“การรักษาการครั้งนี้เหมือนเป็นการจุดประกายให้เห็นว่า ผู้หญิงก็ทำได้”

แม้จะเป็นมวยแทนชั่วคราวช่วงระยะเวลาเดือนเศษ แต่แสดงศักยภาพพิสูจน์ฝีมือให้ผู้บังคับบัญชาเห็นว่า ผู้หญิงก็มีสิทธินั่งเก้าอี้ “หัวหน้าโรงพัก” ได้ในอนาคต

ในทันทีที่ พ.ต.อ.หญิง ปวีณา  เอกฉัตร ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 ได้รับความไว้วางใจให้ไปรักษาการตำแหน่งผู้กำกับการ สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู แทน ...บรรยง แดงมั่นคง ที่โดน “พิษสถานบริการ” เด้งลงกรุศูนย์ปฏิบัติการกองบังคับการตำรวจนครบาล 8

ทำให้เธอกลายเป็น “นายตำรวจหญิงคนแรก” ในประวัติศาสตร์ยุทธจักรสีกากีของเมืองไทยที่เข้าไปสวมบท “ผู้กำกับการโรงพัก” คุมทัพบริหารขับเคลื่อนระบบงานทั้งหมด

สมเจตนารมณ์เดิมของอดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่เคยวาดฝันไว้เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า

คำสั่งรักษาการแทนออกมา ยังแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง

หลังจากทหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในนำกำลังบุกทลายสถานบันเทิงเวฟผับ ชั้น 3 อาคารธนบุรีพลาซ่า ถนนรัชดาภิเษก แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร คุมตัวนักท่องราตรีเกือบกว่า 500 ชีวิตไปตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด พบสีม่วง 38 คน และเจอยาเสพติดอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังดำเนินคดีเจ้าของสถานบันเทิงข้อหา เปิดเกินเวลา  และไม่มีใบอนุญาตอีกด้วย

ส่งผลให้ พล.ต.ต.สัมฤทธิ์ ตงเต๊า ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 เซ็นคำสั่งเด้ง 5 เสือโรงพักตลาดพลูเข้ากรุประจำศูนย์ปฏิบัติการกองบังคับการตำรวจนครบาล 8 ประกอบด้วย พ.ต.อ.บรรยง แดงมั่นคง ผู้กำกับการ พ.ต.ท.ปรารภ เสริฐสูงเนิน รองผู้กำกับการสืบสวน พ.ต.ท.นราวุฒิ รักษาวงศ์ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม พ.ต.ต.ภานุวัชร เจริญยิ่ง สารวัตรสืบสวน และ พ.ต.ท.ไพจิตร คำบาล สารวัตรป้องกันปราบปราม พร้อม มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.หญิง ปวีณา เอกฉัตร ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 8  ไปรักษาราชการแทนผู้กำกับการ สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู เป็นที่ฮือฮาในวงการตำรวจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

“ตอนแรกไม่เชื่อนะ เพราะไม่เคยมีมาก่อน” พ.ต.อ.หญิง ปวีณาเผยความในใจ เธอบอกว่า ไม่ได้โดนทาบทามด้วยซ้ำ คำสั่งออกวันนั้นก็มาทำหน้าที่วันนั้นทันที แม้เคยจะไปรักษาการแทนผู้กำกับโรงพักมาแล้วสมัยที่เป็นหัวหน้างานสอบสวน แต่เป็นเพราะผู้กำกับลา ไม่ได้คุมงานทุกอย่างเหมือนที่ต้องมาดูภาพรวมของโรงพักทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรการ งานป้องกันปราบปราม งานสืบสวน งานสอบสวน งานจราจร ต้องทำให้อยู่ภาวะที่สามารถเดินต่อไปได้ ไม่สะดุด

เป็นภารกิจใหม่ที่ท้าท้าย แอบดีใจเมื่อผู้เป็นนายให้โอกาส

เธอยอมรับรู้สึกกดดันอยู่เหมือนกัน เพราะยังไม่เคยทำงานตรงนี้มาก่อน ส่วนมากเป็นงานเฉพาะ เป็นงานสอบสวน งานเฉพาะด้าน แต่รู้สึกดีใจ แอบดีใจที่ผู้บังคับบัญชามองเห็นความสำคัญ ให้โอกาสที่จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารงานโรงพัก คิดว่า คงไม่มีโอกาสง่ายๆ ที่จะได้มาในกรณีที่เป็นผู้หญิง ถ้าถามว่า ตำรวจทุกคนก็คงมีเป้าหมายอยากเป็นหัวหน้าสถานี เพราะจะได้บริหารงานได้เต็มที่ เนื่องจากหน้างานสำคัญของโรงพักได้สัมผัสใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด

“เป็นงานใหม่ที่ท้าทาย ท่านผู้การก็บอกว่า ให้โอกาสมาลองทำดู ช่วงระยะเวลาอาจไม่นานนัก ถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ความเป็นผู้หญิงกับการเป็นหัวหน้าโรงพักอาจจะไม่ดีกว่าผู้ชาย ทว่าบางมุมน่าจะมีความละเอียดรอบคอบกว่า ผู้ชายอาจมองเข้มแข็งใช้กำลัง แต่เรื่องของงานบริหารจัดการไม่ได้ลงไปใช้กำลังในการแก้ปัญหา ตรงนี้ถึงเป็นเรื่องของความเท่าเทียมกันที่ผู้หญิงมีสิทธิทำได้เช่นกัน”

