“วันนี้ผมมององค์กรตำรวจกลับไปแล้ว เหมือนไม่ใช่หน่วยงานที่ผมรู้จัก”

ดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ในวัยที่ล่วงเลยมา 80 เศษแล้ว แต่ร่างกายยังแข็งแรง ความทรงจำยังเป็นเลิศสามารถถ่ายทอดเรื่องราวแห่งตำนานนักสืบรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่เก็บไปใช้เป็นวิทยาทานไม่มากก็น้อย

พล.ต.ท.จารึก เมฆวิชัย ทายาทผู้พิพากษา เกิดจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ต้องตามพ่อไปโตจังหวัดพิจิตร เข้าเรียนประถมโรงเรียนดรุณศาสตร์สงเคราะห์ กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินทิ้งระเบิดสะพานหิน ต้องย้ายกลับมาบ้านแปดริ้ว เป็นลูกศิษย์วัดหลวงพ่อโสธร แล้วย้ายมาต่อโรงเรียนอำนวยศิลป์ ปากคลองตลาด รุ่นสุดท้ายก่อนแพแตกโรงเรียนถูกยุบเลยขยับมาเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์

พอจบมัธยม 8 เคยตั้งใจอยากเป็นผู้พิพากษาตามแบบพ่อ สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวะพลิกผันโรงเรียนนายร้อยตำรวจเปิดรับสมัคร เบนเข็มเข้าสู่รั้วสามพรานเป็นรุ่นที่ 12 บรรจุเป็นรองสารวัตรปกครอง สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา พักเดียวทะเลาะกับนายถูกย้ายไปชายขอบนครบาลประจำโรงพักประเวศ

เจ้าตัวย้อนความหลังว่า สมัยนั้นเป็นกองกำกับการนครบาลที่ 11 ผู้กำกับดันมีปัญหาไม่ลงรอยกับท่านสุวรรณ รัตนชื่น ตอนนั้นเป็นสารวัตรใหญ่ เรื่องคดีรถแท็กซี่ชนผู้หญิงจูงเด็กเดินถนนในตรอกจันทน์ เด็กตาย เราทำสำนวน ผู้กำกับให้ช่วยแท็กซี่ เราบอกไม่ได้ ให้เหตุผลว่า มีข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ ที่สำคัญรายงานสารวัตรใหญ่ไปหมดแล้ว บิดพลิ้วอะไรไม่ได้ ถึงโดนแทงสำนวนยับ ก่อนถูกย้ายไปอยู่ที่ประเวศ สมัยก่อนไปได้ 2 ทาง ถ้าไม่ขึ้นรถไฟจากสถานีมักกะสันไปลงสถานีทับช้างแล้วนั่งเรือต่อก็ต้องไปลงเรือหางยาวที่ท่าพระโขนง ไม่มีทางรถวิ่ง

ปีเดียวได้ย้ายลงเป็นรองสารวัตรแผนก 2 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม พล.ต.ท.จารึกยอมรับว่า ไม่รู้เหตุผลเหมือนกันที่ทำไมตัวเองโดนไปกองปราบปราม ทำงานอยู่สามยอด จนท่านเยื้อน ประภาวัต มาเป็นผู้บังคับการได้ปรับโครงสร้างใหม่ ทำให้ย้ายสลับมารับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีส่วนสืบสวนไขคดีสำคัญที่คนร้ายฆ่าเด็กยัดกล่องขึ้นรถไฟไปทิ้งจังหวัดเชียงใหม่ “กล่องกระดาษถูกเผาไปหมดแล้ว ดีที่ตำรวจเชียงใหม่ถ่ายรูปเก็บไว้ ติดตัวอักษรคล้ายบาร์โค้ดสมัยนี้ เราก็เอาไปเปรียบเทียบกับท่าเรือถึงรู้กว่ากล่องมาจากไหน เป็นคดีใหญ่คดีแรกที่ผมทำ”

ระหว่างนั้นมีโอกาสบินไปเรียนวิชาการบริหารงานตำรวจที่ญี่ปุ่น วิชาการบริหารงานตำรวจและการสืบสวนที่กรมตำรวจวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย และหลักสูตรสืบสวนของเอฟบีไอรุ่น 83 ประเทศสหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นสารวัตรแผนก 2 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม เกิดคดีระเบิดเครื่องบินคาเธ่ย์แปซิฟิค เที่ยวบิน 700 Z ออกจากท่าอากาศยานดอนเมืองมุ่งหน้าท่าอากาศยานไคตั๊กเกาะฮ่องกง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2515 ทำผู้โดยสาร 71 คน รวมไปถึงลูกเรือ 10 คนเสียชีวิตทั้งหมด

สารวัตรจารึกเข้าไปมีส่วนสืบสวนร่วมกับตำรวจฮ่องกงและอังกฤษพบผู้ต้องสงสัย คือ ร.ต.ท.สมชาย ไชยสุต ได้ทำประกันการท่องเที่ยวจำนวน 5.5 ล้านบาท แก่นางสมหวัง พรหมพิน เมียสาววัย 20 ปีที่มิได้จดทะเบียนสมรส กับลูกสาวอายุ 7 ขวบที่กำลังเดินทางไปช้อปปิ้งเกาะฮ่องกง การสืบสวนพบระเบิดซีโฟร์ถูกวางไว้ใต้ที่นั่งติดกับเด็กน้อยเหยื่ออำมหิต มีหลักฐานการซื้อระเบิดพลาสติกจากเพื่อนตำรวจด้วยกันของร้อยตำรวจโทผู้ต้องสงสัยไปประกอบใส่กล่องเครื่องสำอางสีดำของนางสมหวังนำขึ้นเครื่องบิน

“ผมทำเต็มที่ รวบรวมหลักฐานจับกุมเข้าไปสู่คณะรัฐมนตรีหารือว่าจะใช้มาตรา 17 หรือไม่ ผมเองก็เป็นคนที่ได้เข้าไปประชุมด้วย มั่นใจหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่มีประจักษ์พยาน ผมบอกเลยว่าคดีนี้จะหลุดได้ก็ต่อเมื่อศาลบอกว่า ไม่มีประจักษ์พยาน เพราะว่าผู้ต้องหาฆ่าเอาประกัน คนก็ตายหมดทั้งเครื่องจะเอาประจักษ์พยานที่ไหน ปรากฏว่า ศาลทหารกลางยกฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ยก แม้เชื่อว่า เป็นการวางระเบิด แต่พิสูจน์ไม่ได้”

พล.ต.ท.จารึกเล่าว่า เราตามสืบสวนถูกทาง หลักฐานแวดล้อมได้มาหมดทุกอย่างเลย แม้กระทั่งครูยังยอมลงมาเป็นพยานยืนยันว่า ที่ว่ารักลูกรักหลาน ความจริงไม่ใช่ ผู้ต้องหาเคยตบหน้าลูก เคยกระชากแว่นตาลูกออกมา แล้วเหยียบทิ้ง มีพยานที่เกี่ยวกับการไปปรึกษาเรื่องการที่จะทำระเบิด พยานแวดล้อมเราได้หมด คณะรัฐมนตรีเชื่อ แต่ศาลไม่เชื่อ ถือเป็นคดีที่ทำแล้วผิดหวังไม่ประสบความสำเร็จในการนำผู้ต้องหามาลงโทษ

หลังจากนั้นเขาย้ายเป็นสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ขึ้นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จับนักเรียนแพทย์ฆ่าหั่นศพแหม่มนางแบบที่เพิ่งออกจากคุกกลับมาก่อเหตุซ้ำเป็นข่าวโด่งดังในยุคก่อน เสร็จแล้วขึ้นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ เป็นผู้กำกับการประจำสันติบาล ขึ้นรองผู้บังคับการกองวิชาการ  พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจเห็นว่า มีความสามารถเสนอเลื่อนขึ้นเป็นผู้การกองวิชาการ

อยู่ตำแหน่งนาน 4 ปี  พล.ต.ท.จารึกบอกว่า ไม่ได้ทำคดีอาชญากรรมเลย อยู่ฝ่ายวิชาการตลอด  เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจคนแรกที่ไม่มีปริญญา แต่ว่าเป็นผู้การกองวิชาการนานถึง 4 ปี เพราะสมัยนั้นถ้าจะเป็นผู้บังคับการกองวิชาการ ต้องมีปริญญาทางด้านกฎหมาย จนอธิบดีณรงค์เกษียณ พล.ต.อ.เภา สารสิน ขึ้นมาแทน ขอย้ายตัวเอง “ท่านเภาบอกว่า แล้วท่านจะไปเชื่อใคร ไม่มีคนทำงาน เพราะผมไปวางระบบของกองวิชาการใหม่ ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงปรึกษาว่า ทำได้หรือไม่เท่านั้น ต้องบอกว่า ถ้าทำไม่ได้ เพราะอะไร แล้วถ้าจะทำให้ได้ ต้องทำยังไง อธิบดีเลยชอบ”

ปี 2532 ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ปีเดียวกลับมาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลโรงเรียนตำรวจนครบาลควบคุมผู้ชุมนุมที่ทหารขนขึ้นรถจีเอ็มซีเข้ามาหลายร้อยคน อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลสารภาพว่า เห็นนิสิตนักศึกษา สื่อมวลชนก็มี ถูกกวาดต้อนมาแน่นพื้นที่ ต้องติดต่อมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งขอสนับสนุนน้ำอาหารมาดูแล ตกกลางคืนก็ไปเดินสำรวจ และพูดคุยเสร็จเรียบร้อยก็สะกิดเอาตัวออกไป 40-50 คน เพราะไม่มีบัญชีรับ

กระทั่งเหตุการณ์สงบ เขากลับโดนเสนอย้ายเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และรองผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 พื้นที่ภาคเหนืออีกปีถัดมา กว่าจะพ้นมรสุมต้องรอ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ทาบทามให้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง “สัมผัสแรก พบในหน่วยมีปัญหามากเหลือเกิน แต่ผมไม่ถึงกับล้างระบบ เพราะหักพร้าไม่ไหว ทำไม่ได้ แค่ผมบอกในที่ประชุมว่า พวกคุณเคยทำงานกันยังไง ก็ทำงานกันอย่างนั้นไป ขออย่างเดียวว่า อย่าไปเรียกร้อง นั่นคือ ประการที่ 1 แล้วประการที่ 2 ไม่ต้องเผื่อมาถึงผม”

“ มันจะได้เบาๆ หน่อย” อดีตผู้นำหน่วยตรวจค้นเข้าเมืองมองแบบนั้น ถึงกระนั้น ลูกน้องแต่ละคนก็ไม่ค่อยพอใจ เพราะไม่สะดวกเหมือนเมื่อก่อน เหมือนบ่อทองของเขาถูกทำลาย พอ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา ขึ้นนั่งอธิบดีกรมตำรวจ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นน้องเลยถือโอกาสย้ายรุ่นพี่ไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 นาน 3 ปีถึงเกษียณอายุราชการ เมื่อย้อนคิดถึงวั้นนั้น เขาไม่โกรธที่ถูกย้ายจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และขอบคุณด้วยซ้ำที่ทำให้รู้จักพื้นที่ภูธรภาค 6   ได้ตามถวายงานอารักขารักษาความปลอดภัยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนราษฎรอยู่เป็นประจำ

ปีสุดท้ายก่อนจะเกษียณ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อธิบดีกรมตำรวจ ยังขึ้นมานั่งกินข้าวพยายามทาบทามให้ขึ้นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ พอเกษียณจะได้ขอพระราชทานยศ พล.ต.อ. “ ผมปฏิเสธ บอกไปว่า ถ้าเป็นพล.ต.อ.เกษียณแล้วพลตำรวจมันก็เดินชน ไม่มีความหมายอะไร ให้ผมทำงานไปจนกระทั่งจบตรงนี้ดีกว่า ยังจะช่วยองค์กรได้มากกว่า” จวบจนวันนั้นถึงปัจจุบันนี้ผ่านไป 20 กว่าปีแล้ว “วันนี้ผมมององค์กรตำรวจกลับไปแล้ว เหมือนไม่ใช่หน่วยงานที่ผมรู้จัก มันเปลี่ยนไป ทั้งคน ทั้งคอนเซ็ปต์ แต่ผมไม่โทษเด็กๆ นะ ผมโทษผู้ใหญ่ ความเสียหายขององค์กรตำรวจ สืบเนื่องจากมาจากเริ่มต้น คือ การที่เอาบรรดาผู้ที่อยู่ในสตาฟฟ์ ตั้งแต่เป็นเด็กๆ โตเป็นนายพล เอาขึ้นมาอยู่ในฝ่ายบริหาร”

“อยู่ฝ่ายบริหารอย่างเดียวไม่พอ ไปเป็นฝ่ายป้องกันปราบปรามด้วย ทั้งที่ตัวเองไม่ได้รู้เรื่องอะไร พอไปเป็นใหญ่ ก็อยากจะรู้อยากจะแสดง แทนที่จะปล่อยให้เป็นงานของเด็ก กลับเอาเป็นงานของตัวเอง ออกมาแถลงข่าวซะทุกอย่าง วุ่นวายไปหมด เมื่อก่อนไม่เคยมีแบบนี้เลย” พล.ต.ท.จารึกขยายภาพกับฉากที่เห็นในองค์กรเก่ายุคปัจจุบัน

เจ้าตัวเปรียบเทียบเหตุการณ์พบวัตถุต้องสงสัยในสถานกงสุลอิรัก ประจำประเทศไทย ท้องที่จักรวรรดิ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2525 อธิบดีณรงค์ มหานนท์ นั่งอยู่ห้องทำงานฟังรายงานตามขั้นตอนตั้งแต่พบวัตถุต้องสงสัย ตรวจสอบแล้วเป็นวัตถุระเบิด ผู้นำปทุมวันแค่พยักหน้ารับทราบ รอจนมีฝ่ายเก็บกู้ระเบิดมาปฏิบัติหน้าที่ ท่านก็ยังเฉย มาลุกพรวดอีกทีตอน พ.ต.ท.สุรัตน์ สุมานัส หัวหน้าที่กู้ระเบิดพลาดท่าจนเกิดระเบิดสนั่นพังทั้งตึกถึงเดินทางไปที่เกิดเหตุ

“นั่นคือ ผู้ใหญ่สมัยนั้นที่รู้ว่า เหตุการณ์อย่างไร แค่ไหน ถึงจะออกมา  ถ้าไม่จำเป็น ผู้บังคับบัญชาระดับล่างมีอยู่ ปล่อยให้ทำไป สมัยนี้ ผมเห็น ขอโทษนะ พล.ต.อ.ทำตัวอย่างกับสารวัตรใหญ่สมัยก่อน ผู้กำกับนครบาลยุคก่อนยังไม่ออกมาขนาดนี้ ผู้การกองปราบยังไม่โชว์ขนาดนั้น  ต้องกรณีที่เจ๋งๆ ใหญ่จริง ถึงลงไป ผิดกับปัจจุบัน คดีอะไร พล.ต.อ.ก็มา แล้วเด็กจะไปทำอะไร เด็กจะไปเอาหน้าที่ไหน ผมเป็นสารวัตรใหญ่ ผมยังไม่แถลงข่าวเลย พอมีแถลงข่าว  ผมจะชี้ให้นักข่าวไปถามคนนั้น คนนี้ที่ทำเอง คนทำงานเขาก็จะมีกำลังใจ อยากจะทำงาน และเป็นการฝึกงานให้เขาด้วย”

อย่างไรก็ตาม นายพลตำรวจโทวัย 81 ปี ชมเชยว่า ส่วนดีของตำรวจยุคใหม่มี เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปิดคดีให้ได้เร็วขึ้น ต่างจากสมัยเก่ากว่าจะสืบได้แต่ละคดีต้องวางสาย ไปอะไรต่ออะไรสารพัดอย่าง ปัจจุบันมีทั้งคลิป ทั้งวงจรปิดช่วยได้  ไม่ใช่พวกเขาไม่มีฝีมือ ทุกอย่างพัฒนาไปตามความเจริญของเทคโนโลยี ส่งผลดีกับประชาชน แต่จะเราไปสอนอะไรคงไม่ได้ เพราะคอนเซ็ปต์คนละอย่างกันแล้ว เราพูดไป ก็เป็นแบบคนโบราณ โลกมันพัฒนาไปแยะแล้ว  รุ่นปู่อย่ามาคิดอย่างนี้อย่างนั้นเลย

“แต่สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ ตำรวจเราต้องพึงวรณ์ว่า ชาวบ้านไม่ชอบตำรวจแค่ไหน ผมเป็นตำรวจมาตั้งแต่ปี 2502 ผมไม่เคยเห็นว่า คนจะเกลียดตำรวจได้เหมือนยุคนี้ ใช้คำว่า เกลียดเลย เมื่อรู้ตัวว่า คนเกลียด ทำไมไม่ทำตัวให้มันน่ารักขึ้นมาบ้างล่ะ ไม่รู้ตัวบ้างหรือ จะบอกจะเตือนอะไรไป ก็เปล่าประโยชน์ น่าจะคิด น่าจะช่วยกันทำบ้าง ควรจะต้องมีความคิดอยู่ว่า ทุกวันนี้ ใครๆ ก็มีกล้องทั้งนั้น เอ็งจะไปทำอะไร ตบตี รีดไถ อะไรยังไง อยู่ในกล้องหมดทุกอย่าง ปฏิเสธไม่ออก แล้วนายก็จะต้องช่วยอย่างอ้อมแอ้ม ทำไปทำไม” พล.ต.ท.จารึกแสดงความเห็น

อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 แนะว่า อาจจะถูกหรือผิด ไม่รู้ แต่ปัจจัยที่ตำรวจรีดไถชาวบ้านมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ชาวบ้านไม่พอใจ คือ การตั้งด่านจับเรื่องจราจร แล้วตั้งได้ทุกข้อหา จับผิดเยอะ เพื่อที่จะเอาเงินส่วนแบ่ง ส่วนตัวไม่เคยเห็นด้วยเลย เรื่องเงินส่วนแบ่ง ถือเป็นการส่งเสริมให้ตำรวจทำผิด ไม่ใช่ว่าทำให้ตำรวจไม่ไปรีดไถ ยิ่งเอาโดยถูกต้องตามกฎหมายด้วย น่าจะเลิกอันนี้ “ตำรวจอาภัพตรงนี้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นเฉพาะตำรวจไทยนะ มันเป็นไปหมดทั่วโลก ด้วยอาชีพที่ต้องไปจับคนทำผิด ย่อมมีคนไม่พอใจอยู่แล้ว แล้วคนที่ไม่พอใจไม่ใช่เฉพาะคนถูกจับ ทั้งญาติพี่น้องขยายเป็นวงกว้าง หากยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิด มันก็จบ แต่บางคนไม่ยอมรับ”

“ขณะที่ฝ่ายตำรวจบางทีก็แกล้งเกินไป ถึงเป็นปัญหา” เจ้าตัวทิ้งท้าย

จารึก เมฆวิชัย !!!  

 

 

 

RELATED ARTICLES