“ต้องทำให้ตำรวจเป็นที่รัก ที่พึ่งหวังของประชาชนอย่างแท้จริง”

 

นับเวลาถอยหลังสู่บั้นปลายชีวิตราชการของ “นายพลนักสืบรุ่นเก่า” ที่ผ่านสมรภูมิไล่ล่าโจรมาเกือบตลอดอายุในเครื่องแบบ พล.ต.ต.เจริญ ศรีศศลักษณ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ทิ้งผลงานความภาคภูมิใจไว้มากมาย บทสุดท้ายก่อนอำลายังฝากโครงการอันมีค่าให้ตำรวจรุ่นน้องนำไปสานต่อแนวคิด

เน้นกระตุ้นจิตวิญญาณความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ รักในองค์กร ผดุงเกียรติและศักดิ์ของตัวเอง รบกับเหล่านักเลงเพื่อคุ้มครองปกป้องสุจริตชน

ทุกบริบทของ พล.ต.ต.เจริญ ที่กำลังจะกลายเป็นตำนาน “นายพลนครบาล” อีกราย นิตยสาร COP’S ถือโอกาสนำมาถ่ายทอดบันทึกเรื่องราวของเขา

 

สานโครงการดีของผู้บังคับบัญชา แม้ว่าเปลี่ยนความคิดคนร้ายไม่ได้

พล.ต.ต.เจริญ ศรีศศลักษณ์ เริ่มเปิดฉากถึงนโยบายการทำงานบนเก้าอี้ตัวสุดท้ายในตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ตลอดระยะเวลากว่า 11 เดือนก่อนจะเกษียณอายุราชการสิ้นกันยายนนี้ว่า ได้สนองนโยบายของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และในส่วนของ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กับโครงการดีหลายอย่างที่กำหนดขึ้นเพื่อประชาชนทั้งนั้น

เจ้าตัวอธิบายขยายความว่า โครงการต่างๆ เรามาดูแล้ว มีประโยชน์ในแง่การป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การบริการประชาชน เช่น โครงการเมนูเตือนภัย ให้ทำเป็นการเตือนโดยเปิดดูได้ในร้านอาหาร เปิดดูเมนูของตำรวจแล้วว่า ท่านจะต้องทำอะไร เช่น จอดรถไว้ปิดประตูรถดีแล้วหรือยัง อาจทำให้เขาย้อนกลับไปดูรถ ลดการลักรถ ทุบกระจกรถ หรือเก็บทรัพย์สินของมีค่าไว้ประเจิดประเจ้อก็ไปปิดไปบังไว้ คนร้ายที่อาจจะซุ่มอยู่แถวนั้นจะได้เลิกล้มความตั้งใจ

ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ยกตัวอย่างอีกว่า ส่วนโครงการท่านไม่ล็อก เราล็อกให้ ก็ทำให้ปัญหาลักรถจักรยานยนต์ลดลงไปได้ไม่น้อย แต่ต้องเข้าใจปัญหาอาชญากรรม คนร้ายรวมตัวกันเป็นอาชีพ มักจะหาช่องโอกาสลงมือก่อเหตุ ตำรวจทำได้แค่ลดปัญหา เหมือนการทำงาน หากคนร้ายไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา เหยื่อลดโอกาส แต่เราก็ไม่สามารถลดความคิดของคนร้ายได้ ตำรวจป้องกันในทางกายภาพ ทว่า ก้นบึ้งของจิตใจคนร้าย เราไม่สามารถทำได้ เปลี่ยนความคิดมันไม่ได้

ตรวจเข้ม ไม่หลับไม่นอน เหตุจากความซับซ้อนของอาชญากรรม

ทั้งนี้ทั้งนั้นกลายเป็นที่มาของโครงการ “ตรวจเข้ม ไม่หลับไม่นอน” ที่ พล.ต.ต.เจริญ ต้องการชูภาพการปฏิบัติงานอย่างจริงจังของกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 “แนวความคิดเกิดจากจากปัญหาอาชญากรรม ความเดือดร้อนของชาวบ้าน เช่น เด็กแว้น วัยรุ่นนักเรียนตีกัน เหตุลัก วิ่ง ชิง ปล้น วิ่งราวทรัพย์ในที่สาธารณะ เหล่านี้ ประชาชนจะกลับบ้านสัญจรไปตามป้ายรถเมล์ หรือที่เปลี่ยว ถูกกระชากสร้อยบ้าง อะไรบ้าง หรือคดีเกี่ยวกับทางเพศ สายตรวจเอาไม่อยู่เพราะพื้นที่กว้าง อาทิ คันนายาว โคกคราม สายไหม กว่า 40 ตารางกิโลเมตร มีสายตรวจ 3 สาย ไม่สามารถดูแลได้ทั้วถึง ถ้าถูกระดม ถูกเอากำลังไปควบคุมฝูงชน ก็ต้องไปพัก เราก็ต้องให้เขาพัก ตรงนี้ถือเป็นเป็นจุดบอด กำลังสายตรวจลดน้อยลงไป”

กระทั่งเกิดเหตุคนร้ายชิงทรัพย์เหยื่อหน้าอาคารชินวัตรเยื้องสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อทำร้ายเหยื่อถึงแก่ความตาย พล.ต.ต.เจริญเล่าว่า ตำรวจตามจับกุมได้ เป็นกลุ่มวัยรุ่นติดยาเสพติดที่ปรุงเอง เอายาแก้แ ผสมน้ำใบกระท่อม ยาคลายเครียด ทำให้เกิดอาการมึนเมา เกิดความฮึกเหิม ก่อเหตุคืนวันนั้น 5 รายซ้อน รายสุดท้ายทำร้ายเจ้าทรัพย์ถึงแก่ความตาย ตำรวจมาดูร่องรอยของกลุ่มคนร้าย เดินมาตามเส้นทางของกล้องวงจรปิด ถึงยืนยันแผนประทุษกรรมทั้งหมด เป็นวัยรุ่นอายุ 14-17 ปี มีอายุ 18 ปีคนเดียว

“ผมมองว่า สายตรวจไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาเพียงลำพัง สายตรวจ 1 คัน ตำรวจ 2 นาย เจอวัยรุ่นเด็กแว้นเป็น 10 คน บางทีมันไม่กลัวนะ สายตรวจเองจะเป็นฝ่ายต้องหลบเลี่ยงมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะถ้ามันเข้ามารุมก็เสร็จมันแล้ว เลยจำเป็นต้องใช้วิธีการรวมชุดเคลื่อนที่เร็ว จากบางเขน คันนายาว โคกคราม สายไหม ก็เอามารวมกลุ่มกันแล้วก็ให้ตรวจในย่านนั้น ดอนเมือง ทุ่งสองห้อง ประชาชื่น อีกกลุ่ม เตาปูน บางซื่อ สุทธิสาร พหลโยธินก็อีกกลุ่มหนึ่ง”

 

ระดมกำลังทุกโรงพักในพื้นที่ อุดรอยวิถีเหล่าบรรดาอาชญากร

นายพลเจ้าของโครงการตรวจเข้ม ไม่หลับไม่นอนบอกอีกว่า  แต่ละโรงพัก ให้เอารถสายตรวจมา 3 แต่งกายนอกเครื่องแบบ แต่แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตระเวนไปเป็นกลุ่มๆ หากเจอวัยรุ่นต้องสงสัยให้เข้าตรวจค้น ตรวจสอบประวัติ ตรวจสอบยานพาหนะที่ใช้ อะไรที่ผิดให้เอามาตรวจสอบที่โรงพัก หากพบการมั่วสุมกันต้องเรียกผู้ปกครองมาด้วย

พวกเขาเปิดตัวโครงการเมื่อปลายปี 2558 พบสถิติคดีอาชญากรรมลดทันที ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กแว้นรวมตัวมั่วสุมก่อเหตุชิงทรัพย์ในร้านสะดวกซื้อ “ผมถึงบอกว่า สายตรวจอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งพวกนี้ได้ เพราะมันฮึกเหิม ไม่เกรงกลัว แต่เราจะมาตรวจเข้มอย่างนี้ทุกวัน มันก็ไม่ได้ เพระกำลังไม่พอ แต่พยายามมุ่งเน้นว่า สายตรวจตำรวจนครบาล 2 เราจะไม่หลับไม่นอนกัน ตั้งแต่สายตรวจ ก็จะเอาตั้งแต่สารวัตร ชุดสืบสวนทั้งหมด ผู้กำกับทุกโรงพัก สายสอบสวนต้องมาระดมเหมือนกัน”

ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 กำชับรองผู้บังคับการแต่ละสาย กำหนดแผนงานของตัวเอง ฝ่ายปราบปรามกำหนดว่า คืนนี้จะไปตรวจสถานบริการที่ไหนบ้าง หลังเวลาเที่ยงคืน ตี 1 ตี 2 ก่อนไล่ตามจุดล่อแหลมที่มักมีเหตุอาชญากรรม เป็นหน้าที่ของฝ่ายสืบสวนต้องไปซุ่ม ระดมทุกสายงานตรวจเข้ม ทำพร้อมกัน วางเป้าไว้ สัปดาห์ละครั้ง หรือมากกว่านั้น วัตถุประสงค์เพื่อให้คนร้ายในพื้นที่ลดลง เพราะเห็นว่า มีสายตรวจเยอะ อาจล้มเลิกความตั้งใจก่อเหตุ เป็นแบบฉบับการทำงานของกองบังคับการตำรวจนครบาล 2

แต่งมาร์ชประจำหน่วย พ่วงด้วยเพลงสะท้อนชีวิตตำรวจ

หลังจากปล่อยแถวระดมพลตรวจเข้าไม่หลับไม่นอนอยู่บ่อยครั้ง พล.ต.ต.เจริญ ยังเกิดไอเดียแต่งเพลงสร้างความฮึกเหิมแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาก่อนออกปฏิบัติหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ของหน่วย เขาเบิกแนวความคิดว่า ที่ผ่านมาเปิดเพลงมาร์ชตำรวจซ้ำ ๆ เลยอยากจะเปลี่ยนเพลงให้กำลังพลรู้สึกคึกคัก จึงแต่งเพลงมาร์ชกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ขึ้นมา ใช้เนื้อหาไล่เรียงตามโครงการของตำรวจนครบาลมาถึงโครงการตรวจเข้มไม่หลับไม่นอนของนครบาล 2

“ผมแต่งเนื้อร้องเอง ยกให้เป็นเพลงมาร์ชประจำหน่วยที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน มี ต๋อง-เทวัญ ทรัพย์แสนยากร นักดนตรีคนดังที่มีความเรื่องทำนองมาช่วยเรียบเรียงเสียงดนตรีให้ แถมยังได้ สันติ ลุนเผ่ มาช่วยขับร้องปลุกใจให้อีกด้วย” นายพลอารมณ์ศิลปินว่า นอกจากนี้ เขายังโชว์ลีลาการแต่งเนื้อเพลงบันทึกเรื่องราวชีวิตของตำรวจทั้งหมดไว้อีก 2 เพลง เพลงแรกชื่อ ตำรวจใจถึง บ่งบอกการทำหน้าที่ของตำรวจ มี นิค นิรนาม เป็นผู้ขับร้อง  ส่วนอีกเพลงชื่อ เสือไม่มีเจ้าของ ได้ลูกทุ่งสาวอำพร แหวนเพชร มาร้อง

“ผมอยากจะมีอะไรให้มันเป็นที่ระลึก เพราะเราก็อยู่ที่นี่มาหลายปี และกำลังจะจบชีวิตราชการตรงนี้ ผลักดันต้นสารภี เป็นต้นไม้ประจำหน่วย มีคำขวัญประจำ คือ ตำรวจกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 มิตรของประชาชน เดิมทีเดียว ตำรวจตำรวจนครบาล 2  พร้อมรับใช้ ผมว่ามันดูยังไงอยู่ เปลี่ยนเป็นตำรวจนครบาล 2 มิตรของประชาชนจะดูเข้าท่ากว่า”

 

วาดหวังปลุกจิตวิญญาณลูกน้อง ยึดความถูกต้องในเกียรติและศักดิ์ศรี

แต่ที่สำคัญสุด พล.ต.ต.เจริญ หวังไว้ว่า ต้องสร้างจากจิตวิญญาณของตำรวจเองด้วย ให้เกิดความรู้สึกดูดี เพราะที่ผ่านมา เกิดปัญหาไม่ให้เกียรติกัน บัฟกัน ทำร้ายกันเองมากกว่ามีคนอื่นมาทำร้าย การทำงาน อยากจะบอกทุกคนต้องให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน คนทำงาน คนจะมาเป็นผู้กำกับ มาเป็นสารวัตร มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีแล้ว การดุด่ากันบางครั้งทำให้กลายเป็นเด็กไปเลย บางคนทำงานแบบเหมือนมีความรู้สึกตัวเองมันไม่มีเกียรติ มีกลุ่มผู้บังคับบัญชาบางกลุ่มไม่ให้เกียรติการทำงานตามสถานภาพความเป็นจริงที่พวกเขาควรได้รับ

“ตำรวจ คือ ผู้รักษากฎหมาย พนักงานสอบสวน หรือผู้รักษากฎหมายที่จะดูแลความสงบสุขเรียบร้อยของสังคม ของประชาชน ปรากฏว่า ตัวเขาเองกลับถูกกระทำจากตำรวจด้วยกันที่มองในแง่ร้าย ทำร้ายกันเองมาโดยตลอด อะไรก็แล้วแต่ที่ตำรวจกระทำ หรือถูกกล่าวหา ในส่วนของหน่วยงานตัวเอง ไม่ถามเหตุผล มันไม่ใช่ ผมจะพูดกับลูกน้องเสมอว่า ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีกันหมด เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้ที่ดูแลความสงบสุขของประชาชน”

“การทำหน้าที่อยู่ในหน่วยงาน แม้จะมีสถานะแตกต่างกัน บางคนเป็นสายตรวจ บางคนเป็นจราจร เป็นสายสืบ เมื่อกลับไปบ้าน ทุกคนเป็นพระเอก เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของครอบครัว เป็นที่พึ่งของครอบครัว เป็นที่รัก เป็นที่หวังของพ่อแม่ หรือกลับไปหมู่บ้าน ตำบล ก็ต้องเป็นที่รักของชาวบ้านด้วยซ้ำ แต่เมื่อเรามาอยู่ในสถานภาพใดๆ แล้ว ก็ต่างกันไป ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของตัวเองหมด ก็ให้ข้อคิดเขาอย่างนี้ เขาจะคิดยังไงก็ไม่รู้ แต่ผมก็พูดบ่อยครั้งว่า ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีนะ” พล.ต.ต.เจริญตอกย้ำมุมบริหาร

เส้นทางชีวิตจากลูกคนธรรมดา โชคชะตาพาเข้าสู่รั้วสามพราน

สำหรับประวัติเส้นทางชีวิตของเขา เป็นลูกชาวบ้านธรรมดาในครอบครัวคนต่างจังหวัด พื้นเพเป็นชาวดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม จบชั้นประถมโรงเรียนวัดดอนยายหอม ไปต่อมัธยมโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย โรงเรียนชายประจำจังหวัด หลังจากนั้นสอบเข้ารั้วเตรียมทหารรุ่น 16 เลือกเหล่านายร้อยตำรวจเป็นรุ่นที่ 32 เจ้าตัวสารภาพว่า อยากเป็นตำรวจ ทั้งที่ไม่มีประวัติครอบครัวเกี่ยวข้องฝังใจกับตำรวจมาตั้งแต่ต้น อาจเป็นเพราะว่า เด็กที่เรียนนครปฐมส่วนใหญ่จะมีแนวคิดเข้าโรงเรียนภูธร 7 หรือไม่ก็โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะอยู่ละแวกนครปฐม

“มันเป็นเมืองที่นักเรียนส่วนใหญ่ เมื่อจบมัธยมต้นแล้วก็คิดเป็นครู หรือไม่ก็ตำรวจ ไม่ก็เรียนต่อสายอุดมศึกษาเข้ามหาวิทยาลัย มีความคิดอย่างนั้น พอดีมีเพื่อนมาชวนสอบเตรียมทหาร ก่อนเลือกสอบเป็นตำรวจ มาตามเพื่อน แต่ว่า ความแนบแน่น หรือฝังลึกกับตำรวจ ทหาร ไม่ค่อยมี มันคุ้นเคยตำรวจมากกว่า เนื่องจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อยู่ที่สามพราน”

รับราชการครั้งแรก บรรจุตำแหน่งรองสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ แล้วถูกดึงตัวไปเป็นรองสารวัตรกองกำกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครใต้ ยุค บุญชอบ พุ่มวิจิตร คุมทัพนักสืบกลางกรุงที่เต็มไปด้วยยอดมือปราบดาวรุ่งหลายคน อาทิ กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ประมวลศักดิ์ นิ่มสมบุญ สมคิด บุญถนอม ทรงพร สารพานิช

รวมทีมนักสืบระดับตำนาน สะสมประสบการณ์ต่อยอดคดี

นอกจากนักสืบดาวรุ่งมือพระกาฬของสืบสวนใต้แล้ว ระดับกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ ยังรวมเหล่ามือปราบมากประสบการณ์ในเมืองหลวงอีกไม่น้อย อาทิ อมร ยุกตะนันท์ ธนู หอมหวล โสภณ วาราชนนท์ วรรณรัตน์ คชรักษ์ เป็นย่างก้าวสำคัญที่ทำ พล.ต.ต.เจริญ เก็บเกี่ยวประสบการณ์สืบสวนระดับปรมาจารย์ของกรมตำรวจ แข่งขันปั่นผลงานเคียงข้างทัพนักสืบมือปราบนครบาลเหนือ ที่มี เจริญ โชติดำรงค์ สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ ทวี ทิพย์รัตน์ วินัย เปาอินทร์ คำนึง ธรรมเกษม ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา เป็นตัวชูโรง

เหตุผลที่ถูกทาบทามไปเป็นขุมกำลังของสืบสวนนครบาลใต้ เขาบอกว่า อาจเพราะตอนเป็นพนักงานสอบสวนทุ่งมหาเมฆ ท่านสมคิด บุญถนอม เป็นร้อยเวรอยู่ด้วยกัน พอขึ้นไปเป็นนายเวรท่านอมร ยุกตะนันท์ ก่อนลงไปอยู่สืบสวนใต้ แกเลยดึงตัวไปอยู่ ยอมรับว่า การทำงานสืบสวนสมัยนั้นค่อนข้างอิสระ สามารถเกาะงาน ตามงานได้เป็นกิจจะลักษณะ เอามาก็ขยายผลไปได้เรื่อยๆ งานต่องาน แม้ว่าเทคโนโลยีจะแพ้สมัยนี้

อดีตนักสืบประจำกองสืบสวนใต้เล่าว่า เทคโนโลยีที่ใช้ประกอบในการสืบสวนสมัยก่อนมีน้อย ผิดจากสมัยนี้ที่มีมาก ส่วนใหญ่อาศัยการข่าว การสะกดรอยติดตาม การสืบจากร่องรอยในที่เกิดเหตุ จากการพิสูจน์หลักฐานก็ดี ข่าวจากสายข่าวก็ดี เอามารวบรวม เมื่อมีคดีเกิดขึ้นก็ใช้พวกนี้รวบรวมหลักฐาน แล้วก็เชิญตัวมาซักถาม สอบถาม ขยายผล ต่อยอดนำไปสู่การจับกุม

ประเดิมฉากล่าจับตาย วายร้ายลักพาตัวเรียกค่าไถ่

เมื่อปี 2529 เจ้าตัวยังได้มีโอกาสลงสืบสวนแกะรอยคดีอุ้มเรียกค่าไถ่ 2 พี่น้องทายาทลูกชิ้นจังหวัดนครปฐมที่ถูกลักพาตัวไปจากบ้านแถวซอยเชื้อเพลิง ท้องที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ แก๊งคนร้ายนำเหยื่อไปขังไว้กลางป่าอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี กระทั่งปะทะโจรถึงขั้นต้องทำวิสามัญฆาตกรรมครั้งแรกในชีวิต

พล.ต.ต.เจริญรำลึกความหลังฉากบู๊ว่า ตำรวจตามสะกดรอยจนรู้ว่าแก๊งคนร้ายเอาเหยื่อไปขังไว้ในกระท่อมกลางป่า กำลังตำรวจสืบสวนใต้และภูธรจังหวัดนครปฐมได้กระจายกันติดตาม มีนายตำรวจระดับสูงไปกันหลายคน เช่น ท่านอมร ยุกตะนันทน์ ธนู หอมหวล บุญชอบ พุ่มวิจิตร ประสานข้อมูล โสภณ สะวิคามิน แบ่งชุดเดินตั้งแต่ตี 1 ไปเจอกระท่อมที่เอาผู้เสียหายมาซ่อนไว้ตอนรุ่งสาง ไม่รู้ว่า ตัวประกันที่ถูกเอาตัวไปหลายวันแล้วจะเป็นอันตรายอะไรหรือไม่ สายข่าวทราบว่า ถูกล่ามโซ่ขังไว้

“ต้องคืบคลานเข้าไปไม่ให้มันรู้ตัว ปรากฏมีคนเฝ้าอยู่หน้ากระท่อม คนร้ายรู้สึกว่าเป็นตำรวจเก่า พอพวกผมแสดงตัวว่าเป็นตำรวจ มันกระโดดออกมาแล้วเปิดฉากยิงใส่ทันที ผมตัดสินใจยิงสวนไปถูกคนร้ายถึงแก่ความตาย และสามารถช่วยเหลือเด็กที่ถูกจับเรียกค่าไถ่ออกมาได้อย่างปลอดภัยทั้งคู่” พ.ต.อ.เจริญไม่เคยลืมนาทีวิกฤติเมื่อกว่า 20 ปีก่อน

 

ได้รุ่นพี่หลายคนเป็นต้นแบบ ลุยล้างมือปืนแสบในทีมเฉพาะกิจ

เรียนรู้วิชาจากนักสืบต้นแบบรุ่นพี่หลายคน ไม่ว่าจะเป็น กฤษฎา พันธุ์คงชื่น สมคิด บุญถนอม ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ พล.ต.ต.เจริญยอมรับว่า เหล่านี้คือแม่แบบนักสืบที่ได้ เราระดับรองสารวัตรได้รับมอบหมาย ได้รับความไว้วางใจให้ไปสืบเดี่ยว บางครั้งประสบเหตุวิสามัญฆาตกรรมคนร้าย เป็นชีพจรของนักสืบสมัยก่อน

อยู่สืบสวนใต้ถึงปี 2531 ขอสมัครใจไปเป็นสารวัตรสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าพนม จังหวัดนครพนม ที่เปิดอัตราตำแหน่งใหม่ ใช้ชีวิตตำรวจภูธรพักใหญ่ได้ไปเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ถึงกลับมาเป็นสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลคลองตัน จากนั้นตาม พล.ต.ท.ธนู หอมหวล ที่เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางไปอยู่กองกำกับการ 6 กองปราบปราม

คืนกรุงเป็นสารวัตรสืบสวนโรงพักบางกอกใหญ่ เข้าไปอยู่ชุดเฉพาะกิจปราบปรามมือปืนรับจ้างของกรมตำรวจ จับตายนักฆ่ารับจ้างอดีตคนสีกากีดับคาขนส่งสายใต้เก่า  และอยู่ในทีมคลี่คลายคดียิง พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ธุวานนท์ ที่ภาคอีสาน สามารถจับกุมทั้งมือปืนและผู้ว่าจ้างเป็นนักธุรกิจได้ ใช้เวลาฝังตัวอยู่ในพื้นที่นานเป็นเดือนในป่าจังหวัดฉะเชิงเทรา   “ถามว่า ผมมีความรู้ความสามารถไหม ก็ต้องบอกว่าไม่เชิงเก่งกาจอะไรหรอก แต่ว่ามันมีส่วนร่วมในงานใหญ่ๆ ของผู้บังคับบัญชา ของนักสืบระดับประเทศหลายครั้ง”

 

วนเวียนอยู่ในงานสืบสวนเมืองกรุง กระทั่งมุ่งสู่เก้าอี้สุดท้ายก่อนอำลา

พ้นจากสารวัตรสืบโรงพักโยกกลับมารังเก่าเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครใต้ ขยับขึ้นรองผู้กำกับการกองบังคับการสอบสวน กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด เป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 1 คลายปมคดียิงนายสมศักดิ์ คุปตะวิริยะพานิช ที่อาคารยูเนียน เพชรบุรีตัดใหม่ ถึงแก่ความตายพร้อมเพื่อนสาว กระทั่งทราบเป็นฝีมือแก๊งยาเสพติดสามารถตามจับกุมนายไห่ หรือวินัย รักษี ยึดของกลางผงยาบ้ากว่า 100 กิโลกรัม และแท่นผลิตยานรกที่พวกมันเช่าบ้านหรูริมถนนพระราม 9 เป็นโรงงานผลิตยาบ้า แล้วยังขยายผลไปถึงขบวนการทุจริตนำชื่อคนต่างด้าวย้ายเพิ่มเข้าไปในทะเบียนราษฎร์ที่มีปลัดอำเภออยู่เบื้องหลัง

หลังจากนั้นขึ้นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 3 ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 5 และนครบาล 7 ลงผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ เป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ขึ้นผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ก่อนจะเกษียณอายุราชการปลายกันยายนนี้

เขาบอกว่า เราก็พอจะรู้พื้นที่ รู้งาน รู้คนอยู่แล้ว ในด้านการทำงานถึงใช้หลักสร้างขวัญกำลังใจ เพราะคิดว่า ถ้าตำรวจมีขวัญและกำลังใจที่ดี ถ้าตำรวจรักหน่วยงาน รักความเป็นตำรวจก็จะทุ่มเทการทำงาน เนื้องานก็จะมีคุณภาพ เมื่อเนื้องานมีคุณภาพ ผลที่ออกมาก็จะถึงประชาชน ถึงสังคมแน่นอน เราก็ต้องทำให้ตำรวจรักหน่วยงาน รักองค์กรเสียก่อน

เห็นใจผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช่ผิดมาจะสั่งฟันท่าเดียว

ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ย้ำว่า ต้องมอบสิ่งที่ดีๆ ให้เขา มอบความยุติธรรม มอบความเป็นกันเองให้เขา ทำเหมือนพี่เหมือนน้องกับเขา มีอะไรก็แนะนำกัน หากว่าใครผิดพลาดอะไรไป หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ลงโทษานุโทษตามความเหมาะสม แล้วก็ดูว่า ถ้ามันเกินเลย ถึงขั้นผิดวินัยร้ายแรง หรือผิดทั้งทางคดีอาญาก็ต้องเฉียบขาด เช่น มีการเรียกเงินทองเกี่ยวกับการทุจริต อันนี้ชัดเจน ก็ต้องเอา อย่างเช่นที่ โคกคราม ระดับรองสารวัตร และชั้นประทวนคนหนึ่งถูกดำเนินคดีอาญา ต้องตั้งกรรมการสอบวินัยด้วย

“หากเป็นอะไรที่ร้ายแรงกระทั่งไม่สามารถเยียวยาได้ เราก็ต้องดำเนินการ แต่ที่บกพร่องตามธรรมดาของการทำงาน เราต้องดูให้เป็นไปตามโทษานุโทษ ว่ากล่าว ตักเตือน ภาคทัณฑ์ กักยาม อะไรก็ว่าไป ให้สามารถที่จะกลับตัวได้ ก็นำเรียนแล้วว่า ทุกคนมีความรู้ความสามารถ ทุกคนมีเกียรติทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างเขา สร้างครอบครัวเขาด้วย แล้วเขาก็จะรักความเป็นตำรวจ รักองค์กร เขาก็จะทุ่มเทให้กับการทำงาน เมื่อทุ่มเทให้กับการทำงานผลงานก็จะออกมาดี เป็นตรรกะง่ายๆ” นายพลตำรวจนครบาล 2 สีหน้าจริงจัง

“ส่วนเรื่องการทำงานต้องเน้นย้ำเรื่องนี้ เรื่องไม่ทุจริต ไม่เรียกร้องผลประโยชน์ เป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำให้ตำรวจเป็นที่รัก ที่พึ่งหวังของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เขาไม่มีที่พึ่ง นอกจากตำรวจ ไม่ว่าจะเดือดร้อนจากเรื่องทรัพย์ เกี่ยวกับชีวิตร่างกาย เกี่ยวกับการถูกโกงอะไร ต่ออะไร เขาพึ่งตำรวจ มุ่งหวังที่จะพึ่งตำรวจ ไม่สามารถทำกันเอง สะสางกันเอง ถึงพึ่งหวังเจ้าหน้าที่ ตำรวจจึงต้องสร้างตัวเองให้เป็นที่พึ่งของประชาชน ตำรวจจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เป็นผลดีต่อตัวเอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

 

ฝากตำรวจยึดความซื่อสัตย์ ปฏิบัติตัวให้เป็นที่พึ่งของประชาชน

ก่อนเกษียณอีกไม่กี่วันข้างหน้า พล.ต.ต.เจริญ อยากจะฝากตำรวจรุ่นน้อง หรือตำรวจทั่วไปว่า การทำงานของตำรวจในอนาคต ต้องยึดหลักพยานหลักฐานมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ยึดหลักตามพยานหลักฐาน ที่เคยใช้คำบอกเล่า ก็ให้ยึดทางวิทยาศาสตร์ และที่ขาดไม่ได้ คือ ความซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่ทุจริต ไม่เรียกร้องเงินทอง ผลประโยชน์อันนี้สำคัญมาก เพราะทุกวันนี้ หูตา กล้อง มันมีผลทันทีต่อหน้าที่การงาน เทคโนโลยีมันย้อนกลับทันทีทันควัน

“ถ้ายึดหลักความถูกต้อง ความซื่อสัตย์ ตั้งใจทำงาน ก็เหมือนเป็นเกราะคุ้มกันเราได้เป็นอย่างดี ขอให้เราทำงานให้ดี หากมีข้อผิดพลาดจากการทำงานเราแก้ไขได้ แต่ถ้าผิดพลาดจากการทุจริต เรียกร้องผลประโยชน์อย่างนี้แก้ไขไม่ได้ แก้ไขยาก ด้านพนักงานสอบสวนจะต้องมุ่งมั่น เริ่มตั้งแต่อำนวยความสะดวก ประชาชนที่มาพึ่งพาการสอบสวนดำเนินคดี พนักงานสอบสวนต้องดูแลตรงนี้”

“ผู้เสียหายทุกคนที่ขึ้นมาโรงพัก เขามีความทุกข์ทั้งนั้น และเขาต้องการปลดทุกข์ ทรัพย์สินที่ถูกลัก เขาต้องการคืน ความเดือดร้อนต่างๆ เขาต้องการคลายความเดือดร้อนในจุดนั้น ส่วนการต้องการดำเนินคดีกับคู่กรณี เป็นเหตุผลรอง เหตุผลแรก คือ สิ่งสูญเสียของเขาเอาคืนมาก่อน แล้วจุดต่อมา คือ การคืนความยุติธรรม ไม่บ่ายเบี่ยง เอนเอียง หรือไปเอนเอียงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิดอย่างนี้ไม่ดีแน่ แต่ต้องเรียนว่าในยุคปัจจุบัน เรื่องที่จะทุจริต มันน้อยมากๆ หรือแทบจะไม่มีเลย เพราะว่าคดีมันมาก จนกระทั่ง ไม่มีเวลาจะมาเข้าข้างใคร เพราะได้รับแจ้งมาก็มีคดีหมุนเวียน ประเดประดังเข้ามา ผมอยากฝากแนวคิดไว้แค่นี้” พล.ต.ต.เจริญทิ้งท้าย

 

 

 

RELATED ARTICLES