ถึงกระนั้น พ.ต.อ.หญิง ปวีณาบอกว่า การบริหารงานโรงพักจะแตกต่างกับสมัยที่ตัวเองเคยเป็นผู้กำกับการสอบสวน หรือหัวหน้างานสอบสวนที่จะไปไหนได้ไม่ต้องกังวล ตอนนั้นแค่ดูสำนวนอย่างเดียว แต่ตรงนี้ต้องดูภาพรวมของโรงพัก แจกงานให้แต่ละฝ่าย แล้วตามดูอีกทีว่าที่ สั่งไปคืบหน้าอย่างไร ทว่าไม่ได้ไปลงในรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติ

 

ไร้ปัญหาการบังคับบัญชา เพราะว่าตำรวจมีระเบียบวินัย

ตลอดระยะเวลาเดือนเศษในการกุมบังเหียนโรงพักตลาดพลู นายตำรวจหญิงมือสอบสวนของนครบาลไม่มีปัญหาการบังคับบัญชาตำรวจชาย เธอบอกว่า ความเป็นผู้หญิงขึ้นมานั่งหัวหน้าหน่วยไม่ใช่ปัญหาที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะเล่นแง่ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ตำรวจเป็นข้าราชการที่ไม่ใช่พลเรือน  มีระดับชั้นยศ มีการสั่งการตามสายบังคับบัญชา และต้องอยู่ในระเบียบวินัยที่กำกับอยู่

“ลูกน้องทุกคนโอเคนะ เพราะเวลาเรามาอยู่จริง ๆ เราไม่ได้ทิ้งเขา เราอยู่ตลอด มีปัญหา มีคำถามอะไร ก็ให้คำปรึกษาได้ ประเด็นสำคัญของปัญหาบริหารงานโรงพักจริง ๆ คือ เรื่องของบุคลากรไม่พอต่างหาก คือจำนวนตำแหน่งที่อนุมัติกับตัวจริงที่ปฏิบัติหน้าที่จริงไม่ตรงกัน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ จำเป็นต้องคอยประคับประคองช่วยแก้ปัญหา” พ.ต.อ.หญิง ปวีณาบอกและว่า โชคดีที่ พล.ต.ต.สัมฤทธิ์ ตงเต๊า ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 มีโครงการโรงพักภาคี เวลาเกิดเหตุคดีอาชญากรรมสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ข้างเคียงจะประสานเข้ามาช่วยอีกแรง

ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 ย้ำว่า การบริหารงานโรงพักตลาดพลูแล้วต้องประสานโรงพักข้างเคียงที่เป็นภาคีไม่น่าหนักใจ ด้วยความที่ตัวเองคลุกคลีอยู่พื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 มาตลอด รู้จักคุ้นเคยกับตำรวจในพื้นที่เป็นอย่างดี เพราะมุมของงานสอบสวนก็ต้องรับผิดชอบประสานตามโรงพักอยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้มารักษาการแทนผู้กำกับก็มีออกตรวจบ้าง แต่เรื่องปล่อยแถวจะมอบให้รองผู้กำกับการป้องกันปราบปรามดำเนินการ ขณะที่งานจราจรมอบให้สารวัตรจราจร งานสืบสวนมีรองผู้กำกับการสืบสวนที่มารักษาการดูแล ส่วนตัวเองจะดูภาพรวม ดูสถิติคดี

 

นั่งขับเคลื่อนงานในพื้นที่ เร่งรัดคดีปิดช่องโอกาสโจรลงมือ

เจ้าตัวอธิบายการบริหารงานต่อว่า   เวลาเข้าประชุมบริหารประจำเดือน ผู้กำกับต้องดูสถิติคดีในแต่ละกลุ่ม คดีที่เกิดแล้วจับได้หรือไม่ ถ้าจับไม่ได้ต้องดูว่า  มีปัญหาอะไรยังไง อย่างกรณีคดียาเสพติดต้องมีเป้าหมายตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรามีหน้าที่ต้องลงไปเร่งรัด โชคดีนายตำรวจที่มาช่วยรักษาการในทีมเดียวกันรวมทั้งหมด 5 คน เป็นทีมที่ท่านผู้การเลือกมาแล้ว ล้วนมีความสามารถช่วยกันขับเคลื่อนให้งานบริหารเดินต่อได้

สำหรับคดีในพื้นที่โรงพักตลาดพลู เธอเล่าว่า ส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดและลักทรัพย์บ้างประปรายไม่เยอะเท่าไร เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชนเก่าของฝั่งธนบุรีอยู่อาศัยกันมานาน ไม่ค่อยมีวุ่นวาย ประกอบกับพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมแค่ 2.7 ตารางกิโลเมตร แต่เราไม่ได้ประมาท จะเน้นกวดขันฝ่ายป้องกันปราบปรามและฝ่ายสืบสวนออกตรวจปิดล้อมจับกุม พยายามปิดช่