“พุทเดอะไรท์แมน ออนเดอะไรท์จ๊อบ เรายังไม่ทำแล้วเราจะไปไหนได้”

นักเขียนตำราบู๊-บู๋นจากประสบการณ์ชีวิตเส้นทางผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ผ่านมุมมองหลากหลายมาอย่างโชกโชน ต้องยกปลายปากกาให้ พล.ต.ท.อัมรินทร์ เนียมสกุล อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนหนึ่งที่ถ่ายทอดเรื่องราวสู่ตำรวจรุ่นหลังได้ไม่น้อย

เขาเป็นคนกรุงเทพมหานคร จบชั้นมัธยม 8 โรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพ ตัดสินใจเข้าสู่รั้วโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นรุ่นที่ 21 เพราะครอบครัวไม่มีใครรับราชการ เริ่มต้นลงตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ก่อนย้ายไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปทุมธานีนาน 3 ปีไม่ได้สักขั้นเลยขอลาเรียนปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตามเผด็จ ทะละวงศ์ เพื่อนร่วมรุ่น

ต่อมาบินไปเรียนปริญญาโทมหาวิทยาลัยแคนซัส สหรัฐอเมริกา กลับมาเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และเป็นกรรมการแบ่งส่วนราชการจัดตั้งกองกำลังพลแยกออกมาจากสำนักงานเลขานุการกรมตำรวจ เปิดทางสู่ตำแหน่งสารวัตรแผนกวิเคราะห์ ตามโครงสร้างใหม่ของกองกำลังพล

“ผมก็ไปบอกผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจสมัยนั้นว่า ผมไม่ได้อยากไปนะ ผมอยากเป็นอาจารย์ ท่านก็ว่า คุณเป็นตำรวจ เมื่อมีการแต่งตั้งคุณก็ต้องไป เมื่อคิดอย่างนั้น ไม่อยากรักษาผมไว้ ผมก็ไปกำลังพล” พล.ต.ท.อัมรินทร์ว่า ก่อนได้ไปอบรมหลักสูตรสืบสวนของสำนักงานสอบสวนกลาง สหรัฐอเมริกา หรือเอฟบีไอ

เจ้าตัวเล่าเรื่องตลกว่า ตอนอยู่วิเคราะห์กำลังพล ได้เสนอความเห็นให้รองผู้บังคับการท่านหนึ่ง ว่า ตำรวจกำลังพลได้ 2 ขั้นมากกว่าหน่วยอื่น ตำรวจที่ทำเรื่องเงินเดือนก็ได้ 2 ขั้นมากกว่าคนอื่น ท่านก็ถามความหมายที่ว่าคืออะไร ก็ตอบเหตุผลท่านไปว่า ตำรวจที่อยู่ใกล้ป่าก็กินป่า ใกล้เหมืองแร่ก็กินแร่ ไม่ต้องไปโทษใครหรอก พวกที่อยู่ใกล้ขั้นย่อมกินขั้น อยู่ใกล้ตำแหน่งก็กินตำแหน่ง ท่านรองผู้บังคับการถึงกับหัวเสียด่าเลยว่า ถ้าแบบนี้อย่ามาวิเคราะห์ดีกว่า ทั้งที่เราวิเคราะห์ตามความเป็นจริง

นับตั้งแต่นั้นมา เขาเสนองานอะไรไปมักไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา กระทั่งวุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ เพื่อนร่วมรุ่นอยู่สำนักงาน พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เห็นว่า มีตำแหน่งในกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางว่าง เขาตัดสินใจย้ายไปตามจับผู้ร้ายดีกว่า เป็นรองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม ทำคดีร่วมกับทีมของชลอ เกิดเทศ นายตำรวจรุ่นพี่

อดีตรองผู้กำกับกองปราบปรามย้อนความหลังว่า ไม่นานชลอ เกิดเทศ ย้ายขึ้นผู้บังคับการ ทิ้งให้ทำงานอยู่คนเดียว แต่ก็สนุก ไปจับคดีค้างเก่าเองจนมีสถิติคดีอุกฉกรรจ์ได้มากกว่าคนอื่น “ไม่ใช่อะไรหรอก มันง่ายๆ คนอื่นเขาไม่จับ ผมจับคดีที่นานแล้ว คนร้ายย่ามใจกลับมาอยู่บ้าน โผล่ออกมา ผมก็จับได้ ผมก็ได้โล่ประกาศเกียรติคุณปราบปรามดีเด่น ทั้งที่นึกว่าจะได้ 2 ขั้น ปีนั้นไม่ได้ 2 ขั้น ผมก็นึกอยากออกแล้ว ไม่อยากอยู่ พอดี นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ เป็นนายเวรอธิบดีกรมตำรวจมาบอกว่า อั๊วะจะขึ้นแล้ว ลื้อมาเป็นนายเวรแทนไหม”

เขารับปากทันที เพราะมองเส้นทางการทำงานแล้วคงไม่มีทางขึ้นผู้กำกับ ท่านณรงค์ มหานนท์ ตั้งให้เป็นนายเวรทำงานอยู่ 2 ปี พล.ต.ท.อัมรินทร์ยอมรับว่า ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ท่านอธิบดีณรงค์ เป็นคนขยันมา ท่านแต่งกับงาน 7 โมงเช้าท่านถึงที่ทำงานแล้ว และ 3 ทุ่มถึงกลับ ท่านก็ทำงานเยอะ เราเป็นนายเวรต้องกินข้าวเช้า กลางวัน เย็น ที่ทำงาน ได้เห็นความเป็นผู้นำเบอร์ 1 ของกรมตำรวจ สั่งงานทั่วประเทศ  กระทั่งปีสุดท้ายก่อนท่านเกษียณจึงลงเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง

พล.ต.ท.อัมรินทร์ว่า อยากไปกาญจนบุรี เพราะชอบป่า แต่ผู้ใหญ่ให้มาทะเลก็ต้องมา ไปถึงทำงานเต็มที่ ที่นั่นไม่มีใครขยันเลย บอกพวกเขาว่า เรามาจากที่ที่ทำงานกันวันละ 20 ชั่วโมง ไม่มีที่ 5-6 ชั่วโมง ไม่มีคนแล้ว สุดท้ายมีปัญหากับฝ่ายปกครอง หาว่า เราไม่มีมนุษยสัมพันธ์ โดนย้ายเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากเพิ่งได้ทุนไปฝึกอบรมหลักสูตรตำรวจอังกฤษนานกว่า 3 เดือน

“ทำให้ผมเห็นวิธีการทำงานของตำรวจอังกฤษ พยายามเอามาปรับใช้อบรมลูกน้องในการตรวจที่เกิดเหตุ เขาจะตรวจกันละเอียดมากกว่าบ้านเรา ต้องตรวจซ้ำที่เกิดเหตุ  4-5 ครั้งกว่าจะได้หลักฐานของกลางมัดผู้กระทำความผิด ตรงนี้เองที่เป็นข้อคิดให้ผมปิดคดีจับเด็กนักเรียนหญิงชั้นมัธยมปีที่ 1 ไปเรียกค่าไถ่ก่อนฆ่าทิ้งนำศพโบกปูนถ่วงน้ำคลองชลประทาน”

มันเป็นคดีดังเมื่อปี 2532 ที่ พล.ต.ท.อัมรินทร์ ไม่เคยลืมและนำมาเขียนเบื้องหลังเป็นตำรา มีการนำไปสร้างเป็นหนังมาแล้ว เมื่อครูดีเด่นประจำจังหวัดฉะเชิงเทราฆ่าลูกศิษย์ตัวเองที่เป็นถึงลูกเพื่อนรักของเขาเองก่อนเขียนจดหมายไปเรียกค่าไถ่ 4 แสนบาท ตามแกะรอยเกือบเดือนกว่าจะได้หลักฐานเอาผิดครูท่ามกลางกระแสต่อต้านจากชาวบ้านที่คิดว่าครูเป็นคนดี

นักสืบเก่าผู้พิชิตคดีสะเทือนขวัญอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เล่าว่า พยานหลักฐานที่ไดครบถ้วน เพราะไปคนในห้องพักครู เจอสมุดของเหยื่อนักเรียน มีร่องรอยฉีกบางหน้าออกไป มีรอยปากกากดทับเป็นข้อความเดียวกับที่เขียนจดหมายไปเรียกค่าไถ่พ่อแม่เด็ก ส่องจากแสงไฟเห็นลายมือชัด คล้ายกับคดีที่สกอตแลนด์ยาร์ดทำบันทึกไว้เกือบ 100 ปีแล้ว กองพิสูจน์หลักฐานก็ยืนบันว่าตรงกัน ก่อนจะเจอกระเป๋านักเรียน ชุดนักเรียน และเงินค่าไถ่เกือบครบบนฝ้าเพดานห้อง

“ ตอนนั้นชาวบ้านเชื่อครู ถึงขั้นเดินขบวนประท้วง เพราะว่าเป็นครูดีเด่น ผู้ว่าฯ ก็มาบอก ผู้กำกับจะทำไง ผมก็ไปหาหัวหน้าครูแล้วบอกว่า คุณต้องสาบาน ห้ามบอกใครว่า ตำรวจมีหลักฐาน เพราะต้องไปใช้ในชั้นศาล ผมก็เอาจดหมายกับรอยกดมาให้ดูว่ายึดได้จากห้องผู้ต้องหา อย่างนี้ชัดไหม ครูคนนั้นถึงไปบอกให้เลิกชุมนุม”

หลังจากศพเด็กถูกโบกปูนถ่วงคลองชลประทาน อดีตผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทราเขียนไว้ตอนท้ายหนังสือฆ่าโบกปูนเป็นอุทธาหรณ์ถึงชนวนฆ่าเด็กนักเรียนหญิงลูกศิษย์ตัวเองด้วยว่า ได้พูดกับปลัดกระทรวงศึกษาลำพัง วิเคราะห์ว่า ทำไมครูที่เป็นคนร้ายต้องไปซื้อสร้อยทอง 11 เส้นก่อนจะเกิดคดีฆาตกรรม จากปากคำพยานเป็นเจ้าของร้านทอง เพราะกรรมการที่คัดเลือกครูดีเด่น มี 10 คน เชื่อว่า ประธานได้ 2 เส้น “ท่านปลัดก็ว่า คุณรู้ได้ไง อย่าไปพูดนะคุณ ตายเลยนะ ผมว่า ไม่พูดหรอก เพราะมันไม่มีหลักฐานชัดเจน แค่วิเคราะห์ให้ท่านดู เป็นครูดีเด่นได้ มันเรื่องอย่างนี้แหละ พอถึงเวลาต้องหาเงินไปใช้ค่าทองที่ติดไว้ยอดเดียวกับที่เรียกค่าไถ่ก็เลยเกิดเหตุสลดขึ้น ผมเสนอให้ยกเลิกวิธีคัดเลือกครูดีเด่นเถอะ ต่อมากระทรวงยอดเปลี่ยน

ปิดคดีโบแดงไม่นานได้โบนัสขึ้นเป็นรองผู้บังคับการกองการต่างประเทศ มีหน้าที่อย่างเดียวประชุมแหลกลาญ เหมือนไม่ใช่เป็นตำรวจ แต่อยู่กระทรวงการต่างประเทศ แต่ได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์นำไปแต่งหนังสือเรื่องตำรวจโลกเปรียบเทียบตำรวจ 10 ประเทศว่าเป็นอย่างไร กระทั่งขึ้นผู้บังคับการกองการต่างประเทศ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการศึกษา กลับมาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ดูงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ทำคดีป่าไม้สาละวิน คดีประวัติ ถนัดค้ารับสินบน 5 ล้านบาท

สมัครใจเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ด้วยความอยากไปแก้ปัญหาระบบ เพราะเคยแปลหนังสือเรื่องสันติบาลให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.ท.อัมรินทร์มองว่า ได้ตำรามาเล่ม แต่มาอยู่สันติบาลจริงกลับพบว่า ไม่ได้ทำตามตำราเลย ย้ายคนไม่อยากอยู่ไปอยู่ก็อยู่ไปอย่างนั้น ทำไมมาเลเซียพื้นที่เล็กกว่าเรา 3 เท่า มีตำรวจน้อยกว่าเรา 3 เท่า หน่วยสันติบาลมีกำลังพล 6 หมื่นนาย ของไทยมี 3 พันนาย เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมเราถึงไม่มีความมั่นคงเลย เรื่องการข่าว เพราะคนของเราไม่มีความรู้ และเครื่องมือ เป็นปัญหาเรื้อรังสันติบาล ผลสุดท้ายก็ไม่ได้แก้

ขึ้นเป็นจเรตำรวจ พล.ต.ท.อัมรินทร์ไม่ลืมบรรยากาศที่ตำรวจนครบาลจงเกลียดจงชังอย่างน้อย 50 นายที่ถูกตั้งกรรมการและโยกย้ายเพราะพิษส่วยอาบอบนวด  “จริงๆ ไม่ใช่ผมเลย แต่เขาไปอ้าง แล้วพอผมถูกฟ้อง ก็เสียนะ ผมถึงได้ไปดูข้อมูล ถึงรู้ว่า กองวินัยโยนลูก ผมเสนออย่างหนึ่ง เขาก็หาว่าผมเสนออีกอย่าง พวกนั้นเลยฟ้อง หาว่า ผมใช้ไม่ได้ พูดอย่าง เสนออีกอย่าง พอสู้คดีกันที่สุดศาลก็ยกฟ้อง แต่ว่า ผมไม่ได้มีโอกาสได้ชี้แจงให้คนพวกนั้นรู้และเข้าใจ เขาจึงยังโกรธผมอยู่ กลายเป็นว่า ผมไปรังแกลูกน้อง ผมเองก็เสียใจ หลายๆ คนไม่เข้าใจ แต่ก็ช่างเหอะ ผ่านไปแล้ว” เจ้าตัวระบายความในใจที่อัดอั้นมานานกว่า 15 ปี

ปี 2546 ขยับเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ปีเดียวเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เก้าอี้สุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการในปี 2549  “ชีวิตผมก็เป็นผู้ช่วย แล้วก็จบ ก็แค่นี้เอง ไม่ได้ดีเด่นอะไร” พล.ต.ท.อัมรินทร์ถ่อมตัว เขาบอกว่า ตลอดประสบการณ์ที่ผ่านมา ประทับใจการสืบสวนสอบสวนหลายคดี มีอีกคดีสมัยอยู่กองการต่างประเทศ เกิดฆาตกรต่อเนื่องฆ่านักท่องเที่ยวด้วยวิธีนั่งเครื่องบินมาด้วยกันแล้วตีสนิทช่วยแชร์ค่าห้องพอเหยื่อเผลอก็เอาค้อนทุบหัวหั่นศพไปทิ้ง ทำมาหลายประเทศ

นายพลอดีตนักสืบไขคดีสารพัดเผยต่อว่า สิงคโปร์สืบรู้ข้อมูลคนร้ายบินมาภูเก็ตจึงประสานกองการต่างประเทศ เอาข่าวมาให้ พอเราไปถึงภูเก็ตพบว่า คนร้ายฆ่าอีก 2 ศพและบินออกย้อนไปสิงคโปร์แล้ว ก็รีบแจ้งจับทันควัน ระหว่างที่เราตรวจโรงแรมเกิดเหตุอยู่เลย คนในโรงแรม ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่า เกิดเรื่องฆ่าคน 2 คนไปทิ้ง ตำรวจท้องที่ยังงง คนร้ายทำมาทั้งหมดทั่วโลกสืบมาได้ฆ่าไปแล้ว 6 ศพ ศาลที่นั่งพิพากษาประหารชีวิต เพราะเราช่วยรวบรวมพยานหลักฐานให้คดีแน่นพอส่งไปสมทบกับทางสิงคโปร์

“ตอนอยู่กองการต่างประเทศ ผมได้พลิกให้เป็นหน่วยทำคดี เพราะก่อนนี้ทำคดีกันไม่เป็น ได้แต่ส่งต่อ เรารู้เราก็ช่วยทำให้ ก็ทำได้ นักท่องเที่ยวใช้ถุงพลาสติกคุมหัวฆ่าตัวตายก็หาว่าตำรวจฆ่า ร้องเรียนกันจนต้องพิสูจน์กันระหว่างชาติ ระหว่างเอฟบีไอ ก็ได้เจอกันเยอะ อย่างสันติบาลมาเลเซียกับผม สนิทกันมาก ผมยังเสียดาย ไม่มีจังหวะที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความจริงแล้วไม่เกี่ยวกับศาสนาเลย มันเป็นเรื่องเชื้อชาติ เขาพูดภาษามาเลย์ แล้วเราพยายามจะให้เขาเป็นไทย แต่เขาไม่อยากเป็น ต้องดูอย่างตำรวจอเมริกาปกครองคนดำก็ปกครองไม่ได้”

เขายังมีแนวคิดเรื่องการปฏิรูปตำรวจว่า ควรตั้งกองบัญชาการป้องกันอาชญากรรม แบบกระทรวงสาธารณสุขที่มีกรมอนามัยกับกรมแพทย์ ไว้รักษาและป้องกันโรค เราก็ต้องป้องกันให้มากกว่านี้ เราต้องเอาพนักงานรักษาความปลอดภัย 5 แสนคน เอาวินมอเตอร์ไซค์ 3 แสนคน คนขับแท็กซี่มาเป็นพวกคอยเป็นหูเป็นตา ออกแผนเข้าไปในโรงเรียนสร้างให้เด็กรักตำรวจ เป็นสายให้ตำรวจทุกคนตอนโตขึ้นมาในยุคใหม่ ป้องกันอาชญากรรมให้ได้

อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังเสนอให้เลิกการสอบสวน มีแต่การสืบสวน สิ่งที่ตำรวจส่งให้อัยการ คือ รายงานการสืบสวน ถ้าเราปลดล็อกนี่ได้ เราจะได้ตำรวจอีก 2 แสนคนที่เป็นผู้ช่วยตำรวจ เป็นชั้นประทวน มีอำนาจสืบสวนเหมือนกัน ไม่ต้องมีอำนาจสอบสวน แต่ทุกคนที่เสนอผลออกมาเป็นหมันตลอด ทั้งที่ถ้าทำตรงนี้ได้จะก้าวไปสู่ความเป็นสากล “เพราะฉะนั้นถ้าเราปลดล็อกเรื่องการสอบสวนให้มาอยู่ใต้การสืบสวน เราจะมีตำรวจครบ ไม่ใช่ว่า มีพนักงานสอบสวนอยู่ 8 พันคนแล้วแบกโลก ทำไม่ไหว ฆ่าตัวตาย เราจะมีคน 2 แสนคน มีอำนาจเหมือนตำรวจฝรั่ง ทำการสืบสวนได้ทุกอย่าง ไม่ใช่จะปฏิรูปอะไรก็ไม่รู้ ไปจับไอ้โน่นมารวมกันกับไอ้นี่ก็เท่ากับไม่ได้ปฏิรูป”

“ อีกอันที่สำคัญ การแต่งตั้งคนไม่ถูกกับงาน ผมพูดตั้งแต่อยู่กำลังพลว่า สุภาษิตบทแรกของการบริหารงานบุคคล คือ พุทเดอะไรท์แมน ออนเดอะไรท์จ๊อบ เรายังไม่ทำแล้วเราจะไปไหนได้ เขาบอกว่าไม่ไหว ทำไม่ได้ ต้องตั้งเป็นพวง จริงๆ ทำได้  ไปดูตัวอย่างที่เมืองนอก เคยเผชิญปัญหาเหล่านี้มาก่อน เขาแก้ยังไง เขาก็แก้เป็นรายๆ ไป แต่งตั้งเป็นเรื่องๆ เป็นตำแหน่งๆ ไป ใครอยากสมัคร ก็สมัครเข้ามา คุณพูดเก่งอย่างเดียวก็ไม่ได้ หาคนที่ทำเก่งดีกว่า” เจ้าตัวระบุ

 “ความจริงชีวิตผมก็ไม่น่าตื่นเต้นอะไรเท่าไหร่ แต่เรื่องหลักใหญ่ที่ผมอยากจะเสนอ ถ้าคุณมีโอกาสเผยแพร่ ให้คนที่มีหน้าที่ได้รู้บ้างว่า เราควรจะทำอะไร มาปฏิรูปกันแบบบ้าๆ บอๆ มันไม่รู้จริง ไม่รู้จะทำอะไร จัดนู่นจัดนี่ อย่างแท่งพนักงานสอบสวน นี่ ผมหัวเราะฟันหัก มันไม่มี โดนย้ายอย่างคดีครูแพะ ไม่ต้องย้าย สอบสวนเลย แล้วถ้าเผื่อคดีพลิกจะทำยังไง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างดีเอ็นเอ พอวิทยาการเกิดขึ้นมาใหม่ๆ ศาลสหรัฐอเมริกาเอาดีเอ็นเอ คดีข่มขืนไปตรวจใหม่หมด ต้องปล่อยจำเลยถึง 98 ราย”

อดีตนายพลมือสืบสวนสอบสวนเปรียบเทียบว่า หากเป็นบ้านเรา ตำรวจตายไหม แต่ตำรวจเขาไม่ตาย เพราะเขาทำเต็มที่อยู่แล้ว ตอนเป็นจเรตำรวจเคยพยานคดีที่ทุ่งสง นครศรีธรรมราช เขามาร้องว่า ถูกตำรวจกล่าวหาจ้างคนมาฆ่าผัว ทั้งที่ไม่ได้จ้าง เราสืบแล้วให้กองปราบปรามไปสอบ แต่ไม่ไปสอบ ยืนยันตามคำให้การเดิม เพราะขี้เกียจ สุดท้ายฎีกาพิพากษาประหาร เขายังร้องใหม่ รื้อฟื้นฎีกา มีหลักฐานใหม่ จากคำให้การจำเลยที่ 1 บอกว่า ตำรวจบังคับให้มันบอกว่า เขาเป็นคนจ้าง เพราะเห็นเป็นเศรษฐินี

“ตอนฎีกาลง ยังนึกว่า ผมเข้าข้างคนผิดหรือเปล่า พอรื้อขึ้นมาได้ เออ เราถูก ก็ไปเป็นพยาน ชี้แจงผลการสอบ เป็นคดีเหนือฎีกา ไม่น่าเชื่อว่าจะรื้อฟื้นขึ้นมาได้ ดีนะถ้าประเทศเราเข้มแข็งประหารไปนี่ บ้าเลย เหมือนที่ผมสอนรุ่นน้องมาตลอด การที่ตำรวจจะรู้ว่าใครเป็นคนร้าย ไม่ใช่เรื่องยาก เรื่องยากอยู่ที่ทำอย่างไรจะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย นี่สิคือเรื่องสุดยาก”

อัมรินทร์ เนียมสกุล !!!

RELATED ARTICLES