“ผมถือว่าการสืบสวนเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง”

 

ถ้ามีสิงห์เหนือก็ต้องเจอเสือใต้

แต่สำหรับ พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ กลับเป็นนายตำรวจที่ทั้งโจรเหนือและโจรใต้ต่างเกรงขามด้วยฝีมือการปราบปรามอย่างเด็ดขาด เติบโตในสาย “นักสืบ” คุมพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือในสมัยนั้น ก่อนก้าวเป็น “มือปราบ”ใหญ่ในพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้

ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน  มีเลือดเนื้อเชื้อไขตำรวจเต็มตัว เพราะเป็นลูกชาย พ.ต.ต.สม ทิพย์รัตน์ มีส่วนทำให้เลือกทางเดินเจริญรอยตามผู้เป็นบิดา พื้นเพเดิมอยู่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนเชียงรายสามัคคีเลยเริ่มเบนเข็มชีวิตมุ่งสู่เมืองกรุงศึกษาต่อที่โรงเรียนไพศาลศิลป์

ปี 2503 เข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจสะสมวิชาผู้พิทักษ์สันติราษฎร์สมความตั้งใจจนจบรุ่นที่ 16 มีเพื่อนร่วมรุ่นประสบความสำเร็จในเส้นทางสีกากีมากมาย อาทิ พล.ต.อ.อัยยรัช เวสสะโกศล พล.ต.อ.สมชาย วาณิชเสนี พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ และ พล.ต.ต.พีรพล สุนทรเกตุ

รับราชการครั้งแรกตำแหน่งผู้บังคับหมวดอยู่ศูนย์ฝึกไชยะ จังหวัดปัตตานีอบรมหลักสูตรหน่วยจู่โจม “เสือคาบดาบ” ของหน่วยรบพิเศษป่าหวาย จังหวัดลพบุรี และหลักสูตรการรบแบบกองโจรที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ทำงานปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้

ทำงานป้องกันผืนแผ่นดินเกิดอยู่ที่ปัตตานีนานกว่า 7 ปี  ผู้บังคับบัญชาจึงตอบแทนคุณงามความดีให้ขึ้นเป็นสารวัตรประจำกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ หรือ “สืบสวนเหนือ” หน่วยงานนักสืบที่โจรร้ายทั่วประเทศได้ยินชื่อแล้วต้องสะท้าน ปฏิบัติหน้าที่เป็นนักสืบเต็มตัวจนเลื่อนขึ้นรองผู้กำกับการและผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ พิชิตคดีสำคัญในพื้นที่มากมาย เช่น คดีคนร้ายเจาะเซฟธนาคารทหารไทย สาขาราชดำเนิน กวาดเงินไปถึง 9 ล้านบาท คดีลักเครื่องลายครามในพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่คนร้ายนำของกลางมาขายในกรุงเทพฯ และคดีขโมยงาช้างบ้านนายสะอาด ปิยะวรรณ กับบ้านนายโอฬาริก พยัคฆาภรณ์

ขยับขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครบาลเหนือ และข้ามฝั่งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ ตามจับคนร้ายชิงทรัพย์คนรับใช้บ้านพล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร เพียงไม่กี่วัน จนผู้หลักผู้ใหญ่เห็นฝีมือเสนอชื่อก้าวติดยศ “นายพล” ตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้    ผลิตทายาทนักสืบรุ่นหลัง ที่ปัจจุบันเป็นมือปราบประดับวงการสีกากีหลายคน อาทิ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา พล.ต.ต.สมคิด บุญถนอม พ.ต.อ.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง และ พ.ต.อ.สิทธิพร โนนจุ้ย เป็นต้น

หลังพ้นเก้าอี้ “ผู้การใต้” โดนคลื่นมรสุมกระแทกออกนอกหน่วยเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แต่ยังได้รับโอกาสจาก พล.ต.ท.ธนู หอมหวล ผู้บัญชาการสอบสวนกลางในสมัยนั้น ให้ทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าชุดเฉพาะกิจปราบปรามมือปืนรับจ้าง” ตามกวาดล้างนักฆ่าอาชีพทั่วประเทศ

ย้ายกลับเข้านครบาลอีกครั้งในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แต่ยังไม่วายถูก “แซะ” กระเด็นไปนั่งคุมจเรตำรวจ ดีที่ผู้ใหญ่ยังเห็นความสามารถเลยดึงกลับมานั่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอีกหน

ปีสุดท้ายของชีวิตราชการจึงได้รับความไว้วางใจครั้งใหญ่จาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อธิบดีกรมตำรวจให้นั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบงานปราบปรามอาชญากรรมในเมืองกรุง กระทั่งเกษียณอายุเมื่อปี 2541

พล.ต.ท.ทวี บอกว่า ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในชีวิตราชการไม่น้อย โดยเฉพาะได้ทำหน้าที่สืบสวนปราบปราม เหมือนที่วาดฝันไว้ในสมัยเด็กตอนเห็นพ่อเป็นตำรวจ กลายเป็นแรงผลักดันให้เราเกิดความสนใจอยากรู้ว่า ตำรวจจับผู้ร้ายได้อย่างไร พยายามจดจำรายละเอียดและติดตามการทำงานของพ่อมาตลอด

“ผมถือว่าการสืบสวนเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง มันมีศิลปะในตัวของมัน เพราะนอกจากศาสตร์อย่างอื่นแล้ว ต้องสนใจเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงาน ต้องกว้างขวาง รู้จักคนทุกวงการ ศึกษาแผนประทุษกรรมของคนร้ายให้ได้ เนื่องจากสมัยนั้นเทคโนโลยียังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนปัจจุบัน จำเป็นต้องเอาระบบสายลับเข้ามาช่วยงานสืบสวนมากกว่า” พล.ต.ท.ทวีเริ่มเล่าความหลัง

“นักสืบรุ่นผม ต้องใช้ระบบสายเป็นหลักสำคัญ แต่ก็ต้องอาศัยจดจำเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแผนประทุษกรรมของคนร้ายเอาไว้ด้วย เช่น คนร้ายลักทรัพย์มีแผนประทุษกรรมอย่างไร เจาะตรงไหน น่าจะเป็นแก๊งนี้ หรือแก๊งนั้น แต่ละแก๊งจะมีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน”

อดีตมือปราบคนดังอธิบายว่า ความยากง่ายของแต่ละคดีขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน มันเป็นศิลปะ ไม่มีรูปแบบแน่นอนตายตัว ไม่จำเป็นต้องเดินจาก ก.ไก่ ข.ไข่ อาจจะเดินจาก ฮ.นกฮูกเข้ามาหา ก.ไก่ ก็ได้ หรือจากตรงกลางไปหาจุดเริ่มต้นก็ได้ อยู่ที่พยานหลักฐานกับความสนใจในการแสวงหาข้อเท็จจริงถึงจะประสบความสำเร็จ

“พอมีเทคโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น ทั้งกองพิสูจน์หลักฐาน กองทะเบียนประวัติอาชญากร สถาบันนิติเวช ประกอบกันเป็นนิติวิทยาศาสตร์ พวกผมก็ต้องเข้าไปเรียนรู้ ตั้งแต่การหาลายนิ้วมือแฝงในที่เกิดเหตุ การตรวจดีเอ็นเอ การนำคอมพิวเตอร์มาใช้สืบสวน ตรวจสอบประวัติอาชญากร การผ่าชันสูตรพลิกศพ พิสูจน์กระเพาะอาหารของคนตายเพื่อเป็นแนววิเคราะห์ที่มาที่ไปของรูปคดี”

“ยอมรับว่าบ้างครั้งผมยังต้องไปดูอย่างคดีในหน่วยอื่นที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นแนวของเรา เรียนรู้ให้มากขึ้น ไม่ใช่ปิดตัวเอง หยิ่งและทะเยอทะยานแล้วงานไม่ออก”

หากจะถามว่าประทับใจคดีใดบ้าง พล.ต.ท.ทวี บอกว่า มีมากมายที่ประสบความสำเร็จแล้วไม่เกิดความสูญเสีย ยิ่งเมื่อก่อนคดีเรียกค่าไถ่เกิดขึ้นถี่มาก ตำรวจต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อช่วยเหลือตัวประกันให้ปลอดภัย นอกจากความรู้สึกของคนเป็นพ่อแม่แล้วยังสะเทือนขวัญต่อประชาชนด้วย    ถ้าช่วยเหยื่อได้ก็จะถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุด

คดีแรกที่ทำสมัยเป็นสารวัตรที่สืบสวนเหนือในฐานะลูกมือของ พ.ต.อ.เจริญ โชติดำรงค์ ผู้กำกับสืบสวนเหนือยุคนั้น เป็นคดีเรียกค่าไถ่ลูกชายเจ้าของลูกชิ้นศรีย่านถูกคนงานจับตัวไป ดังเป็นข่าวครึกโครม พวกเราคลี่คลายจนสามารถจับกุมคนร้ายและยังช่วยตัวประกันมาได้อย่างปลอดภัย

อีกคดีเกิดขึ้นเมื่อปี 2519 คนร้ายจับหลานสาวนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูตจากบ้านในซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เรียกค่าไถ่ 3 ล้านบาท ทีมตำรวจสืบสวนเหนือใช้เวลาเพียง 7 วันสามารถช่วยเหลือเด็กออกมาได้พร้อมจับกุมคนร้ายทั้งหมด “เป็นภาพที่ผมประทับใจมากที่สุด เมื่อแม่กับลูกโผเข้าหากัน ปากก็พร่ำว่าเหมือนตายแล้วได้กลับมาพบกันอีก”

ถัดมาอีกปีมีการจับตัวเด็กหญิงลูกเจ้าของร้านขายนกเรียกค่าไถ่ 3 ล้านบาท สมัยนั้น พล.ต.อ.สุวรรณ รัตนชื่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมีคำสั่งเฉียบขาดว่า ต้องได้ตัวประกันกลับคืนมาอย่างปลอดภัยและจับเป็นคนร้ายให้ได้

“พวกผมวางแผนกันอย่างเคร่งเครียดแข่งกับเวลา ทำกันนานประมาณ 10 วันก็ประสบความสำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อและเงินทองสักบาทเดียว นี่แหละที่ผมอยากบอกว่า ตำรวจที่เข้าไปคลี่คลายคดีภูมิใจมากขนาดไหน” นายพลมือปราบถ่ายทอดความรู้สึกให้ฟัง            นอกจากคดีเรียกค่าไถ่แล้ว ประเภทมือปืนรับจ้างก็เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน คนร้ายที่รับงานมาทำหวังเพียงผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงผู้สูญเสีย ความรู้สึกของญาติพี่น้องผู้สูญเสีย

พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ กับทีมสืบสวนเหนือและใต้จำเป็นต้องจับตายไปหลายศพทั้งที่ไม่ใช่นโยบายของผู้ใหญ่ แต่สัญชาตญาณของมือปืนมักไม่ยอมให้จับเป็น เช่น นายทองย้อย รุ่งเพชร มือปืนเมืองเพชร นายประยงค์ ฉายามือปืนร้อยศพที่มีพฤติกรรมโหดเหี้ยมทารุณ            ฆ่าคนแล้วยังชอบปล้นและจับลูกเมียชาวบ้านไปข่มขืนอีกด้วย  “ถ้าปล่อยไว้แล้วเกิดเจอกับญาติพี่น้องเรา คุณจะรู้สึกอย่างไร”

ขณะที่คดีคนร้ายชาวต่างชาติเข้ามาก่ออาชญากรรมในเมืองหลวงสมัยก่อนอุกอาจมาก ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ปล้นทรัพย์ในเขตกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ถูกจับขึ้นศาล พรรคพวกที่เหลือโผล่ไปชิงตัวผู้ต้องหาถึงในศาล ใช้ระเบิดขว้างจนเจ้าหน้าที่บาดเจ็บหลายคนก่อนเอาตัวจำเลยหนีไปได้

“ผมเป็นหัวหน้าทีมในการสืบสวน รู้เบาะแสว่าพวกมันหนีมาอยู่หมู่บ้านการบินไทย มีลูกน้องในสังกัดสืบเหนือ ประกอบด้วย เผด็จ ทะละวงศ์  ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา สิทธิพร โนนจุ้ย และ ปรีชา ธิมามนตรี เข้าไปทำวิสามัญฯ คนร้ายรวดเดียว 4 ศพ ก่อนเข้าไปผมต้องอธิบายสถานการณ์ กำชับให้ทุกคนเข้าใจ คนร้ายมีอาวุธถึงสามารถเข้าไปชิงผู้ต้องหาในศาลได้ ใช้ทั้งระเบิดและปืน เมื่อล้อมจับต้องระมัดระวัง หากทำไม่ดีอาจเกิดความสูญเสีย”

“วันนั้นถ้าเข้าไปช้านิดเดียว มีตำรวจตายแน่ แค่ไม่ถึงนาทีเกิดเสียงปืนดังสนั่นบ้าน ผมรีบวิ่งไปข่วย เห็นลูกน้องปลอดภัยแล้วก็โล่งใจ”  มันเป็นอีกคดีสำคัญที่อดีตนักสืบชั้นครูของเมืองหลวงไม่เคยลืม

พล.ต.ท.ทวี ยังมีมุมมองถึงทายาทนักสืบรุ่นใหม่ที่กำลังขาดแคลนว่า ประการสำคัญอยู่ที่จุดเริ่มต้นของตำรวจ โดยเฉพาะโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือโรงเรียนพลตำรวจควรเชิญผู้ที่ประสบความสำเร็จในแต่ละฝ่ายไปบรรยายถ่ายทอดประสบการณ์ให้นักเรียนเหล่านี้ฟัง

“ตอนผมเป็นนักเรียนนายร้อย มีรุ่นพี่เอาตัวอย่างคดีต่าง ๆ มาเล่า  น่าสนใจมาก  บางเรื่องเป็นคดีฆ่าคนตาย เอาคนไปใส่ในกรดกำมะถันละลายไปทั้งตัวเหลือเป็นก้อนหินก้อนหนึ่ง ปรากฏว่า พอตรวจเอกซเรย์แล้วถึงรู้ว่าเป็นก้อนนิ่ว รู้ว่าในนี้ต้องมีคนตาย นำไปสู่กระบวนการสืบสวนหาตัวคนร้าย”

เหมือนปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นนักสืบให้เด็กรุ่นใหม่ได้ซึบซับตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วสถาบันตำรวจ

อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมากวิชานักสืบบอกอีกว่า การสืบสวนไม่ใช่โดดเด่นเพียงคนเดียว ต้องใช้ทีมเวิร์ก ผู้บังคับบัญชาต้องเป็นผู้นำที่ดีกับผู้ใต้บังคับบัญชา นำไปสู่กระบวนการทำงานที่ดี ทำอะไรให้ถูกต้อง มีพยานหลักฐาน ปลุกขวัญกำลังใจให้กับตำรวจที่ทำงานลำบากเหน็ดเหนื่อย

“ตอนผมขึ้นเป็นผู้บัญชาการ ได้เน้นกองสืบสวนเป็นหลัก พยายามวางตัวผู้ที่มีความรู้ความสามารถเรื่องงานสืบสวนไปเป็นหัวหน้าของแต่ละกองกำกับเพื่อให้เป็นผู้นำที่ดีของการสืบสวน สามารถประสบความสำเร็จเมื่อมีคดีเกิดขึ้น ถ้าผู้นำไม่มีความรู้จะนำลูกน้องไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจ นักสืบต้องเข้าใจซึ่งกันละกัน การปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาอย่าถือระเบียบข้อบังคับมากนัก บางทีผู้ใหญ่ผู้น้อยมาก  ผู้ใต้บังคับบัญชาอาจไม่ค่อยให้ความร่วมมือ”

และต้องจำไว้ด้วยว่า หัวใจหลักของนักสืบอยู่ที่ความสนใจของคน แต่ละเรื่องที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่ประสบการณ์การทำงาน มองตัวอย่างจากแต่ละคดี ทำอย่างไรถึงจับคนร้ายแล้วเข้าไปศึกษา

“ผมเกษียณมาถึงขนาดนี้ ผมยังต้องสนใจ โทรศัพท์ไปถามลูกน้องเสมอเวลามีคดีลึกลับซับซ้อน ว่าทำไปถึงไหน ทำอะไรไปบ้างแล้ว เมื่อประสบความสำเร็จก็จะแสดงความยินดี ให้กำลังใจพวกเขาตลอด”

ทั้งหมดคือ “กลเม็ดเด็ด” ที่ส่งให้ก้าวขึ้นทำเนียบตำนานมือปราบ

ทวี ทิพย์รัตน์ !!!

RELATED ARTICLES