“คนที่กลัวนักข่าวอายุมาก มีแค่พวกธุรกิจมืด พวกวัวสันหลังหวะเท่านั้น”

ดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส ประจำทำเนียบรัฐบาล หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  ยุวดี ธัญญสิริ หรือ เจ๊ยุ ชื่อที่น้องในวงการสื่อมวลชนต่างเรียกกันติดปาก ทำงานคร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมานานมากกว่า 40 ปี

ชีวิตวัยเด็ก พื้นเพเป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง พ่อเป็นข้าราชการ แม่เป็นแม่บ้าน เป็นคนที่มุ่งมั่น และให้ความสำคัญเรื่องการเรียนเป็นหลัก เลือกเรียนทางสายวิทย์ เพราะชอบวิชาด้านการใช้ความคิด  และไม่เคยคิดถึงอาชีพนักข่าวเลย  เพราะในสมัยนั้นผู้ใหญ่มักมองว่า นักข่าว เป็นอาชีพขายฝัน ซึ่งยุวดีบอกว่า เป็นคำถามในใจตัวเองว่า ทำไม

เมื่อจบชั้น มศ. 5 ที่โรงเรียนศรีอยุธยา สอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2508  เพราะมองว่า เป็นสถาบันที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ตัดสินใจมุ่งตรงที่จะเข้าศึกษาต่อที่สถาบันแห่งนี้ ปีที่เข้าไปเรียน ธรรมศาสตร์เพิ่งจะยกเลิกระบบตลาดวิชา ถือเป็นรุ่นแรกที่ได้เรียนภาคปกติ เลือกเรียนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ตอนนั้นเป็นเพียงแผนกอิสระสื่อสารมวลชน ขึ้นอยู่กับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์  ภายหลังแยกมาตั้งเป็นคณะของตัวเอง

เจ้าตัวเล่าว่า ใจจริงๆ ตอนแรกอยากเรียนด้านบัญชี แต่สาเหตุที่ไปเลือกเรียนวารสาร เพราะเพิ่งเปิดใหม่ มีนักศึกษาห้องเดียวประมาณ 50 กว่าคน รู้สึกว่าคนน้อยดี เห็นเพื่อนที่เรียนบัญชีต้องมาตี 5 หรือจ้างภารโรงมาจองที่นั่ง ไม่งั้นไม่ได้เข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์ รู้สึกว่าถ้าลำบากขนาดนั้น มาเรียนคณะนี้ดีกว่า อีกทั้งมีทุนให้ของคณะอีกด้วย

เมื่อผ่านปี 1 ที่ต้องเรียนรวมกันในวิชาพื้นฐาน ยุวดีเลือกเรียนเฉพาะวิชาของคณะวารสารจะเน้นหนักด้านหนังสือพิมพ์ ธรรมศาสตร์มีโรงพิมพ์ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ทั้งการถ่ายภาพ เขียนข่าว เรียงพิมพ์ และนำหนังสือพิมพ์ที่ทำออกไปขายจริง นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้ด้านวิทยุ มีอาจารย์จากกรมประชาสัมพันธ์ มาสอนวิธีการทำงาน การอ่านข่าว ขั้นตอนการออกอากาศ  ให้ฝึกปฏิบัติจริงผ่านสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัย

แม้จะเริ่มสนุกกับการทำข่าว แต่ก็ยังไม่ได้ชอบอย่างจริงจัง มองว่าเรียนจบคณะนี้แล้วสามารถไปทำอาชีพได้หลายอย่าง ประชาสัมพันธ์ก็ได้  ไม่จำเป็นต้องเป็นนักข่าวเพียงอย่างเดียว กระทั่งปีสุดท้ายของการเรียน เข้าสู่การฝึกงาน  เธอเลือกที่จะฝึกงานที่หนังสือพิมพ์ บางกอกเวิลด์  เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ มีสำนักงานอยู่ย่านผ่านฟ้า (ที่ต่อมา “บางกอกโพสต์” เข้ามาซื้อกิจการต่อ ช่วงปี 2514)

ยุวดีจำแม่นว่า ตอนนั้น บก.เป็นชาวต่างชาติ บอกว่า นักศึกษาที่มาฝึกงาน  ไม่ค่อยมีความอดทน  พอสั่งงานไป แล้วชอบหายไป เราฟังแล้วก็คิดในใจว่า ฉันคงไม่เป็นอย่างนั้น แต่พอฝึกไป เพื่อนๆที่มาด้วยกัน 5-6 คน ก็ค่อยๆหายไป เหลือแค่เรากับเพื่อนอีกคนที่เป็นผู้ชาย  ข่าวแรกที่ทำเป็นแนวสารคดีเล็กๆ เรื่องการก่อสร้างสระว่ายน้ำของโรงแรม  สมัยนั้นยังไม่แพร่หลาย  แต่งชุดนักศึกษาไปกับเพื่อนๆ  ไปขอสัมภาษณ์ผู้จัดการโรงแรมที่เป็นฝรั่ง ในซอยนานา ที่ยังเป็นทุ่งนา มีทหารอเมริกันอยู่เยอะไปหมด  กลับมาเขียนงานส่ง บก.ก็ชมว่า ดี ใช้ได้ เกิดความท้าทายในการทำงาน ทำให้เริ่มสนใจการเป็นนักข่าวมากขึ้น  แม้จะยังมีคำถามในใจว่า ข่าวต้องมีทุกวันหรือ แล้วจะเอาอะไรมาลงเป็นข่าวได้ทุกวัน

ฝึกงานจบ บก. ชวนทำงาน เธอกลับไปปรึกษาครอบครัว ทุกคนให้อิสระในการตัดสินใจ พอได้เริ่มชีวิตการทำข่าวจริงๆ  ในสมัยนั้น ยังไม่มีการแยกสาย ต้องทำได้หมด ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ สังคม ทหาร ความมั่นคง ข่าวตำรวจ ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ทุกที่ ทำให้รู้สึกท้าทาย  ไม่ได้มองว่า มีข่าวไหนเล็ก เพราะเกี่ยวข้องกันไปหมด กับการกินอยู่ของประชาชน  ศูนย์รวมของสื่อมวลชนจะอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ สมัยนั้นเรียกกันว่า ทางเสือผ่าน เวลามีเหตุการณ์อะไร มักจะตกเป็นเป้าการเผา ทุกวันนักข่าวจะไปรวมกันที่ร้านอาหารใต้ถุนกรมประชาสัมพันธ์เพื่อดูหมายข่าว พอทำข่าวเสร็จเรื่องหนึ่ง ก็ต้องวิ่งกลับไปเขียนที่โรงพิมพ์

การทำงานของสื่อยุคนั้น มีการแข่งขันกันทำข่าวเดี่ยว  เรียกว่า ไปเจอกันบนแผง ถ้าใครทำข่าวเดี่ยวที่  เป็นข่าว ได้  ถือว่ายอดเยี่ยม เพราะยุคนั้นบ้านเมืองเป็นยุคสงครามเย็น มีปัญหาร้อยแปด  กว่าจะจับทิศทางได้ ใช้ระยะเวลา เธอบอกว่า ต้องออกไปทำข่าว สัมภาษณ์เอง ไปเจาะเอง ต้องรู้จักการสร้างแหล่งข่าว แนะนำตัว ทำให้เกิดความไว้วางใจที่จะให้ข่าว เชื่อใจกัน สามารถยกหูถึงกันได้ แต่ต้องทำข่าวตรงไปตรงมาบนความรับผิดชอบ ถ้าสัมภาษณ์มาแล้วข่าวผิด จะแก้ ต้องให้แหล่งข่าวยืนยัน ไม่ใช่ไปแก้เอง การทำงานสมัยนั้น ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ  และเครื่องไม้เครื่องมือที่ยังไม่ทันสมัยเหมือนยุคนี้

คนที่มีอาชีพนักข่าวจะไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์ขึ้นมาตอนไหน เช่น ครั้งหนึ่งมีเหตุปฏิวัติรัฐประหาร สมัย พล..ชาติชาย ชุณหะวัณ มีการเข้าล็อกตัวที่สนามบินดอนเมือง เอาไปกักไว้ที่บ้านรับรอง นายกฯ ทั้งคนหายไป เราต้องเช็กให้ได้ว่า เอาตัวนายกฯ ไปกักที่ไหน ยังไง  ตอนแรกก็เข้าไปข้างในเฝ้าที่สนามบิน แต่ถูกไล่ นักข่าวก็ออกมาเฝ้ากันที่ด้านนอกถนนพหลโยธิน ตอนนั้นช่างภาพปีนถ่ายภาพ ก็มีการยิงเปรี้ยงออกมา ต้องวิ่งหลบกัน แค่หวังอย่างเดียวจะทำยังไงให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องมากที่สุด เป็นหน้าที่ของเรา”

งานข่าวที่ทำไม่ได้อยู่แค่ในกรุงเทพฯ บ่อยครั้งที่สาวคนข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ต้องเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ผ่านสถานการณ์อันตราย เช่น ไปในพื้นที่ที่มีปัญหาการสู้รบ ติดตามปัญหาการปักปันเขตแดน ไทย-มาเลเซีย หรือเข้าพื้นที่ชายแดน ยุวดียืนยันว่า ไม่ได้รู้สึกกลัว หรือคิดว่าความเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรคในการทำงาน  เพราะถือว่าเป็นนักข่าว ตั้งใจมาทำประโยชน์ให้คนในพื้นที่  และไม่ได้มีอาวุธ  อีกทั้งแต่ละครั้งที่ไป จะมีทีมงานไปด้วย

ทว่าการทำข่าวสายการเมือง ความมั่นคง  ทำให้ชื่อของ ยุวดี เป็นที่รู้จักของสื่อมวลชนและแหล่งข่าว โดยเฉพาะทหารและนักการเมือง ด้วยบุคลิกที่เป็นคนพูดจาตรงไปตรงมา กล้าพูดกล้าถาม กล้าชน ไม่ว่าจะเป็นยุครัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลพลเรือน เธอเริ่มเข้ามาเป็นนักข่าวสายทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2514 หรือช่วงปลายๆ รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

รัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจ สมัยก่อนจะออกกฎระเบียบต่างๆ เชิญบรรณาธิการมารับฟังเรื่องการสื่อสารออกไป สมัยก่อนการสื่อสาร ไม่ได้ไวเหมือนสมัยนี้ มีการขอตรวจข่าว สื่อก็ให้ความร่วมมือ เราก็มองในแง่ว่าเราเป็นคนไทย ต้องนึกถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเหมือนกัน แต่ถ้าฝ่ายที่ยึดอำนาจทำอะไรเกินเลย เราก็ต้องเตือน ว่ายูทำเกินไปแล้วนะ จะเห็นว่าบางยุค สื่อไม่ลงข่าวเลย เป็นการบอกว่า ทำเกินไปแล้วนะ  คือ เรามองว่าจะทำให้ประชาชนขาดสิทธิเสรีภาพหรือเปล่า เพราะถ้าสื่อไม่มีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอ ประชาชนก็จะไม่ได้รับรู้อะไรเหมือนกัน แต่ยุคก่อนๆ บางทีเขาก็ไม่แคร์สื่อนะ”

การทำหน้าที่สื่อมวลชน นอกจากการรายงานตามข้อเท็จจริงแล้ว หลายครั้งที่สื่อมีส่วนในการช่วยผลักดันการทำงานของรัฐบาล ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เช่น การ จัดซื้อเครื่องบิน F-16 ฝูงแรกของกองทัพอากาศไทย ปี 2531 ในสมัยของ พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. สื่อมวลชนได้มีส่วนช่วยผลักดัน ด้วยการเขียนข่าวให้เห็นถึงความจำเป็น และประโยชน์ของประเทศ ยุวดีบอกว่า เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง เพราะถือเป็นยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุด และจำเป็นในตอนนั้น ในยุคสงครามเย็นที่มีการเปรียบเทียบอำนาจทางการรบด้วยการมีฝูงบิน

นอกจากชีวิตการทำงาน  ในอีกด้านหนึ่งชีวิตความรัก คู่ชีวิตของ เจ๊ยุ คือ พล..สิริชัย ธัญญสิริ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เธอยืนยันว่า แม้สามีจะนายทหารระดับสูง และเธอเองเป็นนักข่าว แต่ก็แยกแยะเรื่องงานของตัวเอง กับงานของคนใกล้ตัว งานของคนใกล้ตัวเราก็เป็นส่วนของเขา เราต้องแยกแยะ เราไม่เคยไปเอาข้อมูลหรือความลับมาเผยแพร่ เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง เรารู้ว่าอะไรที่ควรจะเสนอ อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ  ไม่ใช่สิ่งที่จะไปเขียนเพื่อให้ข้าศึกได้ประโยชน์ บางทีไปสัมภาษณ์ ผู้ใหญ่บอกทำไมไม่ถามแฟนเราล่ะ เราบอกไม่ถาม ถึงเราจะถาม เราก็ไม่บอก เพราะข่าวมันต้องชัดเจน อ้างแหล่งข่าวที่ถูกต้อง เขียนผิดไม่ได้ เพราะความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ

ยุวดีประจำอยู่สายทำเนียบรัฐบาลนานกว่า 40 ปี จนถูกยกเป็น “เจ้าแม่ทำเนียบรัฐบาล” เจ้าตัวบอกว่า เป็นฉายาที่สื่อมวลชนรุ่นน้อง รุ่นหลัง ตั้งให้ด้วยความที่เป็นอาวุโสและอยู่นาน หลายๆคนบอกว่า เป็นคนดุ แต่เมื่อได้รู้จักก็จะเข้าใจว่า เป็นคนบุคลิกตรงไปตรงมา ที่ผ่านมาจะคอยช่วยเหลือสื่อรุ่นน้องๆ  มีทั้งแนะนำ อบรม ตักเตือน ทั้งในเรื่องการทำข่าว การแต่งกาย หรือการปฏิบัติตนในสถานที่ราชการ แม้แต่การช่วยสอดส่องคนแปลกหน้าที่เข้ามาในทำเนียบรัฐบาล นักข่าวรุ่นใหม่มีเยอะมาก เพราะสื่อมีเยอะขึ้นด้วย ทั้งสื่อหลัก สื่ออิสระ มีนักข่าวเยอะแยะไปหมด การทำงานแตกต่าง สะดวกกว่ารุ่นเรา เพราะมีพีอาร์ คอยเอาข่าวมาแจกให้ แต่สิ่งที่เห็นคือ ข่าวเจาะ ข่าวเชิงลึกอะไรต่างๆ หายไป มันกลายเป็นเหมือนๆกันไปหมด ดูน่าเบื่อ เพราะอ่านฉบับไหนก็ได้ ดูช่องไหนก็ได้  เรื่องข่าวบางทีก็อยากเห็นความแตกต่าง อยากให้มีข่าวเจาะ ข่าวที่แตกต่างกันในมุมมอง หรือประเด็นที่นำมาเล่นมากขึ้น

แม้จะเป็นนักข่าวมากประสบการณ์ แต่ยุวดี ก็เหมือนหลายๆคนที่มีต้นแบบในการทำงาน  โดยจะเรียนรู้รูปแบบการทำงานของหลายๆคน  ประทับใจใครในมุมไหน นำมาปรับใช้กับตัวเอง เช่น จิรภา อ่อนเรือง สมศรี ตั้งตรงจิตร บัญญัติ ทัศนียะเวช เป็นกลุ่มนักข่าวหญิงรุ่นบุกเบิก เราชอบคนทำข่าวที่มีสไตล์การถามข่าวตรงไปตรงมา หรือแม้แต่แหล่งข่าวบางคน ก็เป็นเหมือนไอดอล เช่น ปู่เสริม วินิจฉัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนให้สัมภาษณ์จะต้องมีอบรม เลคเชอร์ ให้ความรู้ในประเด็นที่จะถาม ข้อมูล  สื่อมาทำข่าวแต่ก็ได้ความรู้ไปด้วย” 

นักข่าวน้อยคนที่จะทำงานที่เดียวไปจนเกษียณ ยุวดี คือหนึ่งคนในจำนวนนั้น เธอทำงานที่บางกอกโพสต์ได้ยาวนาน เพราะรักในความเป็นครอบครัว ทุกคนนับถือ และให้เกียรติในการทำงานซึ่งกันและกัน แม้จะพ้นวัย 60 ที่ทุกคนมองว่าควรพักผ่อนอยู่บ้าน กระนั้นเธอยังทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวฟรีแลนซให้ต้นสังกัดเก่าที่ออกเอกสารรับรองให้ ทว่าหน้าที่รับผิดชอบลดลง เป็นการดูข่าวทั่วๆไป เพราะมีนักข่าวรุ่นน้องมาดูแลประจำแทน จนวันหนึ่งทำเนียบรัฐบาลที่เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง มีการออกระเบียบไม่ให้นักข่าวที่ไม่มีสังกัด และนักข่าวฟรีแลนซ์เข้าไปทำข่าวภายในทำเนียบรัฐบาล  แม้จะมีข้อกังขาว่า เป้าประสงค์ที่แท้จริง คือ ต้องการเจาะจงไปที่นักข่าวรุ่นลายครามที่เปรียบเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของทำเนียบรัฐบาลหรือไม่  ผลพวงจากวันนั้น ยุวดีตัดสินใจไม่เข้าไปทำเนียบรัฐบาลอีก

นักข่าวก็แค่อาชีพหนึ่ง เราให้ความสำคัญกับแหล่งข่าว แต่บางครั้งบางคนก็พยายามจะกด แสดงออก พูดจาแบบไม่แคร์สื่อ ทำให้สื่ออึดอัด พูดง่ายๆ คือ เราก็เป็นคนที่ถือเรื่องแบบนี้ เมื่อทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มีความรับผิดชอบ ถ้ามีใครทำเหมือนไม่ให้เกียรติการทำงานของเรา เราก็ไม่โอเค ทุกวันนี้  ที่ยังคงทำงานข่าวอยู่ เพราะอยากทำ มีความสุข การทำงานทำให้คนอายุยืน คนที่บอกว่า แก่แล้วควรเลี้ยงหลานอยู่บ้าน คนที่พูดแบบนี้ คือ คนโง่ พูดตรงๆ นะไม่ใช่แค่สื่อ ว่าอายุ 60 แล้วต้องหยุด ข้าราชการที่เกษียณ ถ้าเขายังมีความคิดอ่านที่กว้างไกล เป็นประโยชน์ต่อชาติ ก็ต้องให้เกียรติความคิดกัน อย่าไปดูถูกกัน  คนที่กลัวนักข่าวอายุมาก มีแค่พวกธุรกิจมืด พวกวัวสันหลังหวะเท่านั้น ที่กลัวเขาจะรู้ทัน นักข่าวอาวุโสคนดังระบายความเห็น

การห้ามสื่อที่เป็นฟรีแลนซ์เข้า ไม่เป็นไร ไม่ให้เข้าก็ไม่เข้า เราจะอยู่ตรงไหนก็สามารถทำงานได้ สักวันหนึ่งเราก็คงต้องยุติอยู่แล้ว แล้วแต่ว่าร่างกายเราทำได้แค่ไหน เธอย้ำทิ้งท้ายว่า การเป็นนักข่าว จากสิ่งที่เราไม่เคยชอบเลย แต่พอเรามาทำแล้ว เราชอบ เพราะมันเป็นการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำให้ชาติบ้านเมือง นักข่าวไม่ใช่พวกใคร ไม่ใช่พวกของนักการเมือง และชาติบ้านเมืองไม่ใช่ของใคร นักการเมืองมาแล้วก็ไป แต่ชาติบ้านเมือง ประชาชนต้องคงอยู่ ทุกคนต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันผลักดันให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า มากกว่าจะมาคิดว่าคนนั้นเก่งกว่าคนนี้ เอาอะไรมาวัดกัน

 

RELATED ARTICLES