“มันจำเป็นต้องปฏิรูปโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ไม่ใช่ปฏิรูปแบบว่า ยุบโรงเรียน”

ความฝันไม่จำเป็นต้องก้าวถึงบันไดสูงสุดของเก้าอี้อำนาจ

ทำให้วันนี้ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย สามารถขยับสู่ฝันของอาชีพตัวเองสำเร็จแล้ว เพียงแค่ได้รับโอกาสเข้ามานั่งเป็น “ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ” ถิ่นเก่าในรั้วสามพรานเพื่อบริหารงานสถาบันอันทรงเกียรติภูมิของเหล่าสีกากีให้ดีสมศักดิ์ศรีขึ้นกว่าเดิม ตามวิสัยทัศน์ที่เลือกผสมผสานอดีตกับปัจจุบัน เพื่อวาดภาพฉาบสีให้แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจออกไปเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ดีในอนาคต

นายพลอดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจที่ 1 ประจำรุ่น 38 ดีกรี “ด็อกเตอร์” กำลังถือ “ไม้คอนดักเตอร์”ในบท “ครูใหญ่” บรรเลงเนื้อเพลงคลาสสิกที่ท้าทาย ทิ้งไว้เป็นเกียรติประวัติแก่ถิ่นสามพราน สร้างจิตวิญญาณความเป็นตำรวจให้รุ่นน้องออกไปทำงานรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง

 

มุ่งมั่นตามหาความฝัน สักวันจะเป็นใหญ่ในรั้วโรงเรียนเก่า

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย นายพลตำรวจหนุ่มมุ่งมั่นเตรียมตัวจะมาแสดงวิสัยทัศน์คัดเลือกชิงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน เจ้าตัวยอมรับว่า ความคิดครั้งนั้นก็ยังเหมือนครั้งนี้ แม้จะเลื่อนเป็นผู้บัญชาการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ติดยศ พล.ต.ท.แล้วก็ยังอยากจะมาทำงานที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ คิดว่า หากเป็นคนอื่นคงไม่เอาแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่จะเลื่อนขึ้นมากกว่า

“มันเหมือนเรารักผู้หญิงคนหนึ่ง มันรักไม่เปลี่ยนแปลง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มันไม่ต่างกับคนเป็นตำรวจตระเวนชายแดนที่ในชีวิตหนึ่งก็อยากเป็นผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนโดยไม่ได้อยากเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผมก็มีความคิดแบบนี้แล้วตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เข้ามาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ทุกตำแหน่งมีความฝัน เช่น พอเข้าโรงเรียนนายร้อย เห็นว่า ตำแหน่งหัวหน้านักเรียน ใส่หมวกแดง มันน่าเป็นนะ เหมือนนักกีฬาได้คล้องเหรียญรางวัล ก็ได้แชมป์กีฬาเหล่า หัวหน้านักเรียนปกครองคนก็เป็นแล้ว”

“จบมายังคิดว่าตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียน ผมก็อยากจะทำ ความคิดไม่เคยเปลี่ยน คิดตั้งแต่เป็นนักเรียนว่า อยากให้โรงเรียนเป็นแบบนี้ ถ้าได้เป็นผู้บริหารเราจะทำแบบนี้ เพราะผมเห็น ผมมองทะลุหมด มันชัดเลย ไม่ต้องฝึกงาน เพราะผมไม่เคยห่างจากโรงเรียน ทำกิจกรรมตลอด ฟุตบอลก็ยังเป็นโค้ช สอนหนังสือ ทำมากว่า 30 ปี ผมมองว่า ที่นี่มันมีบางอย่างต้องอาศัยความกล้าที่จะไปชนโน่นนี่เพื่อให้อะไรมันดีขึ้น” พล.ต.ท.ปิยะ เริ่มระบายความตั้งใจ

ภูมิใจในอดีต-ทุ่มเทปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต

รักษาการผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจยกตัวอย่างได้ขออนุญาตไปคุยกับผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน  และอธิบดีกรมบัญชีกลาง ที่สำนักงบประมาณ เกี่ยวกับงบประมาณของโรงเรียนนายร้อยตำรวจตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สมัยก่อนจะทำหนังสือถาม พอได้ไปเจอหน้าพูดคุยกันแค่ 10 นาที ทุกอย่างเรียบร้อย ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย เพราะหารือปรึกษากันให้ตรงประเด็น

พล.ต.ท.ปิยะบอกว่า หลายอย่างของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หากเรารักและเห็นมันก็จะเจอปัญหาและแก้ได้ มีหลักการอยู่ 3 เรื่อง คือ อะไรที่เป็นของเก่าของดีต้องอนุรักษ์ เราใช้คำว่า ภาคภูมิใจในอดีต แต่บางอย่างที่มันไม่ถูกไม่ต้องไม่ควร ก็ต้องแก้ไข จากนั้นทุ่มเทกับปัจจุบัน ทำทุกอย่างในวันนี้ให้ดีที่สุด อันสุดท้าย คือ สร้างสรรค์อนาคต เราต้องมองไปอนาคต โรงเรียนนายร้อยตำรวจในอีก 5 ปี ต้องเปิดประตูสู่อาเซียน เต็มๆ วันนี้เรามีนักเรียนนายร้อยต่างชาติมาอยู่ 3-4 คน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเรายังเป็นภาษาไทยหมด  สั่งแถว หรืออะไรก็เป็นภาษาไทยหมด ขณะที่ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หรือโรงเรียนเตรียมทหาร เขาฝึกคอบบร้าโกลด์ เขาฝึกกับฝรั่ง เขาก็ต้องใช้ภาษาฝรั่ง

อดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจอันดับ 1 ของรุ่นวางแผนแก้ปัญหาแล้วว่า ทุกวันนี้ หลัง 6 โมงเย็น นักเรียนนายร้อยตำรวจที่มาเข้าเวร ต้องรายงานตัวด้วยภาษาอังกฤษหมด เราเริ่มแบบนี้ แล้วในโทรศัพท์มือถือก็จะมีแอพพลิเคชั่นเป็นภาษาอังกฤษ สมัยก่อนทุกคนต้องวิ่งมาที่ห้องแลป ต่อไปจะใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือช่วยในการเรียนการสอน บางอย่างถึงต้องมองไปข้างหน้า สร้างนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นใหม่ให้พัฒนาตัวเองเพื่อก้าวสู่อาเซียน ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่

 

ยึดเจตนารมณ์แน่วแน่ แม้เคยแพ้พลาดหวังเมื่อ 3 ปีก่อน

การมาแสดงวิสัยทัศน์ชิงเก้าอี้ครูใหญ่ในรั้วสามพรานของ พล.ต.ท.ปิยะ เริ่มครั้งแรกเมื่อสภาการศึกษาเปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นรองผู้บัญชาการ 1 ปีมีสิทธิขยับขึ้นได้  คราวนั้นตัวเขาผ่านในที่ประชุมสภาการศึกษา แต่กลับไม่โดนเงื่อนไขของ ก.ตร.เขาถึงสละสิทธิเปิดทางให้ พล.ต.ท.ศักดา เตชะเกรียงไกร มาเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจแทน

นายพลตำรวจโทดีกรีปริญญาเอกว่า แม้ได้เป็นผู้บัญชาการแล้วตัวเองก็ยังไม่เปลี่ยนใจ พอครบวาระตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจว่างลง จึงมาแสดงวิสัยทัศน์เหมือนเดิม “ผมมองถึงเรื่องโรงเรียนนายร้อยตำรวจมันมีประวัติศาสตร์ ต้องภาคภูมิใจในอดีต สมัยในรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านทรงสร้างโรงเรียนนายร้อยแห่งแรกที่นครราชสีมา พระองค์มีพระราชประสงค์สร้างคนที่จะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ดูแลประชาชน และไม่เคยเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจแห่งนี้”

“เจตนารมณ์ก็ยังเหมือนเดิม โรงเรียนนายร้อยตำรวจมีหน้าที่ในการผลิตนายตำรวจที่มีคุณภาพ เป็นส่วนดีของเรา แต่บางอย่างที่มันถึงเวลาต้องเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยน เช่น การใช้ภาษาอังกฤษ ความต้องเป๊ะ ตามระเบียบทหาร อาจต้องเบาลง ต้องสัมผัสประชาชนมากขึ้น เป็นวิชาชีพตำรวจมากขึ้น เราภาคภูมิใจในอดีต แต่เราก็พร้อมที่จะปรับตัวกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ที่เราเคยสอนฝึกแถว สอนเดินสวนสนามกันทั้งวันทั้งคืน  อาจเปลี่ยนเป็นวิชาชีพของตำรวจมากขึ้น”

จ่อปรับหลักการเรียนการสอน ตัดตอนเวลาในห้องเรียนให้น้อยลง

พล.ต.ท.ปิยะ เลือกปรับการเรียนการสอนใหม่ เช่น เคยไปสอนให้ฝึกยิงปืน อาจต้องเปลี่ยนเป็นหลักสูตรสุดท้าย แต่ควรสอนวิธีการเจรจาต่อรอง แบบ พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี อดีตอาจารย์ใหญ่วงการสืบสวนใช้สอนกลวิธีการสื่อสาร เพิ่มตรงนี้มากขึ้น หรืออะไรต่างๆ ที่เป็นสิ่งดีงาม เชิญอดีตนายตำรวจที่มีความรู้ความสามารถมาบรรยาย เลือกอนุรักษ์อาคารหลายอาคารที่เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจ แต่ต้องลดการเป็นทหารลง ขณะที่ความจงรักภักดีต่อสถาบันต้องเน้นเหมือน

เจ้าตัวอธิบายต่อว่า เราพร้อมจะเป็นสถาบันที่เป็นเบ้าหลอมรวมในด้านกฎหมาย นักเรียนนายร้อยตำรวจต้องเน้นฝึกวิชาชีพมากขึ้น ทุกวันนี้แทนที่จะอยู่แต่ในโรงเรียน เขาจะได้ออกไปเรียนรู้ชีวิตจริง ไปออกตรวจค้น ทำงานด้านจราจร รับเสด็จ แล้วเย็นก็กลับมา ทำแบบนี้ทุกวัน ลดเวลาในห้องเรียน แต่ไปฝึกวิชาชีพมากขึ้น

“ผมต้องไปดูงานประเทศสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์เป็นต้นแบบของการสร้างหมู่บ้านจำลอง ผมเลยเตรียมจะใช้เนื้อที่ 300 ไร่ ด้านหลังโรงเรียนให้เหมือนชุมชน เปิดโอกาสให้นักเรียนลงไปสัมผัสชีวิตชุมชนแทนการใช้เวลาในห้องเรียน เช่นเดียวกับทำเรื่องของซิมูเลเตอร์ฝึกยิงปืนบีบีกันแทนกระสุนจริงมากขึ้น  เพราะที่สิงคโปร์พิสูจน์แล้วว่า เด็กวัยเรียนอายุ 18-25 ปี จะไม่ชอบแบบนั่งเรียน เหมือนเรียนหมอ ถ้าสอนวิธีผ่าตัดดูในกระดาษ ไม่เคยได้กรีดจริงก็ไม่เกิดประโยชน์”

สร้างนักเรียนนายร้อยรุ่นใหม่ พูดได้หลายภาษาแถมมีปริญญาอีกใบ

ครูใหญ่โรงเรียนนายร้อยสามพรานตอกย้ำว่า ขอทุ่มเทกับปัจจุบัน และเสริมสร้างอนาคต เป็นสิ่งที่เรามองไว้ คือ การสามารถทำงานร่วมกับคนข้างนอกได้ดีมากขึ้น โรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่ได้มีหน้าที่ผลิตให้ได้นายตำรวจตามเป้าหมายภารกิจปีละ 1,00 กว่าคน แต่เราต้องสามารถผลิตผู้ที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้  ทำงานให้เข้าชาวบ้านได้ อาจจะฝึก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน ไม่มีปัญหา ตรงนี้คือ สิ่งที่สร้างสรรค์อนาคต เช่นเดียวกับการเรียนรู้เรื่องรูปแบบอาชญากรรมกำลังเปลี่ยนไปหมดแล้ว เราต้องคุยกับอาเซียน คุยกับต่างชาติมากขึ้น นักเรียนนายร้อยตำรวจต้องเรียนแบบนั้น ภาษาที่ใช้ ไม่ได้แค่ภาษาอังกฤษ ต้องมีภาษาที่ 3 เช่น ภาษาจีน ภาษาอาเซียน หรือภาษาอื่น

พล.ต.ท.ปิยะเล็งเห็นว่า เพราะฉะนั้นโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะเป็นเหมือนไปอยู่โรงพัก 3-4 คน พอเราสร้างคนรุ่นใหม่อย่างนั้นออกไป เขาเหล่านั้นจะเป็นรากฐานที่ดี ไม่กลับมาเป็นแบบเก่า เพราะ คือ ต้นของมัน เป้าหมาย คือเราไม่ได้ต้องการให้คน 2 แสนคน ทำได้ทั้งหมด แต่เราค่อยๆ ปลูก เหมือนกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทำโครงการพระราชดำริ ทรงหว่านพืชไว้ก่อน เป็นตัวอย่างให้หมู่บ้านนี้ พอหมู่บ้านนี้ทำได้ดี หมู่บ้านอื่นก็ทำตาม เหมือนกัน

“เป้าหมายของผม ถึงต้องทำ 3 ส่วน คือ ภาคภูมิใจในอดีต  ทุ่มเทกับปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคต ผมมาอยู่ตรงนี้ ไม่รู้นานแค่ไหน อาจแค่ปี 2 ปี หรือนาน 3 ปี ผมไม่แคร์ แต่ทุกวินาทีที่อยู่ ต้องทำเต็มที่ เป้าหมายหลัก คือ ผลิตคนมาเป็นตำรวจที่บังคับใช้กฎหมาย ต้องเปิดประตูโรงเรียนนายร้อยตำรวจกว้างขึ้น ไปอาเซียนมากขึ้น ต้องตอบโจทย์ เช่น ปัจจุบันเขาต้องการนักเรียนนายร้อยที่รู้กฎหมาย และมีวิชาชีพตำรวจคู่กัน คุณรู้แต่เรื่องตำรวจ ทว่าข้อกฎหมายอีกเป็นร้อยคุณไม่รู้เลยไม่ได้ คิดว่า อาจจะเรียนปีที่ 4 บวก ปีที่ 5 คำว่า ปีที่ 5 คือเป็นวิชาชีพพิเศษ นอกจากปริญญาตรีรัฐประสาสนศาสตร์ตำรวจแล้วจะได้ปริญญาตรีนิติศาสตร์ด้วย หากจบไป ถ้ารักวิชาชีพตำรวจ ก็ไม่ลำบาก ถ้าเบื่ออาชีพตำรวจ ไม่ไปเป็นตำรวจแล้วก็ยังไปทำอาชีพอย่างอื่นได้ ภาษาฝรั่ง เรียกว่า ดูโอดีกรี ได้ 2 ปริญญา นี่คือ ที่เรากำลังจะพัฒนา” พล.ต.ท.ปิยะเสนอไอเดีย

ลดโทนความแข็งกร้าว ปั่นเรื่องราวให้ก้าวตามยุคสมัย

รักษาการผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจตั้งเป้าจะลดโทนความแข็งกร้าว มาเป็นนายร้อยตำรวจตำรวจยุคใหม่ ไม่เหมือนสมัยเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ยังคงความมีวินัย คงความเป็นพี่เป็นน้อง ความรักษาระเบียบภายในโรงเรียน เช่น เวลาตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 3 โมงเย็น ฝ่ายปกครองจะต้องมี แต่หลัง 3 โมงเย็น เป็นเวลาทหาร การฝึกวิชาพละเต็มที่  จากนั้น 1 ทุ่ม – 3 ทุ่ม เป็นเวลาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เอาผู้มีความรู้จากที่ต่างๆ มาบรรยายพิเศษ กลางคืนหลัง 4 ทุ่ม สมัยก่อนต้องนอน ปัจจุบันอาจอ่านตำราก็ได้ แต่ถึงเวลาต้องตื่นไปเข้าเวร ทำภารกิจส่วนที่นักเรียนนายร้อยตำรวจต้องทำ

“บางสิ่งบางอย่างอาจผ่อนคลายลง เช่น เปิดโอกาสให้ลูกหลานตำรวจ ลูกชาวบ้าน มาเรียนยูโดตอนเย็น มีครูโรงเรียนนายร้อยตำรวจฝึกให้ เปิดสนามกีฬา เปิดสนามฟุตบอล สวนสาธารณะด้านหลังให้ชาวบ้านเข้ามาออกกำลังกายสร้างความผูกพันกับชุมชน สถานรับเลี้ยงดูแลเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนของโรงเรียนนายร้อยตำรวจอาจไม่คุ้มที่ลูกหลานตำรวจเรียน 3-4 คน ต่อไปต้องขยายให้ลูกชาวบ้านมาเรียน เขาจะได้รักตำรวจตั้งแต่เด็ก ปลูกฝังเขาตรงนั้น”

“กิจกรรมอะไรต่างๆ ที่วัดวาอาราม เคยมีอยู่ เราสามารถไปร่วมได้ ถ้าเราจัดพิธีอะไรของเรา มันก็ไม่ห่าง ทำให้นักเรียนนายร้อยตำรวจได้สัมผัสกับชาวบ้าน ส่วนทุกเย็นแทนที่จะให้เฝ้าตึก เดี๋ยวนี้ก็ให้ไปออกตรวจกับโรงพักสามพรานมากขึ้น นอกจากไปที่สามพราน ไปสนามหลวง ไปอะไรต่างๆ นี่ ยังออกสู่เวทีข้างนอกมากขึ้น คิดว่าน่าจะดีนะ ยอมรับว่า เมื่อมาอยู่ตรงนี้ บางอย่างดูทันสมัย แต่บางอย่างไม่ทันสมัย ระบบการเรียนการสอน ครูอาจารย์บางท่านยังไม่ทันต่อเกม จำเป็นต้องปรับให้ทันยุค”

เดินหน้าสมาร์ทอะคาเดมี นักเรียนมีความรู้ดีแข่งกับอาจารย์

แนวคิดของ พล.ต.ท.ปิยะขยายภาพว่า จะทำให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นสมาร์ทอะคาเดมี่ นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ครูอาจารย์สามารถตรวจการบ้านนักเรียนที่ส่งเข้ามาหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ทุกพื้นที่ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะมีสัญญาณ Wi-Fi “ผมก็สามารถตรวจห้องเรียนได้ทุกคนผ่านโทรศัพท์มือถือ ประตูทุกประตูที่ลิงก์สัญญาณจากกล้องวงจรปิด ผมก็ต้องดูได้หมด สมาร์ทอะคาเดมี่ เป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ได้ เป็นความฝันใน 5 ปีข้างหน้า เราวางฐานไว้ เด็กนักเรียนสามารถหาความรู้แข่งกับครูอาจารย์ได้ ครูอาจารย์สอนผิด นักเรียนต้องมีข้อมูลมาโต้แย้ง อาจารย์จะได้ปรับตัวเอง”

อีกโปรเจกต์ยักษ์ที่รักษาการผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจวางไว้ คือ ทำเป็นเหมือนเมืองจำลอง ชนบท หรือศูนย์การค้าอะไรต่างๆ อย่างที่เกริ่นไว้ตอนแรก เป็นความฝันที่คิดว่าในเวลา 6 ปีที่เหลือก่อนเกษียณอายุราชการของเขาอยากจะทำให้สำเร็จ เป็นแหล่งที่นักเรียนนายร้อยตำรวจ หรือแม้แต่ตำรวจที่จบไปแล้วมาฝึกทบทวนได้ ที่แห่งนี่ มีสนามยิงปืนมากที่สุดในประเทศถึง 4-5 สนาม เพียงแต่ไม่นำมาใช้งานให้ถูกระบบ เหมือนรถยนต์ไม่ขับ ไม่มีประโยชน์ แล้วถ้าขับก็ต้องขับให้เกิดคุณค่า ไม่ใช่ขับ ไม่มีทิศทาง

พล.ต.ท.ปิยะพยายามปรับงานบริหารจัดการเรื่องการหารายได้เข้ามาเป็นน้ำหล่อเลี้ยงสถาบันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องอยู่ในกรอบกติกา “อะไรก็ตามที่มันไม่ติดขัด เราก็เดินหน้าต่อ ผู้บริหารหลายคนทำไว้ดีเยอะแยะ แต่ถ้าอันไหนไม่ถูกก็ทำให้ถูกต้อง ไม่ต้องกังวล เพราะผู้บัญชาการเป็นคนเร็ว เป็นคนที่คิดได้เร็ว แต่ว่าอย่าไปกลัว อะไรที่รู้ว่า มันไม่ถูกหยุดซะแล้วเดินหน้าใหม่ เรื่องรถรา ม้าใช้ มันก็มีอยู่ แต่เราก็ต้องดูให้เข้าที่เสียก่อน”

 

แจงปมร้อนในบอร์ดสภาการศึกษา เป็นเรื่องผู้บังคับบัญชาไม่เกี่ยวตัวเอง

ส่วนกระแสที่ได้รับคะแนนโหวตจากสภาการศึกษาชุดเดิมน้อยกว่า พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นายตำรวจรุ่นพี่ก่อนได้รับการทบทวนเสนอชื่อแต่งตั้งใหม่ กระทั่งเกิดปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ พล.ต.ท.ปิยะตอบข้อค้างคาใจในประเด็นร้อนครั้งนั้นว่า กรรมการสภาการศึกษามา 14-15 ท่าน พอลงคะแนน ท่านอดุลย์ ได้ 7 คะแนน ส่วนเราได้ 6 คะแนน มีรองผู้บัญชาการอีกคนได้ 1คะแนน  หลักการคือ ต้องได้คะแนนเกิน 7 แต่พอดี จำเป็นต้องลงคะแนนครั้งที่ 2 ท่านประธานลงให้ท่านอดุลย์ ได้ คือจบตามกระบวนการ ทว่ากระบวนการแต่งตั้งของตำรวจ กฎหมายโรงเรียนนายร้อย เขียนว่า การแต่งตั้งต้องเสนอโดยสภาการศึกษา ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คู่แคนดิเดตครูใหญ่โรงเรียนนายร้อยตำรวจแจงอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายถึงตัวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องเอาชื่อไปเข้าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เช่นเดียวกับตำแหน่งของบอร์ดกองบัญชาการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีสิทธิพิจารณาได้ว่า เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบให้พิจารณาใหม่ เหตุผลตรงนี้เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน ตอนนั้นเราก็ไม่เกี่ยวข้อง หรือมีความขัดแย้งกับท่านอดุลย์ ไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน เพราะเป็นผู้บัญชาการอยู่แล้ว อารมณ์ คือ แค่อยากทำงาน เมื่อมีการให้ทบทวนใหม่ก็ไม่ขึ้นอยู่กับเรา

“ผมพร้อมทุกหน้าที่อยู่แล้ว ให้เป็นผู้บัญชาการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเหมือนเดิมก็ได้ ไม่มีปัญหา ผมเหลือเวลาอีก 6 ปี ทำอะไรก็ได้ แต่อยากทำตรงนี้ให้ดี ก็แล้วแต่ผู้บังคับบัญชา เพราะบางเรื่องมันสามารถทำเสร็จได้ภายใน 2 สัปดาห์ บางเรื่องทำได้ภายใน 6 เดือน บางเรื่องต้องวางวิสัยทัศน์ไว้ยาวๆ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนได้ 2 ปริญญา มันคงได้ไม่ทันที ต้องวางรากฐานไว้ ตอนนี้ปี 1 เขาจบปี 4 อีก 4 ปีข้างหน้าอาจจะได้ แต่3 ปีนี้ไม่ได้แน่นอน”

อยากให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ระดมนายพลรุ่นพี่มาช่วยชี้ทางเดิน       

สำหรับความฝันของครูใหญ่คนล่าสุดวาดไว้ 20 ปี โรงเรียนนายร้อยตำรวจอาจจะต้องเป็นนิติบุคคลสามารถบริหารจัดการงบประมาณได้เอง สู้เรื่องงบประมาณได้เอง ไม่ขึ้นตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะคล่องตัวกว่า เหมือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงกระนั้นยังคงความเป็นตำรวจ ผลิตให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกตัวอย่าง โรงเรียนนายร้อยตำรวจของกัมพูชาก็ไม่ได้เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ผลิตตำรวจให้แก่ทางการกัมพูชา

นายพลอดีตหัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจว่า หลายประเทศ มีหลายรูปแบบ บางรูปแบบไม่ได้เป็นโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่เป็นวิทยาลัยตำรวจ ความจริงในประเทศไทยลอกแบบโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาจากประเทศฝรั่งเศสต้องผ่านโรงเรียนเตรียมทหารก่อน เริ่มต้นจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร สังกัดกรมตำรวจภูธร ฝึกแบบทหาร ผู้บังคับบัญชาเป็นฝรั่งหมด เมื่อ 20 ปีแรกของการก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตำราเป็นภาษาอังกฤษหมด ลูกศิษย์ลูกหายุคแรกๆ ภาษาเก่ง อาทิ ท่านเยื้อน ประภาวัต ท่านเสน่ห์ สิทธิพันธุ์เพราะตำราเป็นภาษาอังกฤษ

พล.ต.ท.ปิยะ ตั้งใจจะรื้อฟื้นส่วนนี้ขึ้นมา เอาตำราประวัติศาสตร์ตำรวจทั่วโลกมาสอนเป็นภาษาอังกฤษ และให้รู้รากศัพท์ อย่างคำว่า โปลิศ แต่ทำไมคนเรียกคอปส์ เป็นยังไงมายังไง นักเรียนจะได้จำ ถ้าให้ท่อง นักเรียนจะไม่จำ ภาษาอังกฤษมีเสน่ห์ นักเรียนจะเข้าใจ เรามองว่าเป็นเรื่องดี พร้อมเชิญผู้บังคับบัญชารุ่นเก่า เช่น ท่านวรรณรัตน์  คชรักษ์ ท่านพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ท่านอดุลย์ แสงสิงแก้ว ท่านวัชรพล ประสารราชกิจ มาช่วยบรรยายช่วงเย็น

 

ปฏิรูปแนวความคิดใหม่ ปลูกฝังความแข็งแกร่งในหัวใจ

“มันจำเป็นต้องปฏิรูปโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ไม่ใช่ปฏิรูปแบบว่า ยุบโรงเรียน เป็นการทำใหม่ หาส่วนที่ขยายมากขึ้น โรงเรียนนายร้อยตำรวจเมื่อก่อนฝึกตำรวจเพื่อไปเป็นตำรวจแบบทหาร พัฒนาขึ้นสู่การเป็นโรงเรียนนายร้อยตำรวจกึ่งมหาวิทยาลัย อนาคตจะขยับต่อไปถึงหลักสูตรต่าง ๆ แต่แก่นตรงกลางยังอยู่ ประตูคิงส์ ยังขลังเหมือนเดิม” พล.ต.ท.ปิยะน้ำเสียงหนักแน่น

“โรงเรียนนายร้อยไม่มีสิทธิที่จะถูกยุบโดยใครหรอก แต่จะยุบเพราะคนในเองแหละ ถ้าบริหารได้ไม่ดี  ไม่มีสถาบันไหนสอนให้คนออกไปว่า ต้องโกง ทุกคนบอกต้องดี เพียงแต่วิธีการต้องทำ บางคนคิดว่าออกไป ต้องได้อยู่โรงพักดีๆ ทำไมหลายคนไม่เป็น ผมมองว่า จริงๆ แล้วมันคือ ความแกร่งในหัวใจ ที่เราได้รับการฝึกมา เคยมีคนพิสูจน์ว่า คุณโกงไม่โกง เอาตังค์ไว้ 100 บาทแล้วปิดห้องไม่มีใครเห็นเลย วาง 1,000 บาท เพิ่มไปเรื่อยๆ แล้วที่สุดของคนอยู่ที่ไหน 1 ล้าน 10 ล้าน 20 ล้าน 100 ล้านบาท”

คำตอบของบทพิสูจน์ตรงนี้ พล.ต.ท.ปิยะว่า บางคนหยุดแค่พัน ก็เอาแล้ว บางคนพันล้านยังไม่เอา เรากำลังจะสร้างความแกร่งในหัวใจ เมื่อเห็นสิ่งยั่วยวนตรงนั้น เรากำลังจะมองหลักพระพุทธเจ้า ท่านสอนพระว่า ถ้าจะอยู่ตรงนี้ คุณต้องยอมรับได้ที่จะโกนคิ้ว ต้องยอมรับได้ที่จะปฏิบัติตามศีล แต่เราไม่สามารถทำได้อย่างพระ ก็แค่ไม่ทำผิดตามกติกาที่คนเขายอมรับได้ เช่น จุดหนึ่ง เมื่อไปทำงาน แน่นอนสิ่งที่คุณต้องมี คือ คุณต้องซื่อสัตย์กับตัวเองก่อน ไม่ทำผิดอะไรทั้งต่อหน้าหรือลับหลังผู้อื่น

อัญเชิญพระบรมราโชวาท ดูแลชาติบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องกดไลท์

ครูใหญ่ในรั้วสามพรานถึงปลูกฝังหลักคิดนักเรียนนายร้อยตำรวจที่ว่า ต้องสอนตัวเองให้ได้ก่อน เหมือนพระต้องมีวินัย เขาห้ามยื่นฉี่ แล้วถ้ายื่นฉี่คนเดียวในส้วมใครจะรู้ อยากให้ทุกคนทำได้แบบนั้น เรากำลังจะสร้างเสริมด้านจิตใจให้ได้ อัญเชิญพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทุกปีมาให้นักเรียนนายร้อยตำรวจได้อ่านทุกคืน คือ สวดมนต์ก็สวดไป แต่ให้หัวหน้านักเรียนนายร้อย ได้อ่านพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านให้ทุกคนฟัง  “ไม่ต้องอ่านทั้งหมด จะตัดใจความสำคัญออกมา พระองค์ท่านจะเน้นอยู่เรื่อง คือ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต การรู้หน้าที่ตำรวจว่า ต้องทำอะไร ที่สำคัญ คือ ไม่อ่อนไหวต่อประโยชน์ต่างๆ และให้ดูแลชาติบ้านเมือง นี่คือ สิ่งที่นักเรียนนายร้อยตำรวจต้องเรียนรู้ตรงนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่าที่จะไปกดไลท์คนดี อะไรแบบนั้น ไม่เกิดประโยชน์”

นายพลตำรวจด็อกเตอร์ระบุว่า ทุกเช้าเวลาตี 5 นักเรียนนายร้อยตำรวจบางส่วนจะเดินทางไปช่วงงานพระบรมศพที่ท้องสนามหลวง ก่อนไปเราจะปลูกจิตสำนึกเสมอว่า ทุกคนกำลังจะทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตอย่างหนึ่ง และอาจไม่ได้ออกมาแบบนี้อีกแล้ว คือได้ไปช่วยงานที่สนามหลวง ไปทำหน้าที่ 4 หน้าที่ รับแจ้ง ออกตรวจ หรืออะไรต่างๆ ถวายให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 “เมื่อกลับมาแล้ว คุณอาจเขียนบันทึกเก็บไว้ ส่งให้พ่อ แม่ดู มันเป็นความภาคภูมิใจของพวกเขา ต้องเริ่มจากใจก่อน”

“นอกจากนี้ พวกเขาจะได้เห็นการทำงานจริง ๆ ของตำรวจลูกน้องของเขาในอนาคตข้างหน้า สมมติเที่ยงยังไม่ได้กินข่าว เพราะต้องยืนรับเสด็จอยู่ รอจนบ่ายถึงได้กิน ก็ต้องไม่ได้กินด้วยกัน เวลาออกตรวจค้นจะทนสิ่งยั่วยวนได้อย่างไร ทั้งหมดคืออยู่ที่ใจ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นดีที่สุด ตอกย้ำจากการกระทำมากกว่าคำพูด ซื่อสัตย์กับตัวเอง ทำตามกฎกติกา ทำในสิ่งที่ดีงาม ออกนอกโรงเรียนกลับไปบ้าน วันแรก พระอรหันต์ของบ้าน คือ พ่อ แม่ ตอบแทนท่านดีกว่าไปสร้างโบสถ์ วิหาร” พล.ต.ท.ปิยะฉายภาพชัด “ ถ้าเราเข้าเวร ให้นึกเสียว่า คนที่มาแจ้งความโรงพักเป็นญาติของเรา ก็จะเห็นความสำคัญ เพราะบางที ไปมองว่าเป็นใครก็ไม่รู้มา ถ้าเป็นญาติเราถูกรถชน เราจะรู้สึกว่า มันหนักหนา ผมถึงสอนแค่บรรทัดเดียว แต่ให้ใส่ใจแค่นั้นพอ”

 

 

 

RELATED ARTICLES