“ถ้าวันนั้นมันลั่นนะ ก็ไม่มีอิสระพันธ์แล้ว”

ชีวิตผูกพันกับดนตรีและกีตาร์มาตั้งแต่เด็ก

พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผ่านเรื่องราวมากมายในเครื่องแบบสีกากี เป็นมือบุ๋นอารมณ์ดี วิสัยทัศน์กว้างไกล ลูกชาย ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ นักประพันธ์และนักดนตรีวง อ.ส.วันศุกร์ หรือวงอัมพรสถานวันศุกร์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

เริ่มเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ชีวิตไม่คิดจะมาเป็นตำรวจ แต่เพราะพี่ชายไปสอบเตรียมทหาร ปีถัดมาเขาเลยไปสอบบ้าง เนื่องจากตอนนั้นคิดอะไรไม่ออก พ่อแม่ไปทำงานต่างประเทศ “บ้ามากเลย สอบติด แต่ไอ้ความผันผวนที่สุดในชีวิตไม่ได้อยู่ที่สอบเตรียมทหารแล้วติด แต่สอบโดยไม่รู้เรื่องตั้งแต่ตอนเขียนใบสมัครแล้ว” เจ้าตัวละเมียดอดีต

นายพลตำรวจเอกวัยเกษียณเล่าว่า ร.ท.สืบศักดิ์ จันทร์แป้น นายทหารปกครองมาบรรยายว่า ให้เขียนชื่อ นามสกุล บ้านอยู่ที่ไหน จบจากโรงเรียนอะไร กระทั่งถึงตอนเลือกเหล่า แกอธิบายว่า อยากไปเหล่าไหนให้ใส่ตัวเลข 1-2-3 ทัพบก ทหารอากาศ ทหารเรือ แล้วแกก็ออกจากห้อง ไม่นานแกกลับมาใหม่บอกว่า ผู้หมวดลืมไป ปีนี้มีตำรวจเป็นเหล่าใหม่ ใครอยากไปก็ใส่ ตร.แค่นี้ เราก็ใส่ของใหม่เหมือนที่แกบอกด้วยความเป็นเด็ก ไม่ได้อยากเป็นตำรวจอะไรทั้งสิ้น

 ถึงวันที่ต้องแยกเหล่า พล.ต.อ.อิสระพันธ์ จำบรรยากาศในแม่นว่า ตื่นเต้นมากเลย รถจีเอ็มซีของทหารบกมาจอดแล้วเรียกชื่อคันที่ 1 2 3 ไม่มีชื่อเรา ใจเริ่มเหี่ยวแล้ว เอาน่า มีรถบัสติดแอร์มารับนักเรียนนายเรือ 25 คน ลองฟังเรียกชื่อก็ไม่มี ที่ตื่นเต้นที่สุด คือ ทหารอากาศ มีเฮลิคอปเตอร์มาลงที่สนามฟุตบอล 6 ลำ หัวใจระทึก อยากไปมาก เพราะจะได้นั่งเครื่องบิน เรียกไปอีก 60 คน ไม่มีชื่ออีก แน่นอนว่าที่เหลือต้องไปตามที่เลือก หมวดสืบศักดิ์คนเดิมบอกว่า ที่เหลือโรงเรียนนายร้อยตำรวจให้แต่งเครื่องแบบไปเจอกันที่ศาลาเฉลิมกรุง วัน เวลา เท่านั้นเท่านี้เพื่อไปขึ้นรถ ก็วันนั้นแหละที่อิสระพันธ์เป็นตำรวจ

รถเมล์ทำด้วยไม้โกโรโกโสมาจอดรับนักเรียนเตรียมทหารเพื่อเดินทางไปสามพรานในวันต่อมา พอถึงสะพานโพธิ์แก้ว ทุกคนถูกให้ลงแล้วคลานไปถึงโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.อ.อิสระพันธ์ว่า กางเกงขาดหมด รองเท้าหลุดไปเมื่อไรไม่รู้ หมวกพังหมด ลุยคันนาคลุกขี้วัวกลางแดดกว่าจะถึงแนวสนสามพรานก็หมดแรง เป็นรางน้ำขวางอยู่ เขาให้ทั้งหมดลงไป ตอนนั้นหมดแรงแล้ว ไปต่อไม่ได้  คิดว่าคงไม่ได้เข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้ว โชคดีได้เพื่อนชื่อบรรจง สุขศิริ ช่วยลากขึ้นไป แต่ต้องยืนตากแดดบนพื้นปูนซีเมนต์รออีก

   “โหดมากกว่าจะได้เข้า จริง ๆ คุณพ่อจะให้ลาออกตั้งแต่เป็นเตรียมทหารแล้ว แกกลับมาจากดูงานต่างประเทศ รู้ข่าวแล้วหงุดหงิดมาก อยากให้เข้าเรียนวิศวะ จุฬาฯ ไม่อยากให้เป็นทหารเพราะมันจน พอจบปี 2 ก็จะให้ลาออกอีก แต่ผมคิดว่า เรียนมาเหนื่อยมากแล้ว ไม่อยากไปเริ่มต้นใหม่ ไม่ลาออกเด็ดขาด เพราะลงทุนไปเยอะแล้ว”

เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 22 รุ่นเดียวกับ โกวิท วัฒนะ ลงบรรจุตำรวจตระเวนชายแดนทั้งรุ่น ไปเป็นตำรวจพลร่มอยู่ค่ายนเรศวรฝึกร่มอีก 9 เดือน ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่จากสหประชาติมาทดสอบภาษาอังกฤษ เพราะมีทุนไปเรียนที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา เป็นข้อสอบแบบให้ฟังเทปแล้วตอบลงกระดาษ  ด้วยความที่เล่นดนตรี แกะเพลงลงคอร์ดกีตาร์เป็นประจำ ประกอบกับจบจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนด้วย ทำให้อิสระพันธ์ได้ 85 คะแนนได้ทุนไปเรียนเมืองนอก

ปรากฏว่า สหประชาชาติมีทุนให้ 36 ทุน มีคนสอบผ่านเพียง 2 คน เหลืออีก 34 ทุน จำเป็นต้องมีการสอบใหม่ลดความยกของข้อสอบลงมา เที่ยวนี้ อิสระพันธ์ขอนายตำรวจปกครองทดสอบอีกครั้งอ้างว่า อยากลอง เพราะไม่มั่นใจ คราวที่แล้วอาจฟลุก สรุปได้ 96 คะแนน ทว่าแท้จริงเป็นแผนให้เพื่อนในห้องลอกคำตอบนำเพื่อนที่เหลืออีก 34 คนลัดฟ้าไปด้วย

ใช้เวลา 5 เดือน เขายังต้องช่วยประคับประคองเพื่อนเป็นล่ามแปลภาษา เวลามีทริปก็เล่นดนตรีสร้างความเป็นกันเองระหว่างครูและนักเรียนในห้อง เสร็จแล้วกลับมาได้มีโอกาสลาไปศึกษาต่อด้านอาชญาวิทยาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยอีสเทิร์น เคนทักกี สหรัฐอเมริกา “ชีวิตที่กำลังกระโดดร่ม ทำงานอยู่ตำรวจตระเวนชายแดนเปลี่ยนไปเลย กลายไปเป็นนักเรียนอเมริกา  แต่เป็นเหมือนพวกกะเหรี่ยง เขาไม่สนใจเราเลย ซื้อกีตาร์มาตัว เล่นอย่างเดียว จนมีอยู่วัน ครูให้ทำเปเปอร์เรื่องการขับรถภายใต้อาการมึนเมา ผมเกิดมาไม่เคยเขียนเปเปอร์แบบนี้เลย โรงเรียนนายร้อยก็ไม่เคยสอน”

“นั่งอึ้งอยู่เป็นเดือน เขียนอะไรไม่ได้สักตัว คิดว่า เราคงเรียนกับเขาไม่ได้ ควักเอากีตาร์ไปนั่งเล่นสวนหย่อมโรงเรียน แก้เครียด ตัดสินใจแล้วว่า ทำไม่ได้ก็จะกลับเมืองไทย เล่นเพลงป็อปอยู่ราวครึ่งชั่วโมง เลิกเก็บกีตาร์ก็มีแหม่มนักศึกษาชั้นปี 2 มาถามว่า ผมมาจากไหน ก็บอกว่าจากเมืองไทย มาเรียนปริญญาโท กำลังจะกลับแล้ว เธอถามอีกว่า มีปัญหาอะไร ผมก็ว่าถึงปัญหาการทำเปเปอร์ นักศึกษาสาวคนนี้เลยช่วยอธิบายชี้แนะเป็นที่ปรึกษา”

หลังจากนั้นอิสระพันธ์ได้คะแนนเอ ในรายงานตัวนี้ เขาอาสาพาแหม่มนักศึกษาคนที่มีบุญคุณไปส่งบ้านที่ชอบดนตรีเหมือนกัน ทำเส้นทางการเรียนปริญญาโทในต่างแดนของนายตำรวจหนุ่มเดินหน้าต่อ มีกีตาร์คู่กายคอยสร้างความสนุกสนานแก่อาจารย์และนักเรียนในห้องอีกเช่นเคยยามมีงานปาร์ตี้สังสรรค์นักศึกษาปริญญาโท

จบจากเคนทักกีเป็นคนไทยคนแรกที่สร้างวีรกรรมได้เอทุกวิชา บินกลับมาเป็นรองสารวัตรแผนกนโยบายและแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาล มี วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ เป็นหัวหน้าแผนก ชีวิตพลิกผันอีกครั้งเมื่อวันตำรวจที่ 13 ตุลาคม 2516 บรรยากาศบ้านเมืองกำลังระอุคุกรุ่น วิสุทธิ์ถูกมนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เรียกพบให้ช่วยนายตำรวจไปเป็นนายตำรวจติดตามสุวรรณ รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

“ท่านวิสุทธิ์ลงมาจากตึกเจอผมพอดี ถามว่ามีธุระที่ไหนหรือเปล่า ผมว่าไม่มี แกบอกให้ผมไปเป็นนายตำรวจติดตามท่านสุวรรณ และให้รีบไปพบที่สวนรื่นฤดี ท่านสุวรรณให้นั่งรอหน้าห้องยุทธการ ถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร นั่งรอประชุมอยู่ บรรยากาศกำลังตึงเครียด เสนาธิการทหารวิ่งเข้าออก เสียงปืนดังเป็นระยะ กระจกผ่านฟ้าของกองบัญชาการตำรวจนครบาลเก่าแตกหมดแล้ว ผมฟังวิทยุรายงานตลอดเวลา นึกในใจถ้าอยู่ตรงนั้นคงโดนยิง”

พล.ต.อ.อิสระพันธ์ย้อนนาทีประวัติศาสตร์ประเทศที่ตัวเองเข้าไปมีส่วนอยู่ในเหตุการณ์ว่า  กระทั่งประมาณ 4 ทุ่ม ท่านสุวรรณเดินออกมาถามว่า รู้จักถนนกะออมไหม สั่งให้คุมรถเสบียงเอาทหารไป 1 หมู่แวะเอาข้าวที่กองพลาธิการบรรทุกไปส่ง เพราะที่นั่นไม่มีอะไรกินจะแย่อยู่แล้ว เจอนพดล อินทปัญญา เพื่อนนักเรียนเตรียมทหารร่วมรุ่นแกะเข็มขัดสนามพร้อมปืนให้ยืม ถึงพลาธิการเจอตำรวจจ่อปืนลูกซองเหนือกำแพงต้องบอกว่า เป็นตำรวจจะมาเอาข้าวไปส่งตำรวจนครบาล

ออกจากถนนเศรษฐศิริวิ่งพระราม 5 ผ่านโรงพักดุสิตเลี้ยวเข้าศรีอยุธยาตรงวัดเบญจมบพิตรถึงลานพระรูป อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติบอกว่า ไม่มีรถวิ่งสักคัน พอถึงสะพานมัฆวานรู้อยู่แล้วว่า มียิงกันตรงผ่านฟ้าเลยให้พลขับออกคู่ขนานอย่างไปวิ่งกลางราชดำเนิน เท่านั้นแหละเห็นนักศึกษาเอาแผงเหล็กมากั้นถนน มีเสียงปืนดัง รีบตบขาคนขับให้ชนแหลกอย่าหยุดจนถึงที่หมาย อิสระพันธ์กลิ้งตัวลงจากรถไปชิดกำแพงกองบัญชาการตำรวจนครบาลเดิม “เจอปืนลูกซองจ่อหัว ตำรวจเพิ่งจบใหม่ตาขาว ตื่นตระหนกสุดชีวิต บังเอิญมันเห็นหมวก ผมเลยบอกว่า ตำรวจๆ อย่ายิง มันก็ลดปืนลง ถ้าวันนั้นมันลั่นนะ ก็ไม่มีอิสระพันธ์แล้ว ก็บอกทหารให้เอาเสบียงไปส่ง ระหว่างนั้นก็ยังได้ยินเสียงปืนตลอดเวลา”

ตึกกองบัญชาการตำรวจนครบาลคืนวันตำรวจมืดสนิท พล.ต.อ.อิสระพันธ์ยอมรับว่า นึกถึงวิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ และพิภพ ณ ระนอง 2 นายตำรวจรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ข้างใน ห่วงกลัวจะติดอยู่ในนั้น เดิน ๆ อยู่เจอเสียงคนร้อง เห็นร่างของ ร.ต.ท.ฟ้อน จำนามสกุลไม่ได้นอนขายุ่ยจากการโดนระเบิดเอ็ม 79 จึงตะโกนเรียกทหารมาช่วยอุ้มขึ้นรถจีเอ็มซีส่งโรงพยาบาลวชิระแล้วกลับไปยังสวนรื่นฤดี แกะเข็มขัดสนามคืนนพดล อินทปัญญา เพื่อนรัก เป็นเสี้ยวชีวิตหนึ่งในเหตุการณ์ก่อนเช้า 14 ตุลาที่รอดมาได้

รัฐบาลชั่วคราวของสัญญา ธรรมศักดิ์ มานั่งเป็นนายกรัฐมนตรี หลายอย่างคลี่คลาย อิสระพันธ์ย้ายเป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ แต่วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ รักในฝีไม้ลายมือเลยให้ณรงค์ มหานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เอามาช่วยงานสำนักงานทำหน้าที่หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ ก่อตั้งวงดนตรีไปเล่นตามชุมชนล้างภาพตำรวจทำร้ายประชาชนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม อีกทั้งทำโครงการตำรวจหญิงรุ่นแรกของนครบาล

“ท่านณรงค์ บอกว่า เราต้องแก้ภาพที่สังคมเกลียด โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา ตำรวจหญิงชุดนี้ทำ กำหนดอัตราขึ้นมาแล้วคัดเลือกเลย เหมือนเลือกนางสาวไทย ง่ายมากเลย คนนี้เอา คนนี้ไม่เอา ถ้าไม่น่ารักไม่เอา สรุปว่าได้นางงามทั้งรุ่นไปช่วยทำโครงการเยาวชนสัมพันธ์เข้าตามโรงเรียน มีผมเป็นหัวหอกเอาดนตรีไปเล่น เด็ก ๆ ชอบ แล้วก็เอาสุนัขตำรวจเข้าไป เด็กก็ชอบอีก ทำอยู่ประมาณ 20 กว่าครั้งเกือบ 30 โรงเรียนทั่วกรุง”

ผลงานเข้าตาได้ขึ้นเป็นสารวัตรปกครองป้องกัน สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ และได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ นาน 4 ปี เป็นรองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม ยุค ณรงค์วิช ไทยทอง เป็นผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม ร่วมทำคดีสำคัญมากมาย แต่อยู่ได้ไม่นาน “ผลประโยชน์ในหน่วยมันเยอะ เดินไปไหนก็ไม่ถูกกับอิสระพันธ์เลย ตัดสินใจขอผู้ใหญ่เข้าไปอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะอิสระพันธ์ไม่ใช่ผู้เสาะแสวงเท่าไหร่”เจ้าตัวให้เหตุผล

เป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ นายพลตระกูลสนิทวงศ์ ณ อยุธยา ระบายความรู้สึกว่า ดีใจมาก มีความสุขที่ได้สอนหนังสือ ได้ทำหลักสูตร เป็นทีมงานหลักสูตรผู้กำกับ ผู้บังคับการ อยู่กับรุ่นพี่ รุ่นน้อง ไหว้ก้มพนมกร เวลาเราเป็นรุ่นน้อง เพราะมีพี่ทั้งนั้น สุดท้ายได้เป็นรองผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยเสร็จแล้วตอนที่มาเป็นนายพล เป็นเรื่องที่ประหลาดที่สุด ทำหลักสูตรผู้กำกับอยู่  โกศล รัตนาวดี เป็นผู้อำนวยการหลักสูตรจะเอานักเรียนไปนิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย  ระหว่างทางเครื่องบินก็จะไปจอดที่บริสเบนก่อนขึ้นมาใหม่ เสียฮือทั้งเครื่องบอกว่าอิสระพันธ์ได้เป็นผู้การ ตัวเองไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่ได้วิ่งเต้นอะไรทั้งสิ้น ถามว่าเป็นผู้การ ยังไม่รู้เลยว่าที่ไหน

ที่สุด เขาได้เป็นผู้บังคับการกองการต่างประเทศ ทำหน้าที่ประสานงานกับต่างประเทศกับตำรวจสากลปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เสริมสร้างความสัมพันธ์กับตำรวจต่างประเทศ และชาวต่างชาติ ทำจนรองเท้าสึก วันๆ หนึ่ง ไม่ต้องทำอะไร ชาวต่างชาติเดินเข้าออก ติดต่องานต่างประเทศอย่างเดียว มีแต่งาน ไม่มีเงิน เป็นผู้บังคับการกองการต่างประเทศนาน 3 ปี ถึงขยับขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด  และรองผู้บัญชาการศึกษา

 “ได้กลับมาทำหลักสูตร ก็มีความสุขมาก ไม่ต้องทะเลาะกับใคร ทำหลักสูตรอย่างเดียว” พล.ต.อ.อิสระพันธ์บอกและว่า หลังจากนั้นได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษาก็สมศักดิ์ศรีไม่ได้วิ่งเต้น เน้นย้ำเรื่องการทำหลักสูตรผู้กำกับ หลักสูตรสืบสวน หลักสูตรผู้บังคับการ หลักสูตรร่วมไทย-มาเลเซีย  ภายในหมู่ตำรวจอาเซียน

ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับภารกิจสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการในการทำงานฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เป็นงานที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบในชีวิต ทุ่มเทเอาประสบการณ์ทุกอย่างด้านถวายอารักขามาสร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการถวายความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีแห่งองค์ประบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระประมุขและพระราชวงศ์จาก 25 ประเทศทั่วโลกเสด็จฯมาร่วมพระราชพิธีสำคัญนี้”

อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฝ่ายงานกิจการพิเศษบอกว่า จุดสำคัญคือ นายตำรวจเกียรติยศ ความสำคัญของงาน ก็คือ ตำรวจที่อยู่ในรถพระที่นั่งของกษัตริย์ และผู้นำทุกประเทศ ต้องได้รับการคัดเลือกอย่างดี ต้องมีการอบรมเรื่องมารยาท ต้องเข้าใจภาษา พูดรู้เรื่อง ความสำเร็จในครั้งนั้นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เหมือนแสงอาทิตย์ที่สาดส่องผ่านปริซึม เกิดแสงสีรุ้งหลากสี แต่ละสีมีความชัดเจน เสมือนข้าราชการตำรวจจากหลายหน่วยที่มาช่วยกันปฏิบัติภารกิจ

 

“ทุกคนต่างร่วมทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และกำลังความคิดที่แข็งขัน มีจุดหมายเดียวกันเพื่อองค์ราชันของเหล่าข้าราชการตำรวจจนผ่านภารกิจลุล่วงไปอย่างราบรื่นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และได้รับคำชื่นชมจากหลายหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งพระราชอาคันตุกะที่มีความประทับพระทัย กลายเป็นที่มาของจดหมายเหตุสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่บันทึกเรื่องราวของนายตำรวจเกียรติยศ ผู้พิทักษ์รักษ์ราชัน”

      อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา !!!

 

RELATED ARTICLES