“การเป็นตำรวจที่ลงไปรักษาความสงบเรียบร้อยใน 3 จังหวัดจะใช้แบบภูธรไม่ได้เลย”

ตัดสินใจลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ ทิ้งตำนานเป็นตำราไว้มากมายให้รุ่นน้องมีโอกาสได้ศึกษา

พล.ต.ท.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ อดีตจเรตำรวจไม่ชอบสร้างภาพอวดฉากเก่งทำตัวโดดเด่นเหนือใคร เขาเป็นคนเชียงใหม่ นักเรียนเก่ามงฟอร์ตวิทยาลัย สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 34 เริ่มต้นเป็นผู้หมวดอยู่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นแรกที่ส่งไปใช้ชีวิตตำรวจภูธร

กลายเป็นเด็กกว่าเขาหมดถึงถูกรุ่นพี่ รุ่นเก่าฝากเวรตลอด กระทั่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเห็นหน่วยก้านดีดึงเอาไปอยู่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ก่อนถูกส่งไปแก้ปัญหาในอำเภอลาดยาวที่มีคดีอุกฉกรรจ์เยอะเป็นอันดับสองของกองบัญชาการตำรวจภูธร 3 รองจากอำเภอบ้านสวน จังหวัดสุโขทัย แต่เป็นอันดับ 1 ของกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 8

เจ้าตัวเล่าว่า คดีอุกฉกรรจ์สมัยนั้น มีทั้งปล้นฆ่า ปล้นวัว ปล้นควาย เรื่องฆ่ากันเกิดจากปัญหาการรุกล้ำที่เขตป่าสงวนแล้วมีข้อพิพาทกัน กลุ่มใครกลุ่มมัน มีปัญหาก็ยิงกัน คดีเลยเยอะ ไปช่วยสารวัตรใหญ่ทำงาน ในลักษณะผู้ปฏิบัติอยู่ 2 ปี ย้ายเป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปรามโรงพักปากน้ำโพ ทำงานทั้งสอบสวนและสืบสวน จับเอง สอบเอง ความจริงเริ่มทำมาตั้งแต่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้ว

ยิ่งทำยิ่งฉายแวว “สมภพ พงษ์ฤกษ์” นายตำรวจนักสืบรุ่นพี่เลยดึงไปอยู่ชุดเฉพาะกิจกระทรวงมหาดไทยสมัย พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรี ในทีมของ “ชลอ เกิดเทศ” คุมพื้นที่ทั่วภาคเหนือ มีทีมของ “บุญทิน วงษ์รักมิตร” คุมภาคอีสาน “ราชศักดิ์ จันทรัตน์” คุมภาคตะวัน ส่วน “สล้าง บุนนาค” คุมพื้นที่ภาคใต้ คลายคดีสำคัญมากมายที่ข้ามถึงภาคตะวันออก อาทิ ถล่มฆ่าเสี่ยฮวด-พิพัฒน์ โรจน์วานิชชากร เจ้าพ่อบ้านบึง นำไปสู่การจับกุม “แดง สิงห์ป่าซุง” และคดีฆ่า 4-5 ศพแถวอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรี

“มันไม่ใช่ภาคเหนืออย่างเดียว เวลามีเหตุที่ไหนก็ไปทั่ว เริ่มเรียนรู้อยู่ในวงการสืบสวน” พล.ต.ท.สมศักดิ์ว่า หลังจากนั้นเขาขยับขึ้นเป็นสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครสวรรค์ เป็นสารวัตรงาน 5 กองกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 ก่อนเข้าร่วมทีมเฉพาะกิจ “ฉลามดำ” ของ “สมพงษ์ คงเพชรศักดิ์” มือปราบรุ่นพี่ คลี่ปมคดีสำคัญในภาคเหนือตอนล่าง กระทั่งถูกชักชวนไปเป็นสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 3 กองปราบปราม ยุค พล.ต.ต.คำนึง ธรรมเกษม เป็นผู้บังคับการ

“ท่านคำนึงโทรไปหา ชวนมาอยู่กองปราบปราม ทั้งที่ผมไม่รู้จักมาก่อน ก็เพราะได้ยินจากรุ่นพี่เรานี่แหละ ทั้งพี่โก๊ะ-สมภพ พงษ์ฤกษ์ พี่หมี-เฉลิมพันธุ์ อจลบุญ จะให้ขึ้นรองผู้กำกับ โทรมาบอกว่า ผู้การคำนึงนะรู้จักหรือเปล่า ผมมันตำรวจบ้านนอกก็ตอบไปแบบซื่อ ๆ ว่า ไม่รู้จัก คือ แกกำลังจะเป็นผู้การกองปราบต้องหาฟอร์มทีมทำงาน”

กองปราบปรามในขณะนั้น สื่อตั้งฉายาให้พวกเขาเป็น 13 อรหันต์ ภายใต้ยุค ผู้การคำนึง ธรรมเกษม เต็มไปด้วยทีมงานนักสืบดาวรุ่งไฟแรงจากทั่วสารสารทิศเต็มไปหมด นอกจาก สมภพ พงษ์ฤกษ์ เฉลิมพันธุ์ อจลบุญ สมศักดิ์ จันทะพิงค์ ยังมี สมพงษ์ คงเพชรศักดิ์ พีระ บุญเลี้ยง ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ ฉัตรไชย เรียนเมฆ ทวิพงษ์ คงสูงเนิน จักรทิพย์ ชัยจินดา ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย สุชาติ ธีระสวัสดิ์ ดำรงค์ เพ็ชรพงศ์

เข้าร่วมทีมติดอาร์มกองปราบปรามตามคำชักชวน พล.ต.ท.สมศักดิ์บอกว่า ไม่ได้ขึ้นรองผู้กำกับการอย่างที่คุยกันไว้ แต่ไม่ได้เป็นปัญหา ไม่ซีเรียส ให้ไปไหนเราก็ไปอยู่แล้ว ตั้งที่อยู่กองกำกับการ 3 ไปอยู่วันแรกประเดิมลงไปทำคดีปล้นรถขนเงินที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง จากนั้นทำมาเรื่อย วิสามัญฆาตกรรมไม่น้อย เดือนละหลายศพ เพราะรับผิดชอบศูนย์ป้องกันปราบปราบการโจรกรรมรถของหน่วยด้วย “วิธีการของเราไม่ได้เริ่มจากตัวรถ เราเริ่มไล่จากคน ใช้คนจากชายแดนหาข่าวว่า รถของกลางที่ถูกขโมยส่งมาแล้ว เราก็ไปเอามาขยายผลย้อนกลับไปถึงคนลัก บางทีมีปะทะกัน สู้ก็ยิงตาย ไม่สู้ก็จับมาแถลง”

เขาทำงานอยู่กองปราบปรามผ่านผู้บังคับการมาถึง 8 คน ตั้งแต่ คำนึง ธรรมเกษม วัชระ ทองวิเศษ อดิศร นนทรีย์ อัศวิน ขวัญเมือง สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ โกสินทร์ หินเธาว์ วินัย ทองสอง วรศักดิ์ นพสิทธิพร ไต่ตำแหน่งจากสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 3 เป็นรองผู้กำกับการ 3 ขึ้นผู้กำกับการ 3 แล้วย้ายเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอสอง จังหวัดแพร่ เพราะผู้ใหญ่เข้าใจผิดก่อนกลับมานั่งผู้กำกับการประจำกองปราบปรามทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ

 

ปี 2547  หลังเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ 4  หรือค่ายปีเหล็ง จังหวัดนราธิวาส พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จัดกำลังเฉพาะกิจลงไปทำงาน ตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า มี พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางคุมทัพ เขาถูกส่งลงไปช่วยงานร่วมประชุมทีม ทำไปทำมามีชื่ออยู่ในคำสั่งช่วยราชการด้วย  “ชีวิตมันก็เลยพลิก จากนักสืบไปเป็นนักรบ ไปอยู่โน่น ก็ไปดูแลงานด้านยุทธวิธี คุมกองกำลัง ช่วงนั้นทำหลายอย่าง บอกได้เลยว่า ปัญหาภาคใต้ มันมีบริบทพิเศษ เป็นเรื่องของความเห็นต่าง เราไปต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็อยู่ไม่ได้ ไม่เข้าใจแล้วไปยังทำให้เกิดความเสียหาย”

“การทำงานขั้นตอนท่าทีในการปฏิบัติต่อประชาชนต้องเปลี่ยนแปลงไป การคัดคนลงไปทำงานก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ว่า ใครเกเรโยนลงใต้เหมือนเมื่อก่อน มันไม่ใช่ มันต้องมีการคัดคน มีการอบรม มีการปรับทัศนคติ มีแนวทางในการทำงาน งานด้านไหนจะต้องทำยังไง มองแล้วรู้ พนักงานสอบสวน เงื่อนไขคืออะไร ต้องเว้นอะไร สายตรวจ จราจร เงื่อนไข คือ อะไร ต้องปรับทัศนคติ ต้องศึกษา”

เจ้าตัวเล่าว่า ลงไปใหม่ ๆ เจอวางระเบิดลูกที่สอง เพื่อนฝูงถึงกับส่งตำรารบพิเศษไปให้ เพราะการรบที่นั่นเกี่ยวข้องกับเรื่องของงานมวลชน การแย่งชิงประชาชนมันไม่ใช่เป็นด้านการทหาร ต้องทำงานการเมืองด้วย เหมือนกับว่า คนที่เห็นต่าง คนที่ก่อเหตุรุนแรง ไม่ได้กลัวตำรวจ ทหาร ถึงกล้าไล่ยิงเจ้าหน้าที่รัฐ จากเคยงานสืบสวนสอบสวนที่กองปราบปราม ต้องเปลี่ยนมาทำงานด้านยุทธวิธี เป็นครูบาอาจารย์ทำงานร่วมกับทหาร ทำหน้าที่รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฝ่ายตำรวจ อยู่ศูนย์สันติสุข  ถือว่างานตำรวจครบแล้ว กระทั่งพร้อมที่จะพัก สุดท้ายไปจบที่จเรตำรวจถือว่า โอเค พอแล้ว

อดีตนักรบชายแดนใต้เลื่อนเป็นรองผู้บังคับการปราบปราม และรองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่บริหารและด้านสืบสวน) เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานี และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งแรกที่เข้าไปรับราชการในถิ่นเกิดตัวเอง จากนั้น ลงสมรภูมิชายแดนใต้อีกครั้งตำแหน่งรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ ขึ้นเขาบุกป่า ฝ่าดงกระสุนและระเบิด ตามไล่จับผู้ก่อความไม่สงบนาน 3 ปี เลื่อนเป็นจเรตำรวจ ติดอาวุโสอันดับ 1 แต่เส้นทางเหมือนจะตัน

“บรรยากาศสภาพแวดล้อมมันไม่ใช่แล้ว ผมไม่ขวนขวาย แล้วแต่ผู้บังคับบัญชาจะใช้ ก็ไปตามสภาพ ตอนปลายชีวิตราชการได้เรียนรู้แล้วว่า ตำแหน่งที่ผมได้มาจากการทำงานคงประมาณนี้ หากสูงกว่านี้ได้คงต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง คงต้องเป็นบุคคลที่ทางการเมืองต้องไว้วางใจ ต้องเป็นอีกสไตล์  อันนี้ต้องยอมรับสภาพแวดล้อมความเป็นจริง ยอมรับในเรื่องของบริบททางการเมืองว่า เขาต้องการคนแบบไหน” พล.ต.ท.สมศักดิ์สะท้อนความจริง

เขาบอกตัวเองว่า พอแล้ว แต่ไม่ได้แอนตี้ใคร หรือท้อแท้ เพราะอยู่ปักษ์ใต้มา 9 ปี เคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกน้องคิดว่า พอใจแล้ว และหันเหชีวิตมาทำงานการเมืองในพรรคเพื่อไทย มาดูว่า ทำอะไรได้ก็ทำ วิธีคิดอาจไม่เหมือนคนอื่น สำหรับเราไม่ซับซ้อน คิดแค่ว่าเราเป็นพ่อคน เราจะเอาอาหารจานไหนให้ลูก พูดง่ายๆ เราจะเข้าครัว เราจะทำอาหารจานไหนกิน คิดแค่นี้ บางคนก็บอกเมนูนี้ บางคนก็บอกเมนูนั้น แต่ของเรา เราเลือกเมนูนี้ แต่กับคนอื่นที่คิดไม่เหมือนกัน เอาเมนูอื่น ก็ว่ากันไป เป็นความเห็นต่าง ความเห็นต่างที่ว่าจะเอาอาหารจานไหนให้ลูกกินไม่ควรจะต้องใช้ความรุนแรง ทะเลาะได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรงเท่านั้นแหละ

ตำนานมือปราบในคราบนักรบยอมรับว่า การได้ทำงาน 3 จังหวัดชายแดนใต้ทำให้รู้บริบทดังกล่าวดีความเห็นต่างกันได้ แต่การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งไม่ควร เรื่องของความเห็นต่าง ความเห็นไม่ตรงกันมักนำไปสู่ความขัดแย้ง ทว่าเราจะเลือกให้สงบ หรือรุนแรง เช่นเดียวกับความคิดทางการเมือง  ทุกคนก็มีสิทธิคิดว่า จะเอาอะไรให้ลูกกิน แต่คิดไม่ตรงกัน

“เรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายก็เหมือนฝ่ายหนึ่งจะเอาเมนูนี้ อีกฝ่ายจะเอาเมนูนั้น แย่งกันทำอาหารให้ลูกกิน ทั้งที่จริง ๆ ควรต้องถามลูกว่า อยากกินอะไร แล้วสุดท้ายเด็กมันจะตอบเองว่า อยากกินอะไร ไม่ต้องยัดเยียด นี่คือ วิธีคิดทางการเมืองของผม ไม่คิดซับซ้อน ไม่คิดย้อนไปในอดีตประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง คิดแค่ว่า ณ เวลานี้จะเอาอะไรให้ลูก ควรถามก่อนไหมว่าจะกินอะไรมากกว่า แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรมากมาย”

ย้อนกลับไปเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ทำงานในคดีที่ประทับใจ พล.ต.ท.สมศักดิ์สีหน้าจริงจังบอกว่า ไม่ค่อยจะหยิบยกมาเป็นความภาคภูมิใจ ไม่เคยจำ พูดง่ายๆ เป็นตำรวจที่อยู่ใน 3 จังหวัดที่สุดแล้ว ไม่ใช่เรื่องสืบสวนสอบสวนมากกว่าตอนอยู่ภูธร รวมทั้งกองปราบ ตอนอยู่กองปราบเราใช้ความขยัน การเกาะติด ไล่ล่าติดตาม ออกหมายจับ แสวงหาพยานหลักฐาน ให้พนักงานสอบสวนออกหมาย แล้วไล่ตามจับ แต่ 3 จังหวัด ไม่ใช่ วิถีชีวิตไม่ใช่ “การเป็นตำรวจที่ลงไปรักษาความสงบเรียบร้อยใน 3 จังหวัดจะใช้แบบภูธรไม่ได้เลย สร้างเงื่อนไขก็ไม่ได้ เพราะว่าต้องทำงานการเมืองควบคู่ไปด้วย ใช้กระบวนการยุติธรรมนำ แต่ว่าต้องทำงานด้านการเมืองด้วย ต้องไม่สร้างเงื่อนไข ต้องไม่ไล่คนให้ไปอยู่กับอีกฝ่าย

อดีตนายพลคนดังมองว่า มีส่วนร่วมด้วยการเป็นครูบาอาจารย์ด้านออกแบบยุทธวิธีต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบ คือ ที่สุดแล้ว เราจะทำงานอย่างไรให้อีกฝ่ายเกลียดเราน้อยที่สุด ถ้าทำให้รักได้ ถือว่า สุดยอดกว่า  เพราะฉะนั้นรูปแบบการทำงาน ถ้าถามความประทับใจต้องบอกว่า  ประทับใจในการทำงานใน 3 จังหวัดตลอด 9 ปีที่อยู่มา เพราะได้ใช้ทุกศาสตร์ ใช้ศักยภาพทุกอย่างในตัวเราที่มีทั้งหมดในการนำลูกน้องให้มีขวัญกำลังใจ ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อถือ ใช้ศักยภาพส่วนตัวมากที่สุดทั้งหมดที่มีอยู่ก็ว่าได้

“นอกจากนี้ยังประทับใจในเพื่อนร่วมงาน ตั้งแต่ผู้บังคับบัญชา ลูกน้อง มันเป็นวัฒนธรรมตำรวจอีกแบบหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ล่อแหลม วัฒนธรรมตำรวจที่เคียงบ่าเคียงไหล่ เสี่ยงชีวิตร่วมกันไม่เหมือนที่อื่น ตอนอยู่ที่ใต้ 6 ปีแรก โยกมาภูธรภาคอื่นยังงงกับวัฒนธรรมบางพื้นที่ ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมที่เคยอยู่มาก่อน ตอนหลังย้ายกลับไปใหม่ มีความรู้สึกเหมือนว่า ได้กลับบ้านเลยนะ”

สิ่งที่อยากจะฝากตำรวจรุ่นใหม่ เขาคิดว่า โลกมันเปลี่ยน พอโลกเปลี่ยน คนในสังคมก็เปลี่ยนไป ดังนั้นวิธีการทำงานก็ต้องเปลี่ยน ท่าทีในการปฏิบัติต่อประชาชนต้องเปลี่ยนหมด ภายในองค์กรเรา วัฒนธรรมบางอย่างที่จำเป็นต้องเลิก ท่าทีในการปฏิบัติต่อประชาชนต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย คนที่จะไปยืนตามถนน ต้องมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ในฐานะอะไร เราอยู่ในฐานะลูกจ้างของประชาชน เรากินเงินภาษีชาวบ้าน เราต้องหมั่นเตือนสติตัวเอง เราไม่ใช่นายประชาชน

พล.ต.ท.สมศักดิ์ย้ำว่า เราเห็นแล้วว่า บทเรียนในอดีตคือ อะไร ยกตัวอย่างคลี่คลายคดีเสร็จแล้ว ปรากฏว่า เนื้อในของพยานหลักฐานในการสอบสวน มีพยานจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง แล้วสุดท้ายศาลยกฟ้อง บางทีโดนคนที่ไม่ใช่ที่เราเรียกว่าแพะ สิ่งเหล่านี้ต้องหมดไป ต้องใช้วิทยาศาสตร์ ยอมรับว่า ยุคของจักรทิพย์ ชัยจินดา พยายามพัฒนาในส่วนของเทคโนโลยี ด้วยเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ มองออกว่าร ต้องเอาอะไรมาบ้าง

“ปัญหาตอนนี้คือ เรื่องของคนที่ต้องปรับ วัฒนธรรมขององค์กรต้องปรับ พูดง่ายๆ ต้นทุนทางสังคมของตำรวจตั้งแต่ไหนแต่ไรต่ำที่สุด ปัจจุบันก็ยังต่ำ ท่าทีเราไม่เปลี่ยน ตำรวจต้องเป็นนักแสดง แสดงตามระเบียบข้อบังคับ ดูตำรวจอเมริกา มีกล้องถ่ายเลยว่า ทำถูกขั้นตอนไหม ฝึกการทำงานเป็นทีม ฝึกตามขั้นตอน ฝึกเรื่องการรักษาสิทธิ ทั้งคนที่ถูกกระทำ และคนที่กล่าวหา เอารูปแบบการทำงานออกไป ไม่ได้เอาอารมณ์ หรือความคิดส่วนตัว เอานิสัยส่วนตัวไป พอใส่เครื่องแบบปุ๊บเหมือนกันหมด แต่ถอดเครื่องแบบแล้ว นิสัยใคร นิสัยมัน ใครจะไปกิน จะไปเมาก็เรื่องของเขา ถอดเครื่องแบบแล้ว ปืนเก็บก็เป็นคนธรรมดา” ผู้เชี่ยวชาญยุทธวิธีการรบพิเศษในสมรภูมิด้ามขวานว่า

เจ้าตัวแสดงความเห็นด้วยว่า ปัญหาตำรวจของไทยคือ ขาดอิสระ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกแทรกแซงมากที่สุด ทั้งที่เป็นกระบวนการยุติธรรมระดับต้น มีความสำคัญมาก ถึงต้องเข้าใจผู้นำที่ขาดเสถียรภาพ เป็นเรื่องแก้ยาก ถามว่า อำนาจการเมืองมีใครที่จะยอมให้ตำรวจเป็นอิสระบ้าง มีแต่คนอยากจะใช้ตำรวจทั้งนั้น มีแต่คนจะเอาตำรวจไว้ในมือ ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมจะดีขึ้นต้องมีอิสระ ถูกแทรกแซงไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ยุติธรรม องค์กรตำรวจถึงโดนมากกว่าหน่วยอื่น ตั้งแต่การโยกย้าย การแทรงแซงทางคดี การใช้เป็นเครื่องมือ

นายพลวัยเกษียณระบุว่า ตำรวจมีอำนาจหน้าที่ แค่กล้าใช้อำนาจบริหารแค่ไหน เพราะอาจถูกย้ายไกลลูกไกลเมีย สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ควรเลิก ต้องปลอดการแทรกแซงจากคนนอกองค์กร ถึงบอกว่า ตำรวจเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้นธารของพยานหลักฐานในการที่จะพิสูจน์ว่า ใครผิดไม่ผิด กลับถูกแทรกแซงมากที่สุด สุดท้ายยังไม่สามารถที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมในภาพรวมงดงามได้ สรุปคือ ต้องรื้อใหญ่

สมศักดิ์ จันทะพิงค์ !!!

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES