ชีวิตพนักงานสอบสวน

สุดท้ายผลการ “ผ่าตัดองค์กรสีกากี” ระลอกล่าสุดจะลงเอยแบบไหน

ตำรวจคงอยู่ไม่ต่างเส้นด้ายระหว่างความเป็นจริงกับ “อคติ” ของสังคมนอกรั้ว

คงต้องย้อนเรื่องราวของ พ.ต.ต.สุริยา แป้นเกิด สารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปฏิบัติราชการ (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรยะหา จังหวัดยะลา นายตำรวจหนุ่มนักเขียนเรื่องราวที่กลั่นจากประสบการณ์จริง

เป็นหนังสือ “ชีวิตพนักงานสอบสวน” (โรดแมปปฏิรูปตำรวจ ภาค 2) ชวนให้อ่านมุมมองสะท้อนผลกระทบต่อคำสั่งยุบ “แท่งพนักงานสอบสวน” กระทั่งกลายเป็นวิกฤติในปัจจุบัน

“จะปฏิรูปตำรวจ ต้องรู้จักตำรวจ” เจ้าตัวพยายามสื่อเสมอ

พ.ต.ต.สุริยา แป้นเกิด บรรเลงเรื่องสั้นจากชีวิตพนักงานสอบสวนเป็น 24 ตอน แสดงให้เห็นการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อค้นหาความจริงที่จะผดุงความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกฝ่าย

ท่ามกลางแรงกดดันทั้งจากคู่กรณี และผู้มีอำนาจอิทธิพล

โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชา

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของพนักงานสอบสวนที่ขอแยกเป็นอิสระจากตำรวจในการปฏิรูปตำรวจ

เนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับงานสอบสวน เริ่มต้นเปลี่ยนวิถีชีวิตจากพลเรือนสู่วิถีตำรวจ ประเดิมยศพลตำรวจ ตำแหน่งเล็กที่สุดในที่ทำงาน สภาพความเป็นอยู่ อุปกรณ์การทำงาน ไม่มีประสบการณ์ ไม่ทันเล่ ห์เหลี่ยม

เรียนรู้ชีวิตการทำงานตำรวจ ที่ไม่สนใจว่า ใครจะเป็นคนดีหรือคนเลว แต่หน้าที่ตำรวจ ต้องรักษาความสงบเรียบร้อย สัมผัสวิธีการทำงานของสายตรวจระหว่างตำรวจใหม่กับตำรวจเก่า อารมณ์ ประสบการณ์ รู้จักแยกแยะ

ถ้าทำพร้อมกันไม่ได้ ทำแบบไหน ได้ประโยชน์มากกว่ากัน

มีวิธีทำงานของตำรวจรุ่นพี่ ให้เรียนรู้ช่องทางของการทุจริต สามารถทำได้คนเดียว คนอื่นไม่รู้เรื่อง รวมทั้งต้องเลือกระหว่าง “กฎหมาย” กับ “ความเมตตาสงสาร”  

เมื่อเป็นพนักงานสอบสวน สังคมไทยในระบบอุปถัมภ์ คดีอุบัติเหตุจราจร คือ ปัญหาที่พนักงานสอบสวนถูกร้องเรียนมากที่สุด อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของคู่กรณี ที่ต่างฝ่ายต่างหาคนมา “บีบบังคับพนักงานสอบสวน” ไม่ว่าจะผ่านทางคนมีอิทธิพลในพื้นที่ หรือผู้บังคับบัญชา จะทำงานอย่างไรให้เอาตัวรอดได้

ไม่โดนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องร้อง

มองการทำงานของตำรวจชั้นผู้น้อยที่ตั้งใจทำงาน แต่เมื่อการทำงานผิดพลาด เสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง ผู้บังคับบัญชาทอดทิ้ง ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร

แถมต้องเจอคนบางประเภทกับความเข้าใจผิดๆ ในข้อกฎหมายของคนในสังคมส่วนใหญ่

ที่สำคัญการทำงานพนักงานสอบสวน นอกจากเตรียมตัวรับมือกับประชาชนผู้มาแจ้งความ ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผู้บังคับบัญชาที่มีอีกหลายระดับ

ทำตามกฎหมายแล้วต้องทำตามระเบียบ

ถูกกฎหมายผิดระเบียบไม่เป็นไร แต่ถ้าผิดใจกับผู้บังคับบัญชาจะย้อนมาตรวจสอบลงทัณฑ์เรื่องผิดระเบียบ หากมีผู้บังคับบัญชาขัดแย้งกัน ทำไม่ถูกใจหมดทุกคน คนที่รับกรรม คือ พนักงานสอบสวน

กระทั่งเกิดการรวมตัวของพนักงานสอบสวนประมาณ 3,000 นายในนามของ “สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ”  มี พ.ต.อ.ภรภัทร เพ็ชรพยาบาล เป็นประธาน  พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ เป็นเลขานุการ  ทั้งคู่เป็นแกนนำชัดเจนที่คัดค้านคำสั่ง คสช.ที่ยุบแท่งพนักงานสอบสวน

ปรากฏว่า พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ ผูกคอตายปริศนา ส่วน พ.ต.อ.ภรภัทร เพ็ชรพยาบาล ลาออกจากประธานสหพันธ์

ตอกน้ำเรื่องจริงของงานสอบสวน หลังจากยุบแท่งพนักงานสอบสวน ทำให้มองไม่เห็นความก้าวหน้าของสายงานสอบสวน ส่วนหนึ่งขอย้ายหนีออกจากงานสอบสวน ทำให้เกิดวิกฤติกำลังขาดแคลน

งานล้น คนน้อย

มีการโยกย้ายคนที่ไม่ถนัดงานสอบสวนเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนจนวุ่นวายไปหมด

พนักงานสอบสวนส่วนหนึ่งถึงอยากจะแยกออกไปจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ขอไปเสี่ยงตายเอาดาบหน้า

RELATED ARTICLES