญชาจะหันมาถามความเห็น

“ผมคิดไม่เหมือนคนอื่น ผมไปดูที่เกิดเหตุ กล้องวงจรปิดหารถต้องสงสัยเป็นมือปืนไม่ชัดสักตัว มีเพียงกล้องของธนาคารเท่านั้น แต่หลายคนบอกเปิดไม่ได้ ในฐานะนักสืบ ผมรู้ทันทีว่า ไม่ใช่แล้ว เพราะเป็นโปรแกรมใหม่ ตำรวจเปิดไม่ได้ ผมเลยขอเวลา ถือเป็นคดีสืบสวนที่คลาสลิกมาก พอเปิดไฟล์ได้ แม้ไม่เห็นว่า รถคันไหนยิงชัดเจน เวลาเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ผมเห็นจากกล้อง คือหมาที่นอนอยู่”

ผู้กำกับนักสืบเก่าอธิบายเบื้องหลังฉากว่า ขนาดรถสิบล้อวิ่งผ่าน มันนอนไม่รู้สึก แต่พอราว 3 ทุ่มกว่า มันเงยขึ้นมา เพราะหมาประสาทหูดีมาก แสดงว่า ต้องได้รับเสียงที่แปลก นั่นคือเสียงปืนเอ็ม 16 ห้วงเวลานั้น มีรถต้องสงสัยแค่ 3 คัน ที่วิ่งผ่าน มีรถของเป้าหมาย 1 คัน เหลืออีก 2 คัน ต้องเข้าข่ายคนร้าย ไล่ไปไล่มาก็พิสูจน์ทราบนำไปสู่การจับกุมคนร้ายสำเร็จ จากการเริ่มต้นสืบพฤติกรรมหมาตัวนั้นตัวเดียว

 

มีลีลาเด็ดคนร้ายมากมาย ส่งต่อวิชาความกระหายในบทครู

กลเม็ดวิธีการสืบสวนของหนุ่มผู้พิทักษ์สันติราษฎร์รายนี้ยังเคยเขียนจดหมายไปหาผู้ต้องหาตามหมายจับ หลอกว่าได้รับรางวัลใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าราคา2-3หมื่นบาท แต่ต้องเดินทางมารับด้วยตัวเอง ป่วนประสาททำคนร้ายหลงกลมาติดกับถูกจับมาแถลงข่าวฮือฮากว่า 20 ราย ก่อนย้ายขึ้นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทอง

ต่อมาข้ามห้วยคืนกรุงนั่งผู้กำกับการสืบสวนนครบาล 8 ตามจับกุมคนร้ายตามหมายจับคดีค้างเก่าติดอันดับมากที่สุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โชคร้ายทำงานนักสืบเมืองหลวงปีเดียวถูกย้ายเป็นผู้กำกับการศูนย์ฝึกอบรม กองบัญชาการตำรวจนครบาล แต่ไม่เป็นปัจจัยให้นายตำรวจหนุ่มมากประสบการณ์ถอดใจท้อแท้ เมื่อปัดฝุ่นหลักสูตรอบรมการสืบสวนแก่ตำรวจหน้าใหม่ทั้งชั้นประทวน และสัญญาบัตร ถ่ายทอดเทคนิคพิเศษปล่อยลงพื้นที่จริงเพื่อไล่ล่าผู้ต้องหาคดียาเสพติดกว่า 3,000 คนที่ลอยนวลทั่วประเทศ

ตาม “โครงการครูต้นแบบ :เทคนิคการสืบจับตามหมายจับคดีค้างเก่า” ที่เขานั่งแท่นบทครูใหญ่สอนองค์ความรู้การสืบสวนสมัยใหม่แก่บรรดาตำรวจนอกเครื่องแบบในอนาคต  “ผมพยายามทำให้นักเรียนนักสืบทั้งหมด เข้าใจคอนเซ็ปต์ที่ว่า การจับผู้ร้ายนั้นหาใช่ผลงานที่สำคัญไม่ แต่การหมั่นฝึกฝนตนให้มีความรู้ ความชำนาญในวิชาชีพอยู่เป็นประจำนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ถ้าทั้งหมดมีความรู้และชำนาญแล้วการไล่ตามจับผู้ต้องหานั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก” ผู้กำกับอุเทนย้ำหลักการ

เลือกวัดความสำเร็จจากบารมี ตามหน้าที่พิทักษ์รับใช้ประชาชน

ตลอดระยะเวลาประสบการณ์บนเส้นทางผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ พ.ต.อ.อุเทน ยึดความเชื่อมาจากหนังสือของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ที่ว่า คนที่มาเป็นตำรวจ มีความเก่ง ตำรวจไม่ใช่คนที่ใครเป็นก็ได้ เวลาเราคัดตำรวจ ไม่ได้คัดสเปเชียลลิสต์ ไม่ใช่ผู้ที่ชำนาญเฉพาะทาง อาชีพตำรวจะไม่เหมาะกับคนที่ชำนาญเฉพาะทาง ยกตัวอย่าง หากเราเก่งเรื่องคำนวณจะไม่เหมาะกับอาชีพตำรวจ เพราะว่า ตำรวจต้องพิทักษ์รับใช้ประชาชน การรับใช้ไม่ได้หมายถึงการไปรับส่ง หมายความว่า เราพิทักษ์ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนจากอาชญากรรม แต่เมื่อไหร่ที่เขาได้รับความเดือนร้อนจากอาชญากรรม เราก็มีหน้าที่ไปรับใช้ดูแลเขา ตรงนีมันต่างจากบริบทในปัจจุบันที่บางคนกำลังทำอยู่

