“ตกข่าวไม่มีแล้วในสมัยนี้ อยู่ที่ว่าจะทำข่าวอย่างไรให้คนอยากดูข่าวของเรามากกว่า”

 

 

กำลังเนื้อหอมในวงการสื่อจอแก้วกับบทผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส”วิเคราะห์ข่าวร้อน สัมภาษณ์บุคคลดังประจำวันมากด้วยคุณภาพ

นับเป็นฝีมือการทำงานของ “ลูกเต๋า”ณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการข่าวอาเซียนแห่งค่ายไทยพีบีเอส ที่แสดงจุดยืนในสไตล์ฉะฉานส่งให้เธอเป็นคนข่าวแถวหน้าของเมืองไทย เคยคว้ารางวัลพิธีกรข่าวหญิงเมขลามหานิยม ปี 2554 อีกทั้งรับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้นเมื่อปี 2555

เกิดอุบลราชธานี พ่อเป็นนายพลอากาศตรีอดีตผู้อำนวยการกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ แต่มาโตที่กรุงเทพฯ เรียนอนุบาลศรีอนุบาลแถวกองทัพอากาศ บางครั้งต้องตามพ่อไปต่างจังหวัด ก่อนต่อชั้นประถมโรงเรียนไผทอุดมศึกษา มัธยมโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตอนแรกอยากเป็นหมอฝัน พอเอาเข้าจริงกลับอยากเป็นนักข่าว เข้าเรียนคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ชอบเรียนภาษา ดูข่าวทีวี เกี่ยวกับการเมือง และสถานการณ์ในต่างประเทศ

ณัฏฐาเล่าพฤติกรรมวัยแรกรุ่นว่า  การได้อยู่ครอบครัวทหารทำให้ไม่ชอบวัฒนธรรมแบบทหาร ค่อนข้างดื้อเงียบ ไม่ฟังพ่อถึงไม่มีความคิดจะรับราชการทหาร ถ้าให้ไปคงไปดื้อในกองทัพ ไม่เคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาอาจมีปัญหา เพราะไม่เข้ากับลักษณะนิสัย เราชอบเถียงอยู่ในใจ ชอบตั้งคำถาม มีหลักมีเกณฑ์มากว่า ทำไมต้องเดินตามกฎ  เราชอบแหกกฎ เป็นความมันอย่างหนึ่ง แต่จริง ๆเป็นคนเรียบร้อย ถ้าครูให้ใส่กระโปรงยาวก็คือยาว แต่บางทีอาจจะแอบยาวกว่า ตัดผมสั้น

เธอมักตั้งคำถามกับกฎอะไรต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมว่า ทำไมต้องเดินตามคนอื่น จำเป็นหรือไม่ต้องเดินตาม เหมือนอาชีพหมอที่พ่อแม่ก็อยากให้เป็น แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่จำเป็น เพราะทำไม่ได้ ไม่ได้ชอบวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เห็นเลือดเราก็กลัวแล้ว เป็นเหตุผลที่เธอเลือกเรียนศิลปศาสตร์รู้สึกว่า ตัวเองชอบภาษา ตอนมัธยมปลายเรียนสายวิทย์-คณิต เมื่อมาเรียนคำนวณแล้วทำไม่ได้ บังคับตัวเองให้สอบผ่านได้ แต่สนุกถึงขั้นท็อปไม่ใช่ แค่เอาตัวรอด ผิดกับภาษาที่จะสนุก

ทันทีที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ณัฏฐาได้งานทำในวันรุ่งขึ้นสมกับความฝันที่วางเส้นทางเดินชีวิตได้ด้วยการเข้าเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ที่ตัวเธอชอบอ่านมาตั้งแต่วัยรุ่น และอยากทำงานที่นี่มานานแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะชอบสุทธิชัย หยุ่น วิเคราะห์ข่าวสถานการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซีย ทำให้เกิดแนวความคิดอยากเป็นนักข่าวเนชั่น

เริ่มต้นงานข่าว เธอถูกส่งไปอยู่สายเศรษฐกิจตามเรื่องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เจ้าตัวบอกว่า แทบไม่รู้เรื่องเลย เพราะไม่ได้สนใจ ก่อนหน้าไม่ได้รู้สึกว่าอยากรู้ขนาดนั้น แต่พอถูกจับให้กระโจนลงไป ก็สนุกดี ได้รู้ ได้เปิดโลกทัศน์อีกแบบ เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นอยู่ 1 ปี เนชั่นทำไทยสกายทีวี มีแผนกทีวีเลยขอย้ายไปอยู่ทีวี น่าสนุก ทว่าช่วยอยู่ห่าง ๆ กระทั่งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีรุ่นแรกเปิดถึงลงทำเต็มตัว ยังคงทำข่าวเศรษฐกิจ ยิ่งทำข่าวเศรษฐกิจระหว่างประเทศยิ่งสนุกมาก ได้ไปเจอหอการค้าต่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติ ได้จัดรายการเปิดโลกธุรกิจทางช่องไอทีวี

เก็บประสบการณ์อยู่ 2 ปี คนข่าวสาวสอบชิงทุนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือก.พ.ไปเรียนปริญญาโทสังคมวิทยาที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และต่อระดับปริญญาเอก สาขาสังคมวิทยาและสตรีศึกษาในแดนผู้ดีเหมือนกัน ทิ้งงานข่าวที่เมืองไทย แต่ได้ไปจับงานใหญ่ระดับอาชีพที่สถานีวิทยุบีบีซีแผนกภาษาไทยกลางกรุงลอนดอน

“มันเป็นเหตุผลที่อยากไปเรียนลอนดอน เพราะฝันอยากทำสถานีบีบีซีเลยไปสมัครทำพาร์ทไทม์ รู้สึกว่า ถ้าได้เรียนหนังสือด้วย ทำงานด้วยจะดีไม่น้อย อยู่บีบีซีภาคภาษาไทยได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก เข้าไปอยู่องค์กรข่าวระหว่างประเทศเป็นได้ดูไดติดตามแนวคิดองค์กรระดับนี้ว่า วางลำดับข่าวแต่ละวันอย่างไร เรามีหน้าที่ต้องมาย่อยให้คนไทย ต้องเลือกว่า ข่าวไหนเหมาะกับคนไทยที่ต้องรับรู้ เหมือนกับว่า เราไปมีห้องครัวของเขา แต่เราจะมาปรุงอย่างไรให้ถูกปากคนไทย”

ทำบีบีซีนานกว่า 5 ปีจวบจนถึงวันสุดท้ายที่สถานีออกอากาศ ณัฏฐาบอกว่า ถึงกับน้ำตาไหล เศร้ามาก เขาปิดแผนกภาษาไทยให้เหตุผลว่า เอางบประมาณไปทุ่มสำหรับบีบีซีภาคภาษาอาหรับ ตอนนั้นบรรยากาศการเมืองจะไปในทางสงครามอิรัก สถานการณ์รุนแรงในตะวันออกกลาง เขามองว่าประเทศไทยเหตุการณ์สงบราบเรียบ แต่พอปิดไปแล้วประเทศไทยยุ่งมาก มีประท้วง เกิดการปฏิวัติรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

โชคดีเป็นจังหวะที่เธอเรียนจบปริญญาเอกได้เวลาต้องกลับเมืองไทย มาใช้ทุนรัฐบาลเป็นนักวิจัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นาน 2 ปี สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเปิดตัดสินใจหวนคืนวงการสื่อด้วยการขอปรับโอนย้ายมาสวมบทบรรณาธิการข่าว ประเดิมนั่งเก้าอี้ผู้ดำเนินรายการที่นี่ไทยพีบีเอสยาวนานเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว

“ คิดถึงงานข่าว มันสนุก บรรยากาศจะไม่เหมือนนักวิจัย ได้ตื่นเต้น มีเดดไลน์วันต่อวัน ต้องเจอหัวข้อที่มันแปลกใหม่ทุกวัน มีอะไรให้เราคิดใหม่ ๆ อยู่เสมอ โจทย์มันจะสั้นกว่า แต่เยอะกว่า ผิดกับงานวิชาการโจทย์เดียวแต่ยาว ทำวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็จะยาว ที่นี่ไทยพีบีเอสจะเน้นเนื้อหาทุกอย่าง เป็นรายการวิเคราะห์ข่าวทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ต่างประเทศ เรื่องชาติพันธุ์ เป็นช่วงข่าวสำคัญอีกช่วงของภาคสถานี เราทำควบคู่กับลงภาคสนามทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ตอนนี้ยังดูข่าวอาเซียนด้วย”ผู้ดำเนินรายการมากความสามารถอธิบาย

เธอขยายภาพการทำงานต่อว่า จริง ๆ ทำวันต่อวัน มีรายงานของผู้สื่อข่าวแต่ละคนรับผิดชอบ เราในฐานะบรรณาธิการต้องทำความเข้าใจ ย่อยในประเด็นให้ดูน่าสนใจ ให้คนอยากดู เป็นหน้าที่เหมือนเสิร์ฟอาหาร คนปรุงจริง ๆ จะเป็นนักข่าวแต่ละคนจะมีบางข่าวที่ลงทำเองด้วย แต่ไม่สามารถทำคนเดียวในเวลา 1 ชั่วโมงได้ แบบนั้นจะซูปเปอร์วูแมนเกินไป แค่มีสกู๊ปของตัวเอง วิเคราะห์เอง อ่านเองบ้าง ต้องพยายามทำทุกวัน

สาวคนเก่งแห่งไทยพีบีเอสบอกว่า จริง ๆ ชอบข่าวต่างประเทศ ชอบดูความเป็นไปของในอาเซียน และต่างประเทศที่จะเชื่อมโยงมาถึงประเทศไทย คงมาจากความชอบภาษาอังกฤษ ชอบอ่านนิยายภาษาอังกฤษ ทำให้เราสนใจข่าวต่างประเทศ ทำให้เรารู้จักตัวละครเยอะขึ้น ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษทำให้รู้จักตัวละครใครเป็นใครในพื้นที่ ทำให้เราสนุก

“การทำงานหลายอย่างเรียนรู้มาจากเนชั่น ยึดแบบสุทธิชัย หยุ่น เห็นแกวิเคราะห์สงครามอ่าวเปอร์เซีย ดูแล้วสนุก อธิบายให้คนดูเข้าใจง่ายว่า ทำไมมันต้องรบกัน จะรบกันเวลาไหน คิดตอนนั้นว่า ถ้ามีโอกาสได้มาเล่าข้อมูลอย่างนี้ให้คนดูฟังบ้างน่าจะดี ดูแล้วอาชีพนี้น่าทำ น่าสนุก ไม่ใช่ว่ารู้อะไรแล้วเก็บไว้เฉย ๆ รู้แล้วต้องมาบอกต่อ มาแชร์กันจนมาได้ทำจริง ๆ รู้สึกว่าตัวเองโชคดี”

แต่กับสถานการณ์บ้านเมืองที่ร้อนระอุปัจจุบันนี้ ณัฏฐารับว่า การเมืองบ้านเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันเกิดขึ้นแล้ว ถามว่าเป็นผู้สื่อข่าวเหนื่อยไหม อาจมีบางครั้งที่ทำไมรู้สึกว่า เราถูกจับให้มาอยู่สีโน้น สีนี้ ทั้งที่เราทำหน้าที่ของเราในการนำเสนอประเด็นนั้น ประเด็นนี้ ทำให้เราค้นพบว่า ตอนนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกผลัก คนโน้นพูดประโยคนั้นออกมาจะต้องถูกผลักไปอยู่สีใดสีหนึ่ง จริง ๆ ทุกคนคงไม่ใช่จะอยู่ฝ่ายไหนอาจมีพวกที่กลาง ๆ แต่ขี้เกียจพูดแล้ว เพราะถูกมองเป็นสีเหลือง สีแดง พอเป็นผู้สื่อข่าวก็อาจจะเหนื่อย คิดว่า ต้องยอมรับความจริง มันเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ทำข่าวใหม่ ๆ จะไม่มีบรรยากาศแบบนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วในฐานะที่เป็นคนข่าวเราจะทำอย่างไรในการเสนอสถานการณ์ให้คนดูเข้าใจกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นแบบนี้

บรรณาธิการข่าวทีวีสาธารณะมองว่า ต้องระมัดระวังในการนำเสนอ เหมือนช่วงตอบโจทย์ไทยพีบีเอส ต้องใช้ความระมัดระวังในการเชิญแขกว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ดูเหมือนว่า เราเลือกข้าง ถ้าเป็นพื้นที่แดงในวันนั้นต้องหานักวิชาการกลาง ๆ มาออกด้วย มาประกบกัน ไม่อย่างนั้นคนจะเข้าใจผิดเร็วมาก พวกเราคนทำงานไม่ได้มองว่า จะนำไปสู่ความขัดแย้ง หรือเลือกข้าง จุดประสงค์ คือ ต้องการให้ฟังเสียงของคน ๆ นั้น แต่พอคนดูเห็นหน้าคนๆ หนึ่งออกทีวีก็ไม่ฟังแล้ว แถมมาด่าไทยพีบีเอสว่า ไปเชิญมาได้อย่างไร เราก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า อาการของคนที่มันไม่ชอบกันในสังคมไทยมันหนักมากขึ้น

“มันทำให้เราได้เห็นพัฒนาการช่วง 5 ปี ทำข่าวยาก บริบทในสังคมไทยมันซับซ้อนขึ้นเยอะ ยิ่งมีโซเชียลมีเดียยิ่งไปกันใหญ่ แต่ก็สนุกท้าทาย ดีใจรู้สึกว่า เป็นความสนุกของลักษะเนื้องานที่เราชอบ ได้ทำงานในสิ่งที่เราฝัน ภูมิใจบางทีเดินตามตลาดแล้วแม่ค้า หรือคนทั่วไปที่เราไม่คิดว่าเขาจะดูข่าวแนวเราแล้วจำเราได้มาทักว่า วันก่อนดูนะไปทำข่าวที่พม่า ทำให้เรารู้สึกว่า มันได้ประโยชน์ ไม่เหนื่อยฟรี ตอนไปทำข่าวแถวสระแก้วช่วงไทยกับกัมพูชามีปัญหากัน เราไปตลาดนั่งกินปาท่องโก๋ร้านกาแฟ ยังมีคนมานั่งคุยกับเราได้ บอกว่า ดูเราอยู่ เรารู้สึกว่า ไม่ใช่แค่คนชั้นกลางที่ดูไทยพีบีเอส คนตามชายแดน ตามตลาดเขาก็ดู มันดีตรงในแง่เป็นส่วนหนึ่งที่ได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร”ณัฏฐาระบายความเห็น

กว่า 10 ปีบนสนามข่าว เธอมีมุมฝากถึงนักข่าวรุ่นใหม่ว่า เราไม่ได้คิดว่า เราเก่ง แค่ต้องสนใจในสิ่งที่ตัวเองทำ นักข่าวบางคนอาจรู้สึกว่า ทำข่าวแบบเซ็ง ๆ สังเกตได้ ความเป็นนักข่าวมันหาโมเมนต์ที่มันเซ็งยาก เพราะมันจะมีอะไรใหม่ ๆ มีประเด็นใหม่   ๆอยู่ตลอดเวลา มีแหล่งข่าว ความขัดแย้งใหม่ ถ้าเซ็ง เราก็จะไม่สนุกต่ออาชีพนี้แล้ว พอเห็นอะไรใหม่ ๆ แล้วนิ่ง ถ้าไม่รู้สึกจะตามต่อในประเด็นที่เห็น จะตั้งคำถามต่ออย่างไร จะคุยกับใครดี แสดงว่า เป็นสัญญาณที่ไมดีแล้วกับอาชีพของการทำข่าว

“ถ้ามีข่าวมาแล้วรู้สึกสนุกจะทำให้ต่อยอดการทำงาน เห็นแหล่งข่าวคนนั้นแล้วใจเต้นแรงอยากสัมภาษณ์พิเศษ ต้องสนุกกับงานที่ทำ รักที่จะศึกษาหาความรู้ เพราะตอนนี้โลกของความรู้อยู่ในมือของทุกคน อยู่ในโทรศัพท์มือถือ ใช้ให้เป็นประโยชน์ คำว่า ตกข่าวไม่มีแล้วในสมัยนี้ อยู่ที่ว่าจะทำข่าวอย่างไรให้คนอยากดูข่าวของเรามากกว่า มันเป็นความท้าทายของอาชีพนักข่าว”

สำหรับความท้าทายของบรรณาธิการข่าวอย่างเธอ รายการที่นี่ไทยพีบีเอส กำลังวาดแผนงานอยากเชิญ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปพูดคุยในรายการสักครั้ง ผู้ดำเนินรายการสาวมาดเข้มบอกว่า มีประเด็นอยากถามผู้นำองค์กรตำรวจหลายเรื่อง โดยเฉพาะกลไกในการทำงานของตำรวจ อาจจะถามง่าย ๆ แบบผู้บริโภค ทำไมเวลาขับรถออกต่างจังหวัดกำลังขับเพลิน ๆ จู่ ๆต้องเบรกเอี๊ยด เพราะเจอด่านตำรวจ อยากถามว่า เวลาไปตั้งด่าน ตำรวจไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนบ้างหรือ ควรจะมีป้ายสัญญาณบอกเตือนหรือไม่ว่า อีกสักพักให้ชะลอความเร็วกำลังมีตำรวจตั้งด่าน เพราะถ้าขับรถต่างจังหวัด คนขับรถจะขับเร็วมาก ตัวเองก็เกือบเจอมาเหมือนกัน รู้สึกว่า เป็นเรื่องใกล้ตัวคนที่อันตราย

อีกคำถามที่พิธีการหญิงคนดังค้างอยู่ในหัวคิด คือ ชีวิตคนไทยใกล้กับตำรวจอยู่แล้ว จะมีวิธีอย่างไรให้ประชาชนรัก และไว้ใจ เชื่อใจตำรวจมากขึ้นกว่าในระดับปัจจุบัน แทนที่เห็นตำรวจบางทีจะรู้สึกปลอดภัยอยากไปหากลับหวาดกลัว คิดว่า เดี๋ยวตำรวจจะจับหรือเปล่า ทำไมคนไทยถึงมีทัศนคติกลัวตำรวจ แหยง ๆ ไม่อยากเข้าใกล้ หรือบรรยากาศเวลาไปโรงพักที่ดูไม่เป็นมิตรเท่าไหร่

ขนาดเราเป็นผู้หญิงไม่ได้โดนคดี ไม่ได้โดนคุกคามอะไรทั้งสิ้น แต่พอขึ้นโรงพักรู้สึกว่า ไม่ค่อยปลอดภัย ทำให้นึกไปถึงผู้หญิงที่ไปแจ้งความถูกคุกคามทางเพศ ถูกลวนลามจะไม่ยิ่งกว่าหรือ เพราะต้องไปเล่าข้อมูลต่าง ๆ มากมายให้ตำรวจฟังตรงนี้ ถ้าปรับได้จะทำให้ชาวบ้านมั่นใจตำรวจมากขึ้น” เป็นเสียงสะท้อนจากผู้ดำเนินรายการสาวที่นี่ไทยพีบีเอสทิ้งท้ายไปถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติช่วยพิจารณา

 

RELATED ARTICLES