“เป็นนักเขียนไม่ได้ก็เป็นนักข่าวไปก่อน”

นข่าวมากประสบการณ์ในสมรภูมิ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เด็กหนุ่มสังกัดหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้สิทธิเป็นแม่ทัพคุมบังเหียน “ศูนย์ข่าวอิศรา”ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเพื่อรายงานข่าว “เชิงสันติภาพ” ในห้วงที่สถานการณ์ความไม่สงบในดินแดนปลายด้ามขวานกำลังร้อนแรงถึงขีดสุด

ปกรณ์ พึ่งเนตร นั่งรักษาการตำแหน่งบรรณาธิการศูนย์ข่าวด้วยอุดมการณ์สื่อมวลชนที่เข้มข้น แม้จะมีอุปสรรคขวากหนามอยู่เต็มเส้นทางเดิน แต่เขาไม่เคยนึกหวาดหวั่นย่อท้อต่อภาระหน้าที่ที่ได้รับหมายในครั้งนี้

ปกรณ์ เกิดกรุงเทพฯ ในครอบครัวที่พ่อแม่รับราชการทหารจนกลายเป็นความหวังอยากให้เจริญตามรอยเท้าสู่อาชีพนักรบ ทว่าเจ้าตัวกลับมองตรงข้ามขีดฝันอยากเป็นนักเขียนสวมบทนักประพันธ์ดุจดั่งอัศศิริ ธรรมโชติ เจ้าของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี 2524

ตรงนี้เองทำให้เขาเลือกฉีกกฎของผู้บังเกิดเกล้าระหว่างเรียนอยู่สวนกุหลาบวิทยาลัยไปสอบเตรียมทหารผ่านข้อเขียน แต่ไปตกในขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ “ผมไม่ชอบทหาร แค่ไปสอบตามใจพ่อก่อนตกสัมภาษณ์ เพราะผมไม่ชอบสิ่งที่มาลงโทษผม ทั้งที่ผมไม่ผิด พอไม่ติดเตรียมทหารก็ดีใจ แต่พ่อผมโกรธมาก โกรธอยู่หลายปีก่อนน้องชายจะได้เป็นทหารแทน” ปกรณ์ย้อนวีรกรรมวัยเด็ก

เขากลับมาเรียนรั้วชมพูฟ้าจนจบมัธยมปลายเลือกเอ็นทรานซ์ภาควิชาการจัดการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อหนีให้ไกลบ้าน ไปใช้ชีวิตอยู่ภาคใต้นาน 4 ปี โบกรถไปกลับปัตตานีบ่อยครั้ง เพราะต้องแข่งกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์อยู่กับคณะรัฐศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี

ผ่านไปนานวันฝันอยากจับปากกาเป็นนักประพันธ์เริ่มเจือจาง ปกรณ์ให้เหตุผลว่า การที่ออกมาเรียนต่างจังหวัดจะเป็นนักเขียนมันยาก เพราะเครือข่ายไม่มี ไม่เหมือนพวกเรียนธรรมศาสตร์จะมีรุ่นพี่ดึงไปฝึกงาน ไปทำงานนิตยสาร ได้สนทนาหารือกันในวงเหล้ากับนักเขียนดัง ๆ รุ่นเก่า เรามันมาเรียนไกลเกิน ไม่มีสังคมแบบนี้

“เป็นนักเขียนไม่ได้ก็เป็นนักข่าวไปก่อน” เพื่อนคนหนึ่งบอกปกรณ์ หลังหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นไปเปิดศูนย์ข่าวภาคใต้ใช้ระบบดาวเทียมพิมพ์ข่าวแล้วเปิดรับสมัครนักศึกษาหนุ่มสาวไฟแรงตามมหาวิทยาลัย ปกรณ์เล่าว่า กำลังเรียนอยู่ชั้นปี 4 ไม่ได้เรียนสายสื่อสารมวลชน แต่ลองไปสมัครดูเขาเกิดรับขึ้นมาเลยได้ไปทำข่าวประจำศูนย์ข่าวภาคใต้ ทำข่าวเหตุการณ์ ข่าวอาชญากรรมทั่วไป ด้วยการเรียนรู้จากนักข่าวรุ่นพี่ในภาคสนาม มีงานทำตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

อยู่ได้ปีเศษ แม่ป่วย ปกรณ์ขอเข้ากรุงเทพฯ จนเกือบต้องออกจากงาน เพราะตำแหน่งที่กรุงเทพฯเต็มหมด รอลุ้นเป็นสัปดาห์ ปรากฏว่า วิทยุเดอะเนชั่นขาดคนเขาเลยได้ไปลงประจำศูนย์ข่าววิทยุ กระทั่งปี 2539 ต้นสังกัดเตรียมการรับวิกฤติเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากกระดาษแพงจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบเป็นสำนักข่าวเนชั่น ข่าวในเครือทุกสายต้องมารวมอยู่ที่สำนักข่าวนี้ เจ้าหนุ่มเลือดนักรบเลยได้รับมอบหมายให้มาบุกเบิกทำหน้าที่ประสานงานข่าว รับข่าว เขียนข่าว วางประเด็น เป็นผู้ช่วยของบรรณาธิการ ได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ข่าวทุกสาย

ต่อมาเดอะเนชั่นเปิดธุรกิจโทรทัศน์เขาก็ไปช่วยได้พักหนึ่ง ก่อนย้ายมาสังกัดกรุงเทพธุรกิจ เพราะมีปัญหาโต๊ะการเมืองขาดคนจึงหันมารับหน้าที่รีไรเตอร์ควบคู่กับการออกทำข่าวเชิงกึ่งวิชาการ สัมผัสทั้งนักวิชาการ นักการเมือง รวมถึงสายตำรวจเป็นทีมข่าวเฉพาะกิจ ขณะนั้นเอง เหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุหนักขึ้น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจึงก่อตั้ง “ศูนย์ข่าวอิศรา” ไปตั้งกองบรรณาธิการกันที่ “เรือนรับรอง” มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมีการยัดชื่อ “ปกรณ์ พึ่งเนตร” เข้าเป็นคณะทำงานรุ่นแรก เล่นเอาเจ้าตัวงงไม่น้อย

“มีการเสนอชื่อผม โดยไม่ได้ถาม อาจเห็นผมอยู่ใต้มาก่อน เสนอชื่อแล้วมาบอก แต่ผมก็ไปได้ ไม่คิดอะไร เคยทำข่าวอยู่แล้ว มีแหล่งข่าวภาคใต้ แต่พอไปอยู่ก็รู้ว่า สถานการณ์และบรรยากาศไม่ได้เป็นแบบเก่าที่เราเคยเจอ ฝังอยู่หลายเดือน สิ่งสำคัญที่ผมคิดว่า ได้มากที่สุดของการทำงาน คือ การเรียนรู้ข้ามสื่อ ผมไม่ได้เรียนจบนิเทศศาสตร์ มาเจอนักข่าวที่จบนิเทศศาสตร์ อาทิ วัสยศ งามขำ สังกัดบางกอกโพสต์เขาก็มีสไตล์การทำข่าวแบบบางกอกโพสต์”

หนุ่มกรุงเทพธุรกิจยกตัวอย่างว่า สมมติเราไปทำข่าวกล่าวหาใคร หรือพูดถึงใคร หรือเล่นประเด็นเป็นลบกับใคร มันจะต้องมีฝ่ายที่ถูกกล่าวหาได้โต้ หรือชี้แจงภายในวันเดียวกันเลย อันนี้เป็นนโยบายของบางกอกโพสต์ แต่ของเนชั่นต้องเล่นไปก่อน อีกวันค่อยไปหาคู่กรณีเพื่อให้โต้กลับ หรืออย่างมติชน หรือโพสต์ทูเดย์ ไม่เน้นความเร็วมากต่างจากเนชั่น ที่ต้องทำข่าวให้เสร็จภายในวันเดียว เขาจะไม่รีบตีพิมพ์เพื่อเก็บข้อมูลไว้คุยประเด็นเพิ่ม มันถึงทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานมากขึ้น ความเร็วยังรักษาไว้ เพียงแต่เก็บข้อมูลเอามาขยายต่อเพิ่มขึ้นเท่านั้น

รักษาการแม่ทัพศูนย์ข่าวภาคใต้ของสำนักข่าวอิศรายังมองว่า ศูนย์ข่าวแห่งนี้เป็นโครงการที่ดีมาช่วยเสริมนักข่าวพื้นที่ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นทุกวันจะให้พวกเขาย้อนกลับไปค้นหาแต่ละเหตุว่า เกิดขึ้นอย่างไร มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ หรือให้ทุกฝ่ายได้พูดมันยาก แถมเป็นนักข่าวพื้นที่ก็ยิ่งอันตราย ถ้าเป็นทีมข่าวจากข้างนอกไปอยู่สักระยะก็กลับไม่น่าจะมีอะไรน่าห่วงมาก การที่จะให้นักข่าวในพื้นที่ไปสัมภาษณ์เหยื่อ หรือคนนั้นคนนี้ แม้กระทั่งบางเรื่องเป็นอาชญากรรมก็ยังทำลำบาก

“เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการฆ่าผู้รับเหมาแล้วอุ้มลูกเมียหายไป ทุกวันนี้ยังไม่รู้ชะตากรรม หรือสาวมิสทีนที่นราธิวาสถูกอุ้มหายไป คดีเหล่านี้เป็นอาชญากรรมไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่นักข่าวมักละเลย ตามยาก เพราะเป็นพื้นที่แบบนี้ พวกที่ก่ออาชญากรรมอาจโยงถึงกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือสะสมกำลังคนเพื่อแทรกซ้อนก่อคดีขึ้นมาก็ได้ ผมจะสนใจในมุมเหล่านี้ พยายามเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ของข่าว เราจะมาพูดแต่เรื่องสันติภาพดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ พยายามทำข่าวเชิงตรวจสอบมากขึ้น”ปกรณ์แสดงความเห็น

ประสบการณ์ในพื้นที่กว่า 6 ปี เขายืนยันว่า การที่รัฐบาลเปิดเจรจากับแกนนำก่อความไม่สงบมันก็ดี แต่สำเร็จน้อย เพราะต้องใช้เวลา ประกอบกับเราไม่มีความพร้อมอะไรเลย หลังจากตามเรื่องนี้มาตลอด ทีมที่เจราจรรู้จักเกือบทุกคน เห็นชัดว่า ในรอบเดือนก่อนที่จะนัดเจรจา ไม่มีการประชุมเตรียมพร้อมกันเลย เที่ยวก่อนเรื่องหมายจับที่จะไปเจรจากับฝ่ายนั้นว่า มีหมายจับกี่คน ก็เพิ่งโทรศัพท์เรียกตำรวจเอาไปให้ก่อนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปเจรจา ไม่ได้เตรียมพร้อมมาเป็นแฟ้ม ถึงดูแล้วว่า การเตรียมพร้อมมันมีน้อย

อีกมุมหนึ่ง ปกรณ์เชื่อว่า ฝ่ายเราไปเปิดสู่สาธารณะเร็วเกินไป เพราะคิดว่า สิ่งที่ทำเพื่อให้สังคมช็อก โจรก็ช็อกด้วย หวังให้หยุดการกระทำ แต่กลับไม่ง่ายแบบนั้น การสร้างเครือข่ายองค์การลับของบีอาร์เอ็นมีการตัดตอนด้วยตัวของมันเอง ทำให้ไม่มีใครเป็นแกนนำสั่งการคนเดียว มันยืดเยื้อกันมานานกว่า 20 ปี มีกองโจรอิสระเต็มไปหมด “ผมมองว่า ตอนนี้เราไปพึ่งโต๊ะเจรจามากเกินไป หลายเรื่องเงื่อนไขมันปลดได้เอง คือ ทำตรงกับพื้นที่ เช่น ปลดหมาย จริง ๆ ก่อนหน้าเราทำเองได้เลยไม่ต้องรอให้เกิดการต่อรอง บางสิ่งบางอย่างน่าจะคุยทางลับดีกว่า แม้สื่อจะทำงานยากขึ้น แต่น่าจะมีผลดีมากกว่า บางเรื่องไปออกเป็นข่าวไม่มีทางสำเร็จแน่นอน”

           “เหมือนเสื้อแดงคุยกับประชาธิปัตย์ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะคุยผ่านสื่อออกทีวี เพราะมันก็ต้องมีการเอาใจกองเชียร์เลือกข้อเสนอสูงสุดในการเจรจา มันทำไม่ได้อยู่แล้ว เรื่องที่ใต้บางเรื่องคุยกันได้จะปลดหมายเท่าไหร่ เพราะจริง ๆ ทำเปิดเผยค่อนข้างยาก ติดเงื่อนไขของข้อกฎหมาย มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง หากคุยกันวงในทางลับคัดเอาเฉพาะพวกที่มีหมายเรียก ไม่ได้ออกหมายจับ น่าจะช่วยผ่อนคลายได้บ้าง”คนข่าวผู้โชกโชนสมรภูมิใต้ขยายแนวคิด

เจ้าตัวยังสะท้อนถึงเพื่อนร่วมสายอาชีพว่า สื่อตอนนี้ก็ทำเป็นกระแสมากเกิน ไม่ได้ตามเชิงลึกสักเรื่อง พอมีข่าวก็วิ่งไปตามข่าวเลย โดยใช้โซเชียลมีเดีย บางเรื่องไม่ได้มีปัญหาเฉพาะผลของมัน เช่น ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ศาลบอกไม่ยุบ มันไม่ได้จบแค่นี้ มันน่าจะวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมถึงไม่ยุบ ประชาธิปัตย์มันเก่งขนาดนั้นเลย หรือมันมีเบื้องหลัง ถ้าสื่อมวลชนรู้ คดีอื่นเราก็สามารถนำไปใช้อีกได้ มันไม่ต้องมาคาดเดาว่า มันเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น หรือเป็นเพราะมีอำมาตย์อุ้ม บางทีมันมีเหตุผลของมันอยู่ให้เราวิเคราะห์ได้ถูกต้อง

เฉกเช่นเรื่องปัญหาชายแดนภาคใต้ ปกรณ์ว่า เป็นข่าวลือเยอะ เป็นข่าวที่มักเล่นตามกระแสที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไร อาทิ เตรียมมาตรการรองรับหลังมีโจรติดอาวุธลอบเข้ามาพื้นที่ 50 คนก็ไม่รู้จริงหรือเปล่า หรือระหว่างนัดเจรจาครั้งที่ 2 มีข่าวออกมากระฉ่อนว่า มี 9 หัวข้อ พอเช็กแล้วก็ไม่จริง แต่สื่อปล่อยข่าวออกไปก่อน ไม่มีการตรวจสอบ ต่างฝ่ายต่างใช้สื่อเป็นเครื่องมือ บางคนจ้องล้มโต๊ะเจรจากันอยู่ อาจอยู่ในภาครัฐด้วยซ้ำ

“ผมสัมผัสมา อย่างการเปิดโต๊ะคุยครั้งที่ 3 ผมไปเฝ้าอยู่ที่มาเลเซีย การประชุมยังไม่เสร็จสิ้น แต่ที่กรุงเทพฯมีทวิตเตอร์ออกมาแล้วว่าจะปลดหมายจับ 3 หมื่นหมาย ถ้าใครตามข่าวอยู่ก็จะรู้ว่าไม่จริง หมายจับก็มีไม่ถึงจำนวนที่ว่า สื่อบางทีไม่ได้คุยตรงกับคนที่เข้าไปอยู่ในวงนั้น แต่จะมีบางคนที่อ้างอยู่ในวงนั้นมาปล่อยข่าวเพื่อดิสเครดิต เพราะหากมีการพูดจะมีการถอนหมายจับ 3 หมื่นหมาย ไม่มีใครยอมแน่นอน ถ้าเรารู้ข้อเท็จจริง ตามข่าวทำการบ้านมาตลอดก็จะรู้ว่าจำนวนหมายไม่ถึงอยู่แล้ว แม้กระทั่งบุคคลตามบัญชีดำยังไม่ถึงเลย มันจะวิเคราะห์ได้ถูกทางกว่า”นักหนังสือพิมพ์ผู้ช่ำชองน้ำเสียงจริงจัง

เขายอมรับว่า ทำงานภาคใต้เหนื่อยมาก อยากถอนตัวหลายรอบ แต่ไม่มีใครมาทำแทน ทีมงานในพื้นที่มันน้อย พอจะสร้างทีมจริง ๆ ก็ยาก นักข่าวในพื้นที่ไม่อยากทำกับสื่อส่วนกลาง พวกเขามองสื่อส่วนกลางไปในแง่ลบ หันไปทำสื่อทางเลือกเป็นหลัก เป็นพวกเว็บไซต์ที่เปิดขึ้นมาเอง มันมีอิสระมากกว่า แต่จะมองเราลบไว้ก่อน โดยมีขบวนการโจมตีสื่อส่วนกลางด้วย พยายามปลุกระดมไม่ให้ชาวบ้านเชื่อ เพราะเป็นกระบอกเสียงของรัฐ ทั้งที่เราพยายามเสนอข่าวทุกแง่ทุกมุม หลายเรื่องเราก็พิสูจน์ว่า ให้ความสำคัญเท่ากันหมด

ท้ายที่สุด ปกรณ์บอกกับตัวเองว่า ชีวิตคงไม่เหมาะกับนักเขียน เพราะต้องมีความนุ่มลึก ต้องใช้เวลากับมัน เรื่องข่าวมันรวดเร็ว แก้ไขเฉพาะหน้าเยอะ “มันเหมาะกับตัวผมมากกว่า ผมถูกหล่อหลอมมาจากเดอะเนชั่นกลายมาเป็นนักข่าวเต็มตัวแล้ว”

RELATED ARTICLES