“ความสำเร็จของตำรวจจะวัดได้จากบารมีที่สามารถมองเห็นกันได้ด้วยตาเปล่า ถึงการที่ประชาชนพึงพอใจ ขณะเดียวกันก็เป็นที่รักของผู้บังคับบัญชาและลูกน้อง  เช่น ผมอยู่อ่างทอง ไม่รู้ว่าชาวบ้านพึงพอใจผมหรือไม่ เพราะผมอยู่ปีเดียว คนใหม่ก็มา เขาก็อาจจะเข้าใจผิด คิดว่าเราเป็นคนนั้น หรือคนนี้ ก็ได้ แต่ผมดูจากอะไร ดูจากลูกน้อง ลูกน้องยังจำผมได้ แวะเวียนมาหา เวลามีงานอะไร จะโทรมา แจ้งมา มีงานลูกชายบวช งานศพใคร ก็ยังแจ้งเรา ยังคิดถึงเรา แสดงให้เห็นว่า เราเป็นคนที่มีบารมี เขายังคิดถึงเรา มันเป็นสิ่งที่สะท้อนได้ดี คือ ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นความศรัทธา และเชื่อมั่นในตัวเรา”

นายตำรวจหนุ่มว่า คนบางคนมีวาสนาแล้วไม่สร้างบารมี สร้างแต่อำนาจ แท้จริงแล้ว อำนาจ ไม่ต้องสร้าง เพราะโครงสร้างของตำรวจมีอำนาจให้อยู่ในตัวแล้ว เป็นอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่พาวเวอร์ แบบผู้มีอิทธิพล แบบโจร แต่ตำรวจต้องใช้อำนาจตามหน้าที่ “ถ้าทุกคนรู้จักว่าตัวนี้ไม่ใช่พาวเวอร์ เราจะมีโอกาสสร้างบารมี ไม่ใช่สร้างพลัง อำนาจ สร้างสมุน หรือสร้างอะไรที่เขาเรียกลิ่วล้อ เดินไปไหนก็เดินตามกันเป็นพวง กลายเป็นผู้มีอิทธิพลไป คนที่มาเดินตามเรา ต้องเป็นคนที่มีหน้าที่มีชั้นยศ เหมือนเรา สังเกตได้ถ้าคนไหนเดินไปแล้ว มีตำรวจ มีลูกน้องทักทาย แสดงว่าเป็นคนที่มีอำนาจหน้าที่ มีบารมี แต่ถ้าเดินแล้วมีคนนอก มีโจร มีพ่อค้า มาห้อมล้อม แสดงว่ามีอิทธิพล” เจ้าตัวทิ้งแง่คิดเปรียบเทียบชัดเจน

 

 

เกียรติประวัติในการรับราชการ

-ได้รับประกาศเกียรติคุณจาก FBI ประเทศสหรัฐอเมริกา กรณีจับกุมนายอิริค รอสเซอร์ บุคคล 1 ใน 10 ที่สหรัฐอเมริกาต้องการตัวมากที่สุดส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

-ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ กรณีเป็นผู้สอบไล่ได้และมีผลการเรียนเป็นลำดับที่ 1 ของหลักสูตรสารวัตรรุ่นที่ 73

-ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากกองปราบปราม เป็นผู้ปฏิบัติงานดีเด่น ด้านการสอบสวน ประจำปี 2545

-สืบสวนสอบสวนขบวนการค้ายาเสพติด นายนิพนธ์ กันชาติ กับพวก สามาถขยายผลการสืบสวนและดำเนินคดีผู้ร่วมกระทำผิดฐานฟอกเงินได้จำนวน 237 คน

-สืบสวนคดีลอบสังหารนายประชา ประสพดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ จนสามารถยึดรถยนต์คันก่อเหตุและขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดได้

-ได้รับเงินรางวัลมากที่สุดจากกองทุนสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากการจับกุมผู้ต้องหายาเสพติดรายสำคัญ (โครงการจับตามหมายของกองบังคับการปราบปรามยาเสพติด 2 กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด ปี 2555)ระยะเวลาสืบสวน 3 เดือน จับได้ 87 หมาย

-สืบสวนสอบสวนขบวนการทุจริตเงินชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  (ก๊าซ LPG) สามาถทำให้รัฐได้เงินชดเชยคืนประมาณ 1,200 บาท และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกว่า 308 คน

-ได้รับรางวัลหน่วยสืบสวนที่จับกุมผู้ต้องหามากที่สุดในการระดมหมายจับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2557 ระยะเวลาสืบสวน 10 วัน จับได้ 207 หมาย

-สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีเครือข่ายพนันออนไลน์(ทายผลพนันฟุตบอลโลก 2012) สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้จำนวนกว่า 80 คน

-สืบสวนสอบสวนขยายผลการทุจริตโกงสอบเพื่อเข้ารับราชการตำรวจ หลักสูตรนายสิบตำรวจ โดยใช้รูปแบบ “มือปืนรับจ้าง” ได้ผู้กระทำผิดกว่า 200 คน

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES