“เรามั่นใจว่า หน่วยนี้ทุกคนที่ไปต้องการช่วย เหมือนปิดทองใต้ฐานพระก็ว่าได้”

 

สตรีดีเด่นสาขาการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบให้ในวันสตรีสากล เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายตำรวจหญิงเหล็กชายแดนด้ามขวาน พ.ต.ท.หญิง จันทร์จิรา ยอดรักษ์ นักวิทยาศาสตร์(สบ2)กลุ่มงานตรวจยาเสพติด ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 9 ปฏิบัติราชการกลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ทำงานเสี่ยงภัยในพื้นที่ตลอดหลายปี

อยู่เบื้องหลังเก็บวัตถุพยานในหลายคดีสำคัญเพื่อคลี่คลายปมการสืบสวนสอบสวนนำไปสู่การมัดตัวกลุ่มผู้ต้องหาก่อความไม่สงบ ชีวิตเธอผ่านเรื่องราวการทำงานโชกโชน “เฉียดระเบิด” และเห็นเพื่อนร่วมอาชีพกระจายร่างหายไปต่อหน้า

ถ้าหัวใจไม่แกร่งดุจเพชรคงอยู่ลำบาก

ลูกชาวสวนบ้านอยู่ยะลา เก่งวิชาวิทย์เริ่มต้นคิดเป็นครู

เธอเป็นลูกชาวสวนอยู่ในจังหวัดยะลา เรียนจบมัธยมโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง ไปต่อคณะศึกษาศาสตร์ สาขาเคมี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตมหิดลอดุลยเดช ปัตตานี ด้วยความที่อยากเป็นครู  อย่างน้อยน่าจะมีงานทำในอนาคต กระทั่งจบออกมาได้วุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต เพราะเลือกเรียนวิทยาศาสตร์เยอะตามที่ตัวเธอชอบ

ไปเป็นครูสมใจสอนระดับมัธยมโรงเรียนปทุมคงคาอนุสรณ์ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พ.ต.ท.หญิง จันทร์จิรา ยอมรับว่า เป็นครูอัตราจ้าง พอเอาเข้าจริงดูแล้วไม่ใช่ตัวเรา ไม่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ย่ำอยู่กับที่ สอนนักเรียนได้ปีเดียวเลยไปเรียนต่อปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตมหิดลอดุลยเดช หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื่องงจากเราเรียนด้านเคมีมาก่อนแล้ว ชอบทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก

“สมัยก่อนพ่อแม่ไม่ได้แนะนำอะไร อาศัยที่เราชอบ เลือกเรียนปริญญาโท เพราะมองว่า ออกจากงานแล้วจะไม่มีงานอื่นทำถึงเรียนต่อดีกว่า แต่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะจบ สุดท้ายต้องกลับไปเป็นอาจารย์อีก คราวนี้สอนระดับมหาวิทยาลัย ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สายงานมันเป็นแบบนี้ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่เหมือนตอนเป็นครูมัธยม เรื่องจุกจิกน้อยลง ไม่ต้องไปดูแลเด็กๆ ไปสอน ตามตาราง ถึงเวลาก็เลิก วิชาเคมี มันเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง”

เบื่อความจำเจสอนนักศึกษา หักเหมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ตำรวจ

ทำไปทำมา เธอรู้สึกว่า ทำงานไกลบ้าน พอมีเปิดสอบตำรวจปีนั้น รับวุฒิปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ เจ้าตัวบอกว่า สเปกมันมาพอดี ถ้าเป็นปริญญาตรีต้องเกียรตินิยม ปริญญาโทได้เกรดเท่าไรก็ได้ แต่ต้อง 3 ครึ่งถึงจะจบอยู่แล้ว เลยมาสมัครได้เป็นข้าราชการ ความคิดตอนนั้นคือมองว่า ลูกชาวบ้านที่ได้รับราชการ พ่อแม่จะเบิกสวัสดิการได้ อีกอย่าง คือได้กลับมาอยู่บ้าน

เริ่มต้นบทร้อยตำรวจตรีหญิง ตำแหน่งรองสารวัตรงาน 2 (ตรวจพิสูจน์) กองกำกับการวิทยาการเขต 12 เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่ปะทุหนัก เธอเข้ามาทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ตรงกับวุฒิการศึกษาที่ร่ำเรียนมา แม้ต้องใช้เวลาปรับตัวสักระยะ  “ใหม่ๆ ก็สนุก แต่เป็นงานที่ตรวจพิสูจน์ทำงานอยู่ในห้องแลป ไม่ได้ออกตรวจพื้นที่ หลังจากผ่านการฝึกอบรมที่สำนักงานวิทยาการตำรวจ”

พันตำรวจโทสาวเมืองยะลาเล่าว่า ท่านถาวรศักดิ์ เทพชาตรี เป็นผู้บัญชาการสำนักงานวิทยาการตำรวจจะรับสมัครคนที่มีความรู้จากต่างจังหวัดมาฝึกงานส่วนกลางก่อนย้ายลงตามภาค ก่อนจะย้ายมาอยู่กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุจากที่อยู่ในห้องแลปต้องออกไปเก็บหลักฐานข้างนอก เพราะขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญพอดี

รับสถานการณ์รุนแรงชายแดนใต้ ลงไล่เก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ

เป็นช่วงจังหวะไฟใต้คุกรุ่นปี 2547-2548 เธอบอกว่า มีเหตุเกิดขึ้นเยอะมาก เมื่อย้ายไปอยู่ตำแหน่งที่ต้องออกพื้นที่ ตอนนั้นคิดว่า ทำไมหน่วยงานทำแบบนี้กับเรา ถามว่า ชอบหรือไม่ ชอบงานตรวจพิสูจน์อาวุธปืน ตั้งใจมาตรวจตรงนี้ เพราะไปอบรมมา 9 เดือนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ จริงๆ ต้องฝึกอีก 1 ปี เพื่อเป็นผู้ชำนาญ แต่พอดีคนทางนี้ขาดเลยขอให้เอากลับมา โดยที่ยังไม่เป็นผู้ชำนาญ พอกลับมาก็มาลงงานที่เกิดเหตุ

“เป็นผู้หญิงคนแรกๆ ที่ต้องลงไปที่เกิดเหตุสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ถามว่าน้อยใจไหม ก็ไม่ได้น้อยใจตรงนี้ แต่มันน้อยใจตั้งแต่โดนย้ายมา ถ้ารู้ก่อนก็ดี แต่ก็โอเค ด้วยความที่เราเป็นคนที่ไม่ค่อยเรียบร้อย จะออกห้าวๆ  พอมาก็ต้องออกไปเหมือนน้องๆ ที่ต้องออกไปร่วมตรวจกับรุ่นพี่ จากนั้นสอบเป็นผู้ชำนาญด้านตรวจที่เกิดเหตุ  ตรวจมาจนถึงปี 2552 เก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุทุกอย่าง ทั้งคดีชีวิต คดีลักทรัพย์ คดีไฟไหม้ คดีระเบิด มีเยอะมาก ตอนนั้นตำแหน่งที่รับผิดชอบจะครอบคลุมเฉพาะจังหวัดยะลา”นักวิทยาศาสตร์ชายแดนใต้ว่า

เธอยกตัวอย่างว่า แต่ถ้าสมมติมีเหตุที่ไหนเยอะก็จะต้องไปช่วยเขา รุ่นนั้นจะมีผู้หญิง ยุคแรกๆ ของพิสูจน์หลักฐานที่ลงมาใต้หลายคน ไม่นานก็เจอประสบการณ์แรกเฉียดระเบิดที่สามแยกบ้านเนียม ขณะไปร่วมตรวจกับรุ่นพี่ เป็นระเบิดลูกสองที่เขาวางดักไว้  เราไปกันเป็นทีม ที่เกิดเหตุเป็นร้านค้าขายของชำ วางของระเกะระกะแน่นไปหมด

 

ประสบการณ์เฉียดระเบิดครั้งแรก ดีที่แยกตัวออกจากที่เกิดเหตุก่อน

พ.ต.ท.หญิง จันทร์จิรา ย้อนนาทีระทึกว่า คนร้ายยิงเจ้าของร้านตาย มีพยานบอกว่า ก่อนจะเข้าไป เห็นมือปืนหิ้วอะไรเข้าไปด้วย แต่พอออกมา คนร้ายสองคนไม่ได้หิ้วออกมา เราไปคอยจนหน่วยอีโอดีตรวจวัตถุระเบิด ส่งสัญญาณว่า  เคลียร์ ด้วยความที่พยายามหาแล้ว แต่หาไม่เจอ เพราะร้านขายของชำวางของแน่น เมื่อแจ้งเคลียร์ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานถึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้

“เข้าไปทำงานในร้าน ก็เห็นแล้วว่า ขวดน้ำปลาแตก การที่ขวดมันจะแตก มันต้องมีอะไรสักอย่าง พอยกดูก็ปรากฏว่า มีหัวกระสุนในถุงพลาสติก เลยถามทีมว่า มีถุงเก็บหลักฐานไหม ไม่มีใครมี เราเลยโกรธเดินออมานอกร้าน เพราะท้ายรถจะมีถุงเก็บหลักฐานอยู่ กะไปเอามา หยิบเสร็จปิดรถเตรียมหันหลังจะเดินกลับก็ตูมเลย”

“ประมาณ 5 วีนาทีคนที่อยู่ข้างในลอยกระเด็นออกมา มีพี่คนหนึ่งตัวใหญ่ เราก็เข้าไปถามว่า เป็นยังไงบ้าง เขาก็งง ๆ ยอมรับว่า ยังไม่กล้าเข้าไปข้างใน รู้ว่า มีทีมงานหลายคนอยู่ในนั้น ได้แต่ตะโกนเรียก ก็เงียบ สักพักมีวิ่งออกมา บอกให้ช่วยดูหลังให้ด้วยเป็นจ้ำ ๆ  โชคดีระเบิดไม่สมบูรณ์ มีแค่แรงระเบิด เลยไม่มีใครตาย ไม่มีใครเจ็บ แต่ก็คือประสบการณ์ครั้งแรก คิดว่า เราโชคดีแล้วที่ออกมาเอาของ” นักวิทยาศาสตร์ระดับสารวัตรจำภาพแม่น

ระลอกสองยืนคร่อมกับดัก เท้าไม่ได้ปักเหยียบเป้าหมาย

“อยู่ในพื้นที่ นอกจากความรอบคอบแล้ว ถ้าถึงเวลามันก็ไปนะ มันก็ต้องคิดอย่างนี้ แนวคิดตอนนี้คือ ถ้าถึงเวลาเรา ไม่ว่า เราจะอยู่ที่ไหน อยู่หาดใหญ่ หรือที่ไหนๆ ก็ตาม ถ้าถึงเวลา เราก็ไป ข้างบน คือ ที่เรามองไม่เห็น คนที่เขาลิขิตแล้วว่า เราจะต้องเจออะไร เพียงแต่ว่าเราไม่รู้ เหตุการณ์ข้างหน้าก็ยังไม่ได้คิดอะไร เราก็เป็นเป้าอยู่ แต่จะเป็นชุดสุดท้ายที่เข้าไป เราต้องเข้าแน่ๆ แต่เราก็ต้องฝากชีวิตไว้กับคนอื่น”

ผ่านเหตุการณ์แรกมาเจออีกครั้งระหว่างตรวจที่เกิดเหตุบ้านเปาะเส็ง เมืองยะลา คราวนี้ระทึกกว่าเก่า พันตำรวจหญิงพิสูจน์หลักฐานเล่าว่า เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุเกือบเสร็จแล้ว กำลังเก็บของ พี่ทีมงานเห็นสายไฟก็แจ้งให้หน่วยอีโอดีเข้ามาตรวจอีกรอบ ปรากฏว่า เรายืนคร่อมระเบิดอยู่ ลูกแรกกับลูกที่สองห่างกันไม่ถึงเมตร เอาดินกลบไว้ต้องเหยียบ แต่เราไม่ได้เหยียบ เขาวางไว้อยู่ริมถนน ธรรมชาติเราจะไม่เหยียบดินกับถนน พร้อมกัน เราจะข้ามไปเหยียบอันใดอันหนึ่ง

เธออธิบายว่า คนร้ายวางชิดขอบถนน เราก็เลยข้ามไปข้ามมา ชุดนั้นก็เป็นผู้หญิงคนเดียว ทีมงานก็แซวกัน ตอนนั้นเป็นผู้กอง เขาว่า ถ้าไม่ได้ผู้กอง ข้ามไปข้ามมาพวกเขาตายไปแล้ว ของมันเสื่อม แต่ว่า เคสนั้นกู้ทัน เพราะเห็นสายไฟ พอเห็นปุ๊บก็เดินข้ามไป แล้วให้อีโอดีมาจุดทำลาย เป็นระเบิดสมบูรณ์ ถ้าระเบิดก็ 4-5 ศพตรงนั้น คงต้องใช้วิธีโกยใส่ถุง ไม่ทันเก็บ

 

ครั้งที่สามตามตรวจสถานีรถไฟ เห็นเพื่อนร่วมอาชีพไฟท่วมตายต่อหน้า

ทำงานตรวจที่เกิดเหตุตลอดหลายปีที่ความรุนแรงเกิดขึ้นบนปลายด้ามขวาน ผ่านประสบการณ์ระทุกนับไม่ถ้วน แต่ที่ติดตามากสุดเห็นจะเป็นครั้งที่คนร้ายลอบวางระเบิดหน้าสถานีรถไฟยะลา พ.ต.ท.หญิง จันทร์จิรา ถ่ายทอดเรื่องราวสะเทือนใจคราวนั้นว่า เข้าเวรตอนเช้าไปตรวจที่เกิดเหตุระเบิดอยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ นักข่าวยังแซวว่า ผู้กองเรียกแขกอีกแล้ว คนร้ายล่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจเหตุระเบิดเล็กน้อยตรงตะกร้าหน้ารถเสียหายนิดเดียว

“ดันมีมอเตอร์ไซค์จอดอยู่อีกคัน ข้างกระถางต้นไม้ ตรงหน้าสถานีรถไฟ ข้อดีของการไปที่เกิดเหตุเร็วคือ ไปดูว่า อีโอดีเคลียร์ตรงไหนบ้าง อยู่จนอีโอดีเข้า ก็ยืนรออยู่ฝั่งตรงข้าม พออีโอดีเดินเข้าไปใกล้ และกำลงจะเดินออกมา มีคนหนึ่งเห็นทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์เอาเทปดำปิดเลข 5 ไว้ อำพรางให้เป็นเลข 6 ทั้งหมดถูกสั่งถอย หน่วยอีโอดีกำลังก้าวออกมาคนร้ายก็กดระเบิดตูม”

เป็นภาพวินาทีเหี้ยมอำมหิตติดความทรงจำของตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น นายตำรวจหญิงพิสูจน์หลักฐานเห็นร่างของหน่วยอีโอดีไฟลุกท่วมย่างสดต่อหน้าต่อตา “เราดูสถานการณ์อยู่ก่อนระเบิด จังหวะที่ส่งสัญญาณเข้าที่กำบังก็ระเบิดขึ้น ทั้งเราและทีมงาน 4-5 คนมารู้ตัวอีกทีตอนกระเด็นไปนอนที่พื้นแล้ว ช่วง 5-10 วินาทีแรก เราจะไม่รู้ตัวเลยว่า อยู่สภาพนั้นได้อย่างไร แรงระเบิดมันผลัก ถลอกปอกเปือกกันไปตามสภาพ”

สมาธิอยู่กับการเก็บวัตถุพยาน สร้างเนื้องานที่ไม่ต้องการถูกตำหนิ

ตำรวจหญิงเหล็กสตรีดีเด่นประจำปีล่าสุดสารภาพว่า เวลาที่พวกเราเข้าที่เกิดเหตุจะไม่ค่อยคิดอะไร พอไปทำงาน ก็คือไปทำงาน เราเข้าที่เกิดเหตุแล้ว เราจะมีสมาธิอยู่แต่ว่า  จะเข้าไปหาอะไร ไปดูอะไร จะต้องทำอะไร เพราะบางทีเราไปถึง แล้วกลับมา เราได้ไม่ครบตามประเด็นในสิ่งที่เราควรจะหา ควรจะได้ เราก็จะต้องดูอะไร เก็บอะไร มันอยู่ตรงนี้ บางทีเราไปก่อนที่อีโอดีจะเข้าเคลียร์ ก็คือดูห่างๆ แล้วตอนนี้สิ่งนี้อยู่ตรงนี้ อันนี้น่าสงสัย อันนี้น่าสนใจ จะคิดอยู่กับตรงนั้น เพราะว่าเวลากลับมาแล้วข้อมูลไม่พอต่อการเขียนรายงานมันจะเครียด

เธอว่า ต้องเก็บหลักฐานให้ได้มากที่สุด เหมือนกับเป็นคำถามบางคำถามที่เราไม่ทันได้ถามตัวเอง แล้วพอกลับมาถึง มีหน่วยอื่นถาม มีผู้ใหญ่ถามแล้วเราตอบไม่ได้ อะไรประมาณนี้ พอมีคำตำหนิ เลยทำให้เป็นปัญหา ในสถานะที่เราเข้าไป เราต้องคิดหลายเรื่อง บางทีไม่ได้รอบคอบ จึงมีช่องกลับมาตอบคำถามไม่ได้ เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ บางทีเราก็เหนื่อยแล้ว แต่ทำไมเรายังต้องถูกตำหนิอีก ก็ต้องบอกทีมงาน  อย่าให้เขาตำหนิซ้ำ เราทำงานเหนื่อยแล้ว อย่าให้เสียกำลังใจโดยการถูกตำหนิ บางทีเราไปมันไกล เราก็เหนื่อย ก็ล้า

“ถามว่าสนุกไหม ก็สนุกนะ ได้ไปในที่ที่ไม่มีใครไป ได้ทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำ ได้เห็นในสิ่งที่มีใครหลายคนเขาอยากรู้ แต่ไม่มีโอกาสได้รู้ และสิ่งที่สำคัญ เราเชื่อว่า เราตั้งใจ แล้วเราช่วยเขา บางทีเหมือนกับมีคนพูดว่า ตำรวจไม่ดี ตำรวจงี่เง่า แต่เหมือนกับเราไม่ใช่ เรามั่นใจว่า หน่วยนี้ ทุกคนที่ไป ต้องการช่วย เหมือนปิดทองใต้ฐานพระก็ว่าได้”

 

ความเครียดสะสมรุมเร้า นายต้องเอาโยกออกนอกพื้นที่

หลังจากเหตุการณ์ที่สถานีรถไฟยะลา เจ้าตัวรับว่า  เครียดพอสมควร มิหนำซ้ำบ้านตัวเองยังโดนระเบิด โชคดีที่ไม่รุนแรง เคยคุยกับที่ทำงานบอกว่า ถ้าเหตุเกิดในพื้นที่ที่บ้านจะไม่ขอตรวจ เพราะตั้งแต่ทำงานมา ไม่เคยเข้าเวรทำงานในเขตเทศบาลแถวบ้านเลย ทำงานแต่รอบนอก เป็นความโชคดีที่ข้างบน คือคนที่เรามองไม่เห็นเขา เราขอไว้ พื้นที่บ้านเกิดระเบิด 100 เปอร์เซ็นต์ เคยชวนแม่ย้ายบ้าน แกว่า ไม่ไป อยู่ที่อื่นแล้วจะนั่งกินข้าวกับใคร นี่คือวิถีคนพื้นที่ ไทยพุทธกับอิสลาม บอกได้เลยว่า อยู่ด้วยกันได้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนตัวคิดว่า เป็นเรื่องการเมือง กับเรื่องแนวคิดที่แตกต่างกัน

“เรา คือ เจ้าหน้าที่รัฐที่โตมากับพื้นที่ เราจะมีมุมมองของคนในพื้นที่ที่ไม่ใช่มุมมองของรัฐที่ไม่เคยอยู่ในพื้นที่ หรือมีครอบครัวอยู่ในพื้นที่ หลายคนแอบแซวว่า ถ้าอยากให้ปัญหานี้จบ คนที่ย้ายมาทำงานในพื้นที่ต้องเอาครอบครัวมาด้วยมันจะจบเร็วมาก อย่าบอกว่า การที่มาทำงานแล้วเสี่ยง ที่อื่นก็เสี่ยงเหมือนกัน แต่จะพยายามใช้ชีวิตให้เป็นปกติ ตามแนวคิดที่ย้ำตัวเองเสมอ ถ้าถึงเวลา มันก็ไป”

ความเครียดสะสม ยุค พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง เป็นผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ จึงเสนอให้เธอย้ายออกนอกพื้นที่ไปประจำศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 9 จังหวัดสงขลา เพราะไม่อยากให้เสี่ยง กลับไปทำงานอยู่ในห้องแลปเหมือนเก่า ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์(สบ2) กลุ่มงานตรวจยาเสพติด นาน 4 ปี เริ่มไม่สนุก

สุดท้ายกลับคืนสู่สมรภมิเก่า ถ้าปฏิเสธบ้านเราแล้วใครจะช่วย

ในที่สุด พ.ต.ท.หญิง จันทร์จิรา คืนสมรภูมิถิ่นเกิดมาช่วยราชการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 อีกครั้ง เธอให้เหตุผลว่า กลับมา เพราะไม่มีคนช่วย แล้วในมุมมองเรา คือ ถ้าเราปฏิเสธบ้านเรา แล้วใครจะช่วย บ้านเรายังปฏิเสธแล้วใครจะมาช่วยเรา กลับมาอยู่ได้ 6 เดือน จังหวัดนราธิวาสขาดคนเลยโยกไปทำงานที่นั่น ตรวจที่เกิดเหตุเหมือนเดิม ก็หนักพอๆ กัน หนักตรงที่มีการปิดล้อมตรวจค้นบนภูเขา เดินไปกลับ 2 ชั่วโมง ถึงกระนั้นยังไม่วายเจอประสบการณ์เฉียดบึมอีก

สารวัตรจันทร์จิราบอกว่า ระหว่างทางไปตรวจที่เกิดเหตุอำเภอตากใบก็เจอเลย บอกไม่ถูกว่า เขาจงใจหรือไม่ เพราะได้รับแจ้งว่า เส้นทางนั้นจะเป็นเส้นทางที่เจ้าหน้าที่ราชการจะไปทำกิจกรรมที่ตากใบ มีผู้การนาวิกโยธิน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครธิวาส ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้เส้นทางนี้

“รถเราเป็นโตโยต้า วีโก้ สีบรอนซ์ทอง มีหลังคา เข้าใจว่า คนร้ายรู้เป้าหมายเป็นรถหน่วยงานรัฐ แต่ด้วยความที่รถเป็นเกราะหมดเลย ตัวถัง กระจก พอตูมขึ้นมาก็ไม่เป็นไรอะไรมาก มีความรู้สึกเสียงดังตรงกระจกข้าง ถ้าเจอเหตุการณ์ต้องออกจากคิลลิ่งโซนก่อน เพราะไม่รู้จะมีอะไรตามมาอีกหรือเปล่า ถือเป็นความโชคดีอีกครั้ง”

 

ผ่านเรื่องราวจนต้องปลงต่อโลก โชคดีของคนตาย โชคร้ายของคนเจ็บ

“ถ้ารถไม่มีเกราะเราก็จะไม่เจ็บ คือ ไปเลย ถือเป็นโชคดีนะ มุมของเรา คือ โชคดีของคนตาย โชคร้ายของคนเจ็บ ตูมเดียวจบ ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว แต่ถ้าสมมติว่า ขาขาด พิการอะไรแบบนี้ ประเภทที่ว่า เหลือแต่สมองที่ทำงานได้ แล้วนอนให้คนอื่นหยอดน้ำหยอดอาหาร แล้วภาครัฐเขาก็จะช่วยได้แค่ช่วงหนึ่งระยะต้น ที่มันบูมๆ พอถึงเวลาก็ต้องดูแลตัวเอง

“แล้วถ้าต้องเป็นแบบนี้ 10 ปี 20 ปี เราไหวไหม เลยภาวนา เป็นแนวคิดกับตัวเองว่า ถ้าเกิดกับตัวเองก็อย่าให้เจ็บแบบนี้ ขอให้ไปเลยดีกว่า” ตำรวจนักวิทยาศาสตร์หญิงใจเพชรเปิดมุมมอง

“ไม่ต้องช่วยมาก ไม่ต้องต่อท่อ คุยกับสามีไว้แล้ว เขาก็ทำงานแบบนี้เหมือนกัน ไม่ต้องยื้อ ให้มันเป็นไปตามที่ควรจะเป็น สิ่งที่สำคัญ คือ การไปยื้อแล้วถ้าแค่สมองเราทำงาน ตัวเราขยับอะไรไม่ได้ เราไม่เอาดีกว่า”

เผยคนร้ายระมัดระวังขึ้นมาก ทำให้ยากต่อการติดตามมัดตัว

ประสบการณ์ทำงานพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สาวกองพิสูจน์หลักฐานยังเล่าว่า ได้ข้อดีของการกับหลายหน่วย ทำให้มีเพื่อนเยอะ ตรงกันข้ามยังเปิดโอกาสให้ศึกษาแผนประทุษกรรมคนร้ายที่พบว่า พัฒนาการของคนร้ายมีมากขึ้น การติดตามตัวจึงยากขึ้น เพราะคนร้ายจะระมัดระวังเรื่องการทิ้งพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ แปลว่า คนร้ายเก่งขึ้น รู้จักปกป้องตัวเองในการทำงาน  “คนร้ายดูหนังเรื่องเดียวกับเรา เช่น เอ็นซีไอเอส หรือซีเอส ใช้เครื่องมือตัวเดียวกัน แต่วิธีการนำเสนอของจริงต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนกว่าจะเปรียบเทียบนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหา มันไม่ง่ายเหมือนในหนัง  แต่คือ หลักการเดียวกัน เพียงแค่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน”

สำหรับผลงานปิดทองใต้ฐานพระของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 9 ที่มีเธอร่วมอยู่เบื้องหลัง อาทิ ร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ คดีระเบิดหน้าร้านคาราโอเกะและหน้าร้านติ๊กหมูกะทะ ถนน ณ นคร อำเภอเมืองนราธิวาส เก็บวัตถุพยานนำไปสู่การจับกุม นายริดวน  สุหลง ขึ้นพิจารณาในชั้นศาล อีกทั้งเข้าร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ พื้นที่อำเภอสายบุรีร่วมกับพิสูจน์หลักฐานจังหวัดปัตตานี ระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ผ่านเส้นทางยะลา-ทุ่งยางแดง พบรถตำรวจทุ่งยางแดงถูกลอบวางระเบิดจึงเข้าช่วยเหลือ พร้อมตรวจพบวัตถุพยานจำนวนมากจากบริเวณจุดซุ่มกดระเบิด และสามารถตรวจดีเอนเอหาผู้กระทำความผิดเชื่อมโยงไปยังการก่อคดีอื่นอีกหลายคดี

นอกจากนี้ ยังเข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีวิสามัญฆาตกรรมคนร้าย 3 ศพ ระดับแกนนำของคดีก่อความไม่สงบบริเวณบ้านต้นหยี ตำบลลำพะยา เมืองยะลา เก็บวัตถุพยานหลายรายการรวมทั้ง โทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์เก็บข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ และอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุในพื้นที่นำไปสู่การจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ถูกยกเป็นสตรีดีเด่นด้านความมั่นคง ยืนยันจะยังคงปักหลักพื้นที่บ้านเกิด

รับรางวัลมากมาย ตั้งแต่ปี 2551 เป็นข้าราชการตำรวจดีเด่น ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ควบกับรางวัลเกียรติยศ ข้าราชการตำรวจดีเด่นต้นแบบ ของมูลนิธิบุณยะจินดาเพื่อข้าราชการตำรวจ ปี 2558 ได้เป็นข้าราชการตำรวจที่ประพฤติดีเยี่ยมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และปี 2559 ถูกคัดเลือกให้เป็นสตรีดีเด่น สาขา การส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องในวันสตรีสากล เป็นตำรวจหญิงฝ่ายความมั่นคงคนเดียวที่ได้รับ

พ.ต.ท.หญิง จันทร์จิรา ยืนยันว่า ทำงานไม่เคยคาดหวังรางวัล ถามว่า เราพิเศษไหม เราก็ไม่ได้พิเศษกว่าคนอื่น เราแค่ทำงานมานานกว่า และมีประสบการณ์ มีความคุ้นเคยกับความเสี่ยงที่จะต้องเจอ ถ้ามีคนทำแล้ว จะรู้สึกว่าเราออกก่อนดีกว่า แต่ถ้าเขาขาดคนจะให้มาช่วยได้อีกไหม ก็ได้

“อย่างที่บอก บ้านเรา ถ้าเราไม่มาช่วย แล้วใครจะมาช่วย ถ้าเรายังไม่อยู่ แล้วใครจะอยู่ สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตอนนี้ คือ อยากให้สู้ พูดแล้วจะร้องไห้ คือเราต้องรุก ภาพข้างนอกมองว่า มันเป็นเรื่องศาสนาหรือไม่ มันไม่ใช่เลย มันเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่สร้างสถานการณ์ความรุนแรงให้เกิดขึ้น” สารวัตรหญิงเดนตายทิ้งท้าย

 

 

 

 

RELATED ARTICLES