“ผมคิดว่า ประชาชนเขาอยากได้ความรู้จากข่าว ข่าวที่มีมิติมากที่สุด คือ ข่าวอาชญากรรม”

ดีตประธานชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม

สมศักดิ์ ศรีกำเหนิด หัวหน้าข่าวหน้า 1 และบรรณาธิการข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์บ้านเมือง คนข่าวมากประสบการณ์ระดับเซียนที่ปัจจุบันนำความรู้ไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานแก่รุ่นน้องหลายคนแล้ว

หนุ่มใหญ่คนนี้มีชื่อเล่น “แป๊ะ”เกิดที่แม่กลอง สมุทรสงคราม ตามพ่อที่รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ หรือช่างหนัง มาอยู่เมืองหลังตั้งแต่ ป.4 ใช้ชีวิตอยู่แถวถนนราชดำเนินด้วยการเดินขายหนังสือพิมพ์ตามสี่แยกเป็นรายได้พิเศษระหว่างเรียน ไม่คิดไม่ฝันเหมือนกันว่าอนาคตจะกลายเป็นนักข่าวคนดัง

ทันทีที่จบโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ได้เข้าไปเรียนระดับ ปวช.วิทยาลัยช่างหนัง ต่อ ปวส.วิทยาลัยเพาะช่าง แต่เกิดหักเหเรียนไม่จบ เนื่องจากทำตัวเสเพล เดินสายเล่นดนตรี แวบไปเป็นครูสอนศิลปะเด็กประถมโรงเรียนกาญจนวิทยา แถวสาทร ปีเศษ รู้สึกไม่ใช่ตัวเองก็ลาออกมาเร่รอนไปเป็นพนักงานขายสินค้าตามห้างบ้าง

ต่อมา สุรัฐ จินากุล หรือ “อิ๊ด บางกอกโพสต์” พักอยู่แถวบ้านปั้นนักข่าวมาแล้วหลายคนเห็นสมศักดิ์เกกมะเหรกเกเรอยู่แล้วคงทนไม่ไหวเดินเข้ามาใช้เท้าสะกิดเขาขณะนั่งก๊กเหล้าตั้งวงอยู่แถวบ้านราชดำเนินบอกว่า “อยากทำงานมั้ย ถ้าอยากทำพรุ่งนี้ 7 โมงเช้ามาเจอกู” สมศักดิ์จำวันนั้นได้ไม่ลืม

เขากลับไปนอนคิดทั้งคืน กระทั่งเช้าลุกตื่นเองอัตโนมัติทั้งที่ปกติเมาแล้วจะตื่นยาก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สุรัฐ หรือที่เขานับถือเรียก “พ่ออิ๊ด” จะเรียกไปทำอะไร ปรากฏว่า นักข่าวรุ่นใหญ่ของบางกอกโพสต์พาเขาไปที่กองปราบปราม ขณะนั้นยังตั้งอยู่ที่สามยอด เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย “แกให้เดินตามอยู่ 3 วัน หลัง ๆ แกหันมาบอก มึงจะเดินตามกูทำเหี้ยอะไร ทำไมมึงไม่จด ไม่จดข่าว ไม่จดอะไรแล้วมึงจะเป็นได้อย่างไร ตอนนั้นถึงรู้ว่า แกจะให้เรามาฝีกข่าว” สมศักดิ์ย้อนถึงเส้นทางเข้าสู่อาชีพคนข่าว

“ผมเริ่มเห็นความเป็นนักข่าวเวลาไปเดินกับแก ตำรวจยกมือไหว้กันทั้งนั้น ตำรวจเด็ก ๆ บางทีหันมายกมือไหว้เราด้วย เราเคยแต่วิ่งหนีตำรวจ สมัยก่อนเล่นการพนัน ทอยเส้น ปั่นแปะ หนีตำรวจ มาอยู่นี่ตำรวจยกมือไหว้เรา รู้สึกฮึกเหิม อาชีพนี้มันดีนะ ก็เลยตั้งใจฝึกงานกับแก สั่งให้ไปถามตรงนั้นตรงนี้จดนั่นจดนี้ เหมือนเป็นลูกมือแก จดมาตอนแรกไม่รู้เรื่อง ผ่านไป 3 เดือนถึงเริ่มรู้ เริ่มเขียนเป็นลายมือเป็นข่าวให้แกอ่าน แกสอนให้อ่านหนังสือบ่อย ๆ ว่า ข่าวมันเป็นยังไง เขียนแบบไหน ไปเขียนตามที่อ่านมา ทำแบบนี้อยู่ 6 เดือนจู่ ๆ แกก็บอก เดี๋ยวสิ้นเดือนให้ไปอยู่ดาวสยามนะ ผมตกใจ แกยังถามว่า แล้วไม่อยากทำงานกินเงินเดือนเหรอ”

ชีวิตนักข่าวครั้งแรกของเขาในสังกัดหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ได้ “เป้า”วีระยุทธ วรานนท์ เป็นหัวหน้าส่งลงตระเวนข่าวอาชญากรรม สมศักดิ์เล่าว่า อาศัยที่มีสัมมาคารวะกับรุ่นพี่ ประกอบกับที่พ่ออิ๊ดสอนเทคนิคเคล็ดลับมาบ้าง ช่วงนั้นก็อยากเป็นอยู่แล้ว พอได้มาลงตัวจริงมันก็เลยฮึกเหิม ทำงานตระเวนข่าวอยู่ 1ปี ได้รางวัลข่าวยอดเยี่ยมของชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม เป็นข่าวตำรวจจับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นข้อหาเสพกัญชาแล้วเอาตัวไปกักขังรีดเงิน ได้ข่าวฉบับเดียวจนได้รางวัล

เมื่อมีรางวัลติดไม้ติดมือ หนังสือพิมพ์บ้านเมืองเริ่มเห็นแววจึงทาบทามชวนให้ไปอยู่เป็นนักข่าวตระเวนเปลี่ยนค่ายใหม่ เขาบอกว่า ตอนนั้นดาวสยามก็เริ่มดาวน์ลงไปแล้ว เมื่อบ้านเมืองให้เงินเดือนดีกว่าก็เลยไป และก็ไม่ทำให้ต้นสังกัดใหม่ผิดหวัง หลังคว้ารางวัลข่าวยอดเยี่ยมของชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรมอีกครั้งกับ “ข่าวเรือแรต” เป็นข่าวการขนของหนภาษีศุลกากรลักลอบมากับเรือขนส่งสินค้าแต่ล่องมาตามน้ำ เป็นข่าวที่ได้มาฉบับเดียวและตามแกะรอยจนได้รับรางวัล

หลังเก็บประสบการณ์มากขึ้นตามระยะเวลาการทำงาน สมศักดิ์กลายเป็นนักข่าวประเภท “เขี้ยวลากดิน”ในวงการข่าวตระเวนด้วยกัน ได้คู่หูเป็นช่างภาพจอมขยันอย่าง พนอ หลิมไทยงาม ที่ไปไหนมาไหนด้วยกันจนพรรคพวกพากันตั้งฉายา “แฝดนรก” เหตุเพราะขยันวิ่งหาข่าวแทบไม่อยู่นิ่ง “อย่างผมเข้าเวรดึก หลายฉบับจะกลัว ผมชอบหาข่าวเดี่ยวประเภทตีหัวไม่บอกฉบับอื่น ก่อนมาเลิกทำแบบนี้ เพราะมีอยู่ครั้งได้ข่าวเดี่ยวมาทำให้เด็กรุ่นน้องกำลังจะได้บรรจุไม่ผ่านการทดลองงาน”

 “นักข่าวรุ่นน้องคนหนึ่งมาด่าผม หาว่า ทำให้เด็กคนหนึ่งไม่ได้บรรจุ ตั้งแต่นั้นมา เหมือนกับทำผมสำนึกได้ ก่อนหน้ามีหลายคนก็เคยถูกตัดเงินเดือน สิ่งที่ผมทำกลับกลายเป็นการไปทำร้ายเพื่อนร่วมงานต่างสำนัก ทั้งที่จริง ๆ เป็นเรื่องของการแข่งขันในงานมากกว่า ตอนหลังรู้สึกว่า เริ่มเป็นรุ่นพี่เขาแล้ว หลายคนมาเรียกพี่แล้ว คิดว่า ไม่อยากทำร้ายน้องแล้ว ยิ่งมีน้องมาว่า มันทำเราสำนึกได้ แต่ไม่ได้ลดหย่อนเรื่องการทำงานนะ ยังคงออกหางานหาข่าวแล้วเอามาจอยให้น้อง ๆ มัน ส่วนใหญ่ที่จะทำ คือ เด็กใหม่ที่ชอบปีนเกลียว ไม่รู้จักรุ่นพี่รุ่นน้อง แอคอาร์ต เราก็จะทำให้สำนึกบ้างว่า อยู่กันในสังคมมันต้องมีพี่ มีน้อง ความเป็นพี่เป็นน้องมันสำคัญ” อดีตหัวหอกตระเวนข่าวหนังสือพิมพ์บ้านเมืองเล่าประสบการณ์

ที่ผ่านมา สมศักดิ์ยอมรับว่า ประทับใจกับผลงานทำข่าวเรื่องเรือแรตจนคว้ารางวัลข่าวยอดเยี่ยมเป็นเกียรติประวัติแก่ตัวเอง หลังเจอนายกสมาคมผู้ประกอบการเรือลากจูงโดยบังเอิญ ตัวนายกฯบอกไปร้องเรียนที่ไหนกลับไม่มีใครสนใจทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเขาเห็นข้อมูลถึงรู้ว่า เป็นเรื่องที่น่าควรเสนอข่าว เพราะทำกันเป็นขบวนการนำกล่องบรรทุกมากับเรือสินค้า เรือเดินสมุทรพอมาถึงปากอ่าวไทยก็ยกโยนลงน้ำหลบเลี่ยงการตรวจแต่เอาตะขอเกี่ยวไว้ใต้น้ำ มองด้วยตาเปล่าเหมือนเรือธรรมดาที่ไม่ได้ลากอะไรมา ก่อนเอาไปขึ้นตามท่าที่มันกำหนดไว้ โดยไม่ผ่านการตรวจของศุลกากร

เจ้าของผลงานข่าวยอดเยี่ยมบอกว่า สินค้าเป็นอะไรไม่รู้ เพราะไม่มีการตรวจสอบ ตอนแรกก็ไม่เข้าใจทำไมฉบับอื่นไม่สนใจ พอไปจับข่าวให้หนังสือพิมพ์บ้านเมืองเอามาขึ้นพาดหัวได้ ฉบับอื่นก็มาเล่นข่าวตาม เรื่องนี้เท่าที่รู้มา บริษัทที่นำเข้ามามีบริษัทยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยกับบริษัทของประเทศรัสเซียทำธุรกิจลับๆ กันอยู่ มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เจออิทธิพลบ้าง แต่ปกติเราไปไหนมาได้ไม่ค่อยแสดงตัวอยู่แล้ว ใช้อาศัยวิชาคล้ายตำรวจเป็นนักสืบไปเรื่อย แต่งตัวไม่เว่อร์ ไม่ถือสมุด ไม่ถือกล้อง ใช้ความจำ ไปเจออะไรตรงไหนเราก็จำ เสร็จแล้วเราก็เอามาเขียน จดก็เฉพาะศัพท์สำคัญ ไม่พกสมุด มีปากกาด้ามเดียวก็จดใส่มือใส่นิ้วใส่แขนอะไรเรื่อยเปื่อย

เขาเล่าถึงเทคนิคการทำข่าวอาชญากรรมว่า สมัยตระเวนจะเป็นคนไม่ถือกระดาษ ถือปากกาด้ามเดียว จดเฉพาะสิ่งที่เราคิดว่า จะจำไม่ได้ ชื่อคน ถ้าเหมือนเพื่อนก็ไม่จด จดนามสกุล มีเทคนิคในการจด ส่วนเนื้อเรื่องเราเป็นคนชอบดูละคร ชอบดูหนัง ชอบอ่านหนังสือ มันก็สามารถสร้างเรื่องราวที่เราเห็นเหตุการณ์ที่เราเจอสร้างเป็นเรื่องราวไม่ต่างจากหนัง หรือละคร เวลามาเขียนก็แกะจากความจำจากภาพที่เราเห็นมาถ่ายทอดลงไปจะใช้แบบนี้เป็นส่วนใหญ่

“หลายครั้งเวลาเข้าไปทำข่าวได้ประเด็นดี ๆ ออกมาเจอนักข่าวรุ่นน้อง บางคนมาขอดู หรือกระชากหากระดาษจดข่าวไปดูว่า เราได้อะไรบ้าง ปรากฏว่า ไม่มีอะไรเลย แต่พอเช้าข่าวออกมามันได้ประเด็น บางที ผมเดินเข้าทีเกิดเหตุยังถูกตำรวจไล่ออกมา เพราะไม่คิดว่าเราเป็นนักข่าว ไม่พกอะไรเลย หาเป็นพวกไทยมุง” สมศักดิ์เล่าไปยิ้มไป

ถอดเขี้ยวได้ไม่นาน เขาก็ถูกเลื่อนชั้นเป็นบรรณาธิการข่าวอาชญากรรมให้ต้นสังกัด และขยับเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 ดูแลพื้นที่ข่าวทั่วประเทศ มีโอกาสไปเป็นประธานชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม และเป็นคณะกรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ทุนจากต้นสังกัดไปเรียนปริญญาตรีนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เจ้าตัวบอกว่า ที่ไปเรียนไม่ใช่อยากได้ปริญญา แค่อยากรู้ความรู้เรามีแค่ไหน เป็นถึงหัวหน้าข่าวหน้า1 แล้ว อยากรู้สมองเราในด้านนิเทศศาสตร์มีมากน้อยขนาดไหน ตัดสินใจไปเรียน แต่ไม่จบ เพราะรู้ว่า สิ่งที่เขาสอนเรามีหมดแล้ว ในสมองมีหมดแล้ว เพียงแต่เราไม่รู้จักจัดเก็บ แยกแยะเข้ากล่องไม่ถูก เหมือนเป็นคอมพิวเตอร์ ข้อมูลมาอยู่หน้าจอหมด ถึงเวลาต้องจัดเก็บข้อมูลให้ไปสัดเป็นส่วน เรียนรู้ทั้งหมดเสร็จก็จบ ไม่เอาแล้วปริญญา ถือว่า วัยอย่างนี้ไม่ต้องได้แล้วปริญญา

 

บรรณาธิการข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์บ้านเมืองมีมุมมองด้วยว่า ข่าวอาชญากรรมสมัยนี้มันขาดสีสัน หยิบฉบับไหนเหมือนกันหมด อ่านฉบับเดียวก็ไม่ต้องไปอ่านฉบับอื่นแล้ว ไม่มีความแตกต่าง สมัยก่อนอ่านข่าวอาชญากรรม 1 ข่าว อ่านได้แทบทุกฉบับ เพราะต่างคนต่างไปหาประเด็นของตัวเองมาเล่น แต่นักข่าวรุ่นปัจจุบันกลับรอเฉพาะคนที่ขยันจริง ๆ แล้วเอางานของคนที่ขยันมาพิมพ์ เนื้อหาอาจแตกต่างกัน แต่อ่านภาพรวมแล้วประเด็นไม่ฉีกกันเลย มันทำงานกันน้อยลง มีการแข่งขันน้อยลง

“ผมมองว่า การแข่งขันไม่น่าจะทิ้ง ควรจะต้องแข่งขันกันต่อในการแสวงหาแหล่งข่าว แสวงหาข้อมูล ควรจะเป็นข้อมูลของใครของมัน ข่าวมันจะได้สีสัน ไม่ใช่หยิบฉบับไหนก็ประเด็นเหมือนกันหมด บางฉบับข้อความเดียวกันด้วยซ้ำ มันไม่เหมือนสมัยก่อน เช้าพอฉบับเราพาดหัวข่าวอะไรอ่านของฉบับตัวเองเสร็จก็ต้องไปเปิดฉบับอื่นอ่านว่า มีประเด็นฉีกมากน้อยขนาดไหนเพื่อวันรุ่งขึ้นเราจะได้ไปหาประเด็นใหม่มาฆ่าประเด็นเก่า นักข่าวรุ่นใหม่ ไม่รู้เปลี่ยนยุคกันตอนไหน รุ่นล่าสุดไม่รู้ว่า ทำงานมาครบปีตระเวนไปทุกโรงพักหรือยัง”

คนข่าวตระเวนรุ่นเก่าขยายความว่า สิ่งที่ขาดหายไปอีกอย่างก็คือ ข่าวโรงพัก ทุกวันนี้หายไป เหมือนสีสันที่หายไป สมัยก่อนข่าวโรงพักมันมีสีสันมากมายที่เราเอามาเล่นกัน มีการแข่งขันกัน วันนี้ไปตระเวนโรงพักนี้ได้ข่าวนี้ พรุ่งนี้ต้องไปโรงพักโน้นเพื่อหาข่าวคืน การตระเวนจะมีเหมือนนาฬิกาบอกเวลาอาชญากรรม ข่าวประเภทนี้เกิดช่วงไหน เช่น คนถูกฆ่าตายในโรงแรม คนถูกมอมยา ก็ต้องช่วงเที่ยง เพราะเป็นช่วงเวลาโรงแรมเช็กเอาต์ โรงพักไหนที่มีโรงแรมม่านรูดเยอะก็จะวนเข้าไป บ่ายโมงเข้าไปแล้ว คดีลักวิ่งชิงปล้น ลักทรัพย์จะรู้กันตอนเช้า เช้ามืดต้องวิ่งไปแล้ว พื้นที่ที่มีหมู่บ้านจัดสรรเยอะ รถหายเยอะ ไปดูว่า มีดาราคนไหนถูกขโมยขึ้นบ้านบ้างจะมีข่าวสีสันให้เราเล่น แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี มันขาดหายไป

“ผมอ่านหนังสือทุกวัน ผมรู้สึกแบบนั้น มันทำให้ประชาชนรู้น้อย ผมคิดว่า ประชาชนเขาอยากได้ความรู้จากข่าว ข่าวที่มีมิติมากที่สุด คือ ข่าวอาชญากรรม มีหลายมิติ ให้ความรู้ก็ได้ ช่วยเหลือคนก็ได้ ประจานคนได้ ประณามคนได้ มันมีประโยชน์ มีคุณค่ามากมายขึ้นอยู่กับว่า คนอ่านเรียกมันไปใช้แบบไหน ข่าวข่มขืน เจอศพสาวนุ่งสั้นสายเดี่ยวถูกฆ่าข่มขืนในซอยเปลี่ยวตอนตีสี่ พออ่านข่าวเสร็จพวกผู้หญิงทั้งหลายจะรู้แล้วว่า คุณแต่งตัวแบบนี้ควรไปคนเดียวหรือไม่ ควรไปตอนดึกหรือไม่ ถ้าบ้านอยู่ซอยลึกคุณควรจะทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ มันให้ประโยชน์แก่คนอ่าน”

สมศักดิ์อธิบายอีกว่า การประจานประณามคนก็เหมือนเป็นการช่วยเหลือสังคมอีกอย่าง เช่นการจับแก๊งต้มตุ๋น เอามาแถลงข่าว ชาวบ้านจะได้รู้กลยุทธกลวิธีของมัน พร้อมทั้งประณามคนที่เป็นแก๊งพวกนี้ อย่าให้อยู่ในสังคม เป็นเรื่องที่สังคมรับไมได้ ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าผู้หญิง เป็นเรื่องบ่อนทำลายชาติสมควรได้รับการประณาม กฎหมายบอกว่า ยังไม่ผิดเพราะศาลยังไม่ตัดสิน แต่สังคมต้องประณาม  เพราะบางทีหลักฐานไม่พอ ไอ้โน้นไม่มี ไอ้นี่ไม่ได้ ไปสู้คดีก็หลุด สื่อต้องประณามแล้ว ต้องขับออกจากสังคม บุคคลพวกนี้ให้อยู่ในสังคมไม่ได้

เรื่องราวเหล่านี้ สมศักดิ์มักนำเอาไปเป็นหัวข้อบรรยายอบรมนักศึกษาฝึกงาน หรือนักข่าวรุ่นใหม่เสมอ เขาจะย้ำว่า อยู่สายข่าวอาชญากรรมต้องรู้ว่า ข่าวอาชญากรรมมีประโยชน์อะไรบ้าง มีคุณค่าอะไรบ้าง ไม่ใช่ออกไปข้างนอกแล้วให้คนอื่นมาว่า พวกนักข่าวอาชญากรรมเป็นพวกสอดรู้สอดเห็น เอาเรื่องเสีย ๆ หาย ๆ ของชาวบ้านไปลง ตอบโต้ไม่ได้ “เราต้องตอบโต้เขาได้ ลบล้างภาพที่ไม่ดีให้ชาวบ้านรับรู้ว่า ข่าวอาชญากรรมมันมีประโยชน์นะ อยากจะฝากน้อง ๆ  ข่าวตระเวนมันก็ยังเป็นข่าวตระเวน ให้เรียนรู้กับรุ่นพี่ ๆ ที่ตระเวนมาอย่างช่ำชอง ศึกษาของอาชญากรรมให้รู้แล้วเข้าให้ถึงมัน แล้วน่าจะมีอะไรฝากไว้บ้าง เช่น ผลงานของตัวเอง สร้างความประทับใจในผลงานที่ตัวเองทำมา เป็นเกียรติประวัติไปสอนรุ่นหลัง ๆ ได้”

“ไม่ใช่อยู่ตระเวนข่าวมา 10 ปี ไม่มีอะไรเลย ผมเองก็ไม่ใช่คนดี เบื้องหลังก็มีอะไรหลายอย่างที่หน้าไม่รู้ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือคุณธรรม เราจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายเราต้องมีคุณธรรม ข่าวมันให้คุณให้โทษคนได้ อย่าไปมุ่งเป็นข่าวกูต้องทำ กูต้องเอา ไม่คำนึงถึงคนรอบข้างจะเดือดร้อนหรือไม่ เขาจะตายหรือไม่หากข่าวนั้นนำเสนอลงไป เพราะฉะนั้น ทำอะไรก็ได้ แต่ต้องมีคุณธรรม” คนข่าวอาชญากรรมรุ่นใหญ่ให้แง่คิดฝากไว้

RELATED ARTICLES