(15)ได้เวลาแจ้งเกิด “ต้อย ต้นโพธิ์”

 

มื่อยักษ์เล็ก “เดลินิวส์” สี่พระยาไล่กวดยักษ์ใหญ่ “ไทยรัฐ” เหมือนภาษานักข่าวกีฬาที่ชอบใช้ว่า “หายใจรดต้นคอ” พวกเราชาวสีบานเย็นทุกภาคส่วนยิ่งฮึกเหิมเพิ่มพลังทำงานด้วยความสุข แถมเงินทองในกระเป๋าก็เพิ่มพูน โบนัสกลางปีคนละ 1 – 2 เดือน และโบนัสปลายปีอีกคนละ 1 – 3  เดือน “งานเดินเงินดี” แฮปปี้กันทั่วหน้าอย่างนี้ ไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันฉบับไหนเขาทำกัน   

ผมยังอาศัยห้องเล็กๆ เหมือนห้องเก็บของอยู่ตรงข้ามห้องน้ำของกองบรรณาธิการ    เป็นที่ซุกหัวนอน เมื่องานกำลังเดินเงินก็ดี ผมเห็นว่า “น่าจะอยู่กันได้ยาว” และเพื่อให้ครอบครัวอบอุ่นพร้อมหน้าทั้งพ่อแม่ลูก ผมตัดสินใจย้ายบ้านที่ลพบุรีมาอยู่กรุงเทพฯ

ฐานะอย่างผมไม่มีปัญญาซื้อบ้านแน่นอนก็ต้องหาบ้านเช่าที่ไม่คับแคบจนเกินไป แต่จะไปหาที่ไหน

พอดีเพื่อนบ้าน (ห้องเช่า) ที่ลพบุรี เขามีญาติอยู่ในซอยต้นโพธิ์ ถนนตก บอกว่ามีบ้านไม้สองชั้นหลังหนึ่งอยู่สุดซอย กำลังว่างไม่มีคนอยู่ เพื่อนบ้านที่ลพบุรีพาเมียผมไปดู เมียบอกผมว่าพอไหว ไอ้ที่ว่าพอไหวนั้นหมายถึงค่าเช่า

ผมไปดูแล้วก็ตกลง บ้านอยู่สุดซอยต้นโพธิ์ริมถนน และอยู่ตรงข้ามร้านโชห่วยซึ่งมีจ่าตำรวจ สน.วัดพระยาไกรเป็นเจ้าของ ตรงนั้นน่าจะปลอดภัยพอสมควร เพราะเพื่อนผมศิษย์เก่าพิบูลวิทยาลัย ลพบุรี รุ่นเดียวกัน พ.ต.ท.วิชัย ศรีนครไทย  นรต.14 เป็นสารวัตรใหญ่วัดพระยาไกร

ผมไม่เคยไปหาเขา นอกจากเวลาผมนั่งรถโรงพิมพ์กลับบ้านเห็นเพื่อนยืนอยู่หน้าโรงพัก     ผมตะโกนใส่ “ตาเชื่อม ๆ”  ครับพ่อพ.ต.ท.วิชัยเป็นเศรษฐีใหญ่เมืองละโว้ ชื่อ  “เชื่อม ศรีนครไทย”

ลูกผม 3 คนไม่มีปัญหา คนโตอยู่ชั้นประถม ผมฝากให้แม่ผมซึ่งมีร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปอยู่ที่ตลาดบนเมืองลพบุรีช่วยเลี้ยงดูเพื่อแบ่งเบาภาระของผม ส่วนลูกอีก 2 คนกำลังเรียนชั้นอนุบาล ผมหอบหิ้วไปอยู่ด้วยกัน

บ้านไม้หลังนั้นน่าจะสร้างมาหลายสิบปี ชั้นบนมี 2 ห้องนอน เวลาเดินจะรู้สึกว่ามันสั่นเพราะความชรา  ชั้นล่างเป็นห้องน้ำ ห้องครัว และพื้นที่สำหรับพักผ่อน มีโซฟาเก่าอยู่ตัวหนึ่ง     และโทรทัศน์ขาวดำขนาดใหญ่ที่มีส่วนของจอภาพนูนยื่นออกมาทางด้านหลัง บก.สนั่น หัตถโกศล บก.นสพ.สระบุรีสาร ซึ่งผมประเดิมชีวิตการเป็นนักข่าวอยู่กับสระบุรีสารมอบให้ในวันที่ผมไปลาออกกับท่าน

ตอนนั้นโทรทัศน์สีเริ่มเข้ามาแทนที่โทรทัศน์ขาวดำ แต่โทรทัศน์สีมันแพงสุดกู่ ผมเอื้อมไม่ถึงครับ แม้ต่อมาจะมีพนักงานขายโทรทัศน์สีขึ้นมาขายบนกองบรรณาธิการด้วยระบบผ่อนส่ง     มันก็ยังแพงระยิบสำหรับการผ่อนรายเดือน ผมจำได้ “พี่เทพสิงโต” สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช     ซื้อโทรทัศน์สีผ่อนส่งจากเซลส์แมนขื่อ “เฉลิม” จำนามสกุลไม่ได้เป็นคนในแวดวงหนังสือพิมพ์นี่แหละ ผมเรียกแกว่า “พี่เหลิม” ตัวดำร่างเล็ก พี่เทพสิงโตคงซื้อเพื่อช่วยให้พี่เหลิมมีรายได้     ต่อมาพี่เหลิมไปทำงานอยู่กับ  “ระวิ โหลทอง”สยามกีฬายุคคลองเตย

จากปากซอยต้นโพธิ์เข้ามาจนถึงคลองที่ตัดขวางกับซอยเป็นถนนกว้างรถยนต์วิ่งสวนกันได้ แต่พอข้ามคลองมาแล้วเป็นถนนแคบ ถึงเวลาน้ำทะเลหนุน น้ำจะท่วมถนนหน้าบ้าน ลูกผมสองคนสนุกกับการเล่นน้ำตรงนั้น

          ถึงตรงนี้ต้องชมเมียผม ชมลับหลังไม่เป็นไร เพราะเธอตายไปแล้ว การย้ายบ้านจากลพบุรีมาอยู่ซอยต้นโพธิ์ เธอจัดการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง ขนสัมภาระทั้งตู้เตียงโต๊ะเก้าอี้ เสื้อผ้าและเครื่องครัวใส่รถบรรทุกเข้าซอยแคบมาถึงสะพานข้ามคลอง ซึ่งรถยนต์แล่นผ่านไม่ได้ แต่เธอสามารถเอาสัมภาระทุกชิ้นเข้าบ้านได้พร้อมกับลูกน้อยอีกสองคน ผมไม่ได้ไปออกแรงช่วยอะไรเลย

เมียผมอีกนั่นแหละที่หาโรงเรียนให้ลูกเรียน เป็นโรงเรียนอนุบาลเอกชนไม่มีชื่อเสียง    อยู่เชิงสะพานกรุงเทพ ตื่นเช้าเธอหุงหาอาหารให้ลูก พาลูกขึ้นรถสองแถวจากเชิงสะพานข้ามคลองในซอยต้นโพธิ์ไปลงปากซอยแล้วจูงมือลูกคนละข้างเดินไปโรงเรียน ตกเย็นเธอก็ไปรับลูกกลับบ้านเส้นทางเดิม

ผมเองเวลาไปทำงานก็นั่งรถสองแถวในซอยไปลงปากซอยแล้วนั่งรถสองแกวสายถนนตก – สี่พระยา จากถนนตกไปตามถนนเจริญกรุงเลี้ยวขวาเข้าถนนสี่พระยาเข้าถนนสีลมกลับไปถนนตก รถสองแถวสายนี้ผ่านหน้าเดลินิวส์ด้วย

หรือบางทีก็นั่งรถเมล์ ขสมก.สาย 1 ถนนตก – ท่าเตียน ลงป้ายกรมไปรษณีย์กลาง    เดินข้ามถนนเจริญกรุงเข้าถนนสี่พระยา ไม่กี่อึดใจก็ถึงเดลินิวส์

หรือเบื่อรถเมล์รถสองแถว ผมจะไปลงเรือที่ท่าน้ำถนนตกมาขึ้นท่าน้ำสี่พระยาแต่เดินไกลหน่อยกว่าจะถึงโรงพิมพ์

มันเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับคนไม่มีรถไม่มีบ้านของตัวเอง

แต่ที่สะเทือนใจและช้ำใจสุด ๆบ้านเช่าหลังนั้นพื้นบ้านไม้แตกเป็นช่องโหว่ กว้างขนาดเด็กเท่าลูกผมหล่นไปได้ เพราะเบื้องล่างเป็นน้ำขัง ผมไปบอกเจ้าของบ้านให้เอาไม้มาซ่อมก็ได้รับคำตอบแบบนี้ครับ

“ไม่ซ่อมหรอก เพราะกำลังจะรื้อบ้านหลังนี้”

ต้องหาไม้กระดานมาตอกเองแล้วซื้อเสื่อน้ำมันมาปูทับช่องโหว่

ผมยังทำหน้าที่รีไรเตอร์หรือผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1รับข่าวเขียนข่าวเฉพาะข่าวอาชญากรรม ส่วนข่าวอื่น ๆ แต่ละภาคส่วนจะเขียนข่าวส่งให้หัวหน้าข่าวหน้า 1 โดยตรง

ผมประจักษ์ความจริงอย่างหนึ่ง ยุคนั้นสมัยนั้นประชาชนให้ความเชื่อถือหนังสือพิมพ์มาก     เพราะทำหน้าที่สื่ออย่างแท้จริง ไม่เหมือนยุคนี้สมัยนี้ที่มี “สื่อทาส” ท้าทายจรรยาบรรณ

หลายครั้งที่ผมเข้าเวรมักจะเจอเรื่องอย่างนี้ มีโทรศัพท์จากคนเป็นแม่มาถามเรื่องการบ้านของลูก อันที่จริงแม่ก็ทำได้แต่ไม่แน่ใจ แม่ก็โทรมาหานักข่าว ส่วนใหญ่เป็นการบ้านของเด็กชั้นประถมและมัธยม

แล้ววันแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มาถึง พี่เทพสิงโตเรียกผมไปพบในห้องเพิ่มหน้าที่ให้ผมอีกอย่าง เป็นคนตอบปัญหาที่คนอ่านเขียนมา หรือเป็นเรื่องร้องทุกข์ต่าง ๆ ซึ่งเดลินิวส์มีคอลัมน์นี้อยู่แล้ว มีคนตอบปัญหาอยู่แล้ว ผมไม่รู้ทำไมพี่เทพสิงโตจึงมอบหน้าที่นี้ให้ผม จะเอ่ยปากถามก็ไม่กล้า แต่เมื่อเจ้านายสั่งผมก็ต้องปฏิบัติ

พี่เทพสิงโตบอกว่า ไปตั้งนามปากกาเอาเองก็แล้วกัน

ผมทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ลพบุรีใช้นามปากกา “มะนาว” เขียนข่าวสังคม ใช้นามปากกา “นภา สถาพร” เขียนคอลัมน์ทั่วไป คราวนี้จะใช้นามปากกาอะไรดี

เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัดครับ

นอกเหนือจาก “สิงโตฮึ่ม ฮึ่ม” และ “ชมพู  ชูพวง” พี่เทพสิงโตมีอีกนามปากกาว่า     “ติ๊ก บางพลัด” ผมเลียนแบบครับ ขอเป็นพลพรรค ต.เต่าด้วยคน  เอาชื่อ “ต้อย” ก็แล้วกัน     ไม่มีความหมายอะไรหรอกครับ

ติ๊กเขาอยู่บางพลัด ผมต้อยอยู่ซอยต้นโพธิ์ มันก็ต้องเป็น “ต้อย ต้นโพธิ์” จำง่ายและคล้องจองกันดี

“ต้อย ต้นโพธิ์” จึงจดทะเบียนแจ้งเกิด ณ บัดนั้น

บางคนเข้าใจว่าผมเป็นชาวสิงห์บุรี เพราะในตัวเมืองสิงห์บุรีมีตำบลต้นโพธิ์ บางคนนึกว่าต้นโพธิ์เป็นนามสกุลจริง เพราะมีนายตำรวจคนหนึ่งนามสกุลต้นโพธิ์

แต่สำหรับ “เดฟ” อิสรภาพ พูนเสริม เหยี่ยวข่าวตัวฉกาจของข่าวการเมืองเดลินิวส์     รู้จักซอยต้นโพธิ์นี้ดี แต่คิดว่าผมเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดในซอยนั้น

เปลี่ยนชื่อคอลัมน์ตอบปัญหาใหม่เป็น “จับเข่าคุย” มีจดหมายจากคนอ่านมากพอสมควร     เลือกเอาเรื่องราวความเดือดร้อนเป็นอันดับแรก เดือดร้อนจากสิ่งแวดล้อม เดือดร้อนจากการรีดไถของเจ้าหน้าที่รัฐ นาน ๆ จึงจะเอาจดหมายที่เขียนมาชมการทำงานของตำรวจมาลงสลับฉาก     เป็นกำลังใจให้ตำรวจน้ำดี

ผมเตะหมูเข้าปากบ่อย ๆ เมื่อนำความเดือดร้อนของชาวบ้านมาลงเพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำไปแก้ไขปรับปรุง หรือสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐน้ำเลว

ยกตัวอย่างโรงงานเถื่อน ประกอบธุรกิจอยู่ในชุมชน ชาวบ้านเดือดร้อนรำคาญเรื่องเสียงเรื่องกลิ่น ลงไปแล้วเท่ากับ “ชี้ช่อง” ให้พวกเขาไป “คาบเหยื่อ”

เมื่อมีจดหมายชี้แจงจากหน่วยงานราชการ ผมไม่เคยบิดพลิ้วนำลงให้ทุกครั้ง เจ้าของจดหมายจะได้รู้ว่ามันมีข้อเท็จจริงอย่างไร หนังสือของทางราชการก็เป็นแบบนี้ครับ ชี้แจงมาล่าช้าข้ามเดือนมันประจานการทำงานของหน่วยงานที่ยังก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่ในวังวนของระบบราชการไทย ประเภทเช้าชามเย็นสองชาม ไม่อนาทรร้อนใจกับความเดือดร้อนของประชาชน

ผมทำหน้าที่แกะซองตอบจดหมาย ขณะที่เดลินิวส์มีคอลัมน์เกี่ยวกับตำรวจอยู่แล้ว คนละคอลัมน์กัน

มันเป็นห้วงเวลาที่สิบโทสารวัตรทหารคนหนึ่ง หน้าตาเหมือนแขกปาทานผันตัวเองมาเป็นตำรวจจนเติบใหญ่เป็นสารวัตรกองปราบปราม ก้าวเข้าสู่วงการเมือง บุญมาวาสนาส่งได้ดิบได้สุกเติบใหญ่ได้ดีจนเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง คนนั้นแหละครับ คนที่คุยโม้โอ้อวดยกหางตัวเองเป็นสารวัตรประเทศไทย มีอำนาจจับกุมทั่วประเทศ……เป็นตำรวจมือสะอาด ไม่เคยทุจริตรีดไถใครทั้งสิ้น     มันเป็นความจริงเช่นนั้นหรือ

แล้ว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มาเกี่ยวอะไรกับเดลินิวส์

เมืองไทยสมัยนั้น สิ่งผิดกฎหมายที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทุกจังหวัดก็มีบ่อนการพนัน ซ่องโสเภณี    และหวยใต้ดิน เป็นอาหารหลักของตำรวจโรงพัก ตำรวจกองปราบ ส่วนเงินเดือนเป็นอาหารเสริม     แต่สำหรับกรุงเทพฯ มีธุรกิจทองคำเถื่อนกับโพยก๊วนเพิ่มขึ้นมาอีกสองรายการเป็นของหวานของตำรวจโจร

ร.ต.อ.เฉลิมอยู่กองปราบปรามสามยอดรู้ทะลุปรุโปร่ง พื้นที่ในกรุงเทพฯ มีอาหารคาวหวานอยู่ตรงไหนบ้าง

เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิมรู้ คอลัมนิสต์ที่เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับตำรวจของเดลินิวส์ก็ย่อมรู้เช่นกัน     เพราะทั้งสองสนิทสนมกลมเกลียวกันอย่างดี ลายแทงแหล่ง “อาหารหมา” เหล่านั้นจึงปรากฏในคอลัมน์ของเขา และมีข่าวในทางลบในเวลาต่อมา

ถึงขั้นคนในกองบรรณาธิการส่วนหนึ่งไปประชุมกันที่โรงแรม ประชุมกันเครียดเรื่องนั้น     ผมเข้าประชุมด้วย ขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดครับ เพราะเป็นเรื่องภายในเป็นเรื่องบุคคล

ผู้บริหารเดลินิวส์ในฟากฝั่งนายทุนคนหนึ่ง บอกชื่อให้ก็ได้ไม่เห็นเสียหายอะไร     “ประทักษ์ เหตระกูล” ลูกคนสุดท้องของนายห้างแสง เหตระกูล เป็นหัวหน้าฝ่ายยานพาหนะ      มีห้องทำงานอยู่ชั้นล่างคงได้ข่าวนี้เข้าหูเช่นกัน

วันหนึ่งขณะผมกำลังจะขึ้นไปกองบรรณาธิการ ประทักษ์ดึงมือเข้าไปในห้องของเขา     ยิงคำถามตรงทันทีว่า ทำไมผมไม่บอกเขาเรื่องที่เกิดขึ้น ผมตอบด้วยความนอบน้อมอย่างตรงไปตรงมาเช่นกันว่า ผมไม่มีหน้าที่รายงานพฤติกรรมของคนในกองบรรณาธิการต่อผู้ใดทั้งสิ้น   ไม่ว่าจะเป็นประทักษ์ หรือบรรณาธิการ “ประพันธ์ เหตระกูล” หรือผู้อำนวยการ “ประสิทธิ์ เหตระกูล”

ประทักษ์ไม่สบอารมณ์แน่กับคำตอบ แต่ผมไม่สนใจ เพราะผมไม่มีหน้าที่อย่างนั้นจริง ๆ ไม่มีหน้าที่ใช้ลิ้นแทนสมอง

ต่อมา คนเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับตำรวจอาชญากรรมลาออก พี่เทพสิงโตโยนหน้าที่ให้ผม     แล้วให้คนอื่นตอบปัญหาจากชาวบ้านแทน

ผมเป็นนักข่าวโรงพักมาก่อน เป็นรีไรเตอร์หน้า 1 คลุกคลีกับข่าวอาชญากรรม การเขียนคอลัมน์ประเภทนี้ไม่ยาก และผมยังเพิ่มรสชาติให้กับข้อเขียน คือ นายตำรวจแต่ละคนสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นไหน หรือเป็นนักเรียนนายร้อยอบรมรุ่นไหน มีประวัติการทำงานอย่างไร ยิ่งรู้ชื่อเล่นของเขาด้วยยิ่งดี เวลาเขียนถึงจะมีบิ๊กโน่นบิ๊กนี้นำหน้านิคเนม

การรู้จักรุ่น รู้จักเส้นทางของการเติบโต รู้จักเป็นเด็กใคร เวลาเขียนถึงการโยกย้ายแต่ละครั้งมันทำให้เห็นภาพคนนั้นมันข้ามหัวรุ่นพี่รุ่นพ่อ คนนี้มันใช้เส้นสายใคร คนโน้นมันซื้อเก้าอี้แน่เพราะยุคนั้นมีการซื้อขายเก้าอี้กันเกร่อ

เขียนถึงตำรวจต้องแม่นยำเรื่องยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งซึ่งมีอักษรย่อ ต้องรู้ว่าชื่อเต็มว่าอย่างไร ต้องใช้ทักษะความรอบรู้และความทรงจำ

เคยมีการเปลี่ยนแปลงในเดลินิวส์ ให้นักข่าวกีฬา “มนตรี วีระประวัติ” มาทำหน้าที่รีไรเตอร์หน้า 1 เพื่อปูทางขึ้นสู่หัวหน้าข่าวหน้า 1

ยอมรับว่ามนตรีเก่งเรื่องกีฬา แต่มนตรีไม่มีความสันทัดจัดเจนกับข่าวอาชญากรรม ในที่สุดมนตรีก็ต้องกลับไปอยู่ที่หน้ากีฬาตามเดิม

เอาละ ถึงเวลา “ต้อย ต้นโพธิ์” เริ่ม “โห่ตำรวจ”แล้วครับ. 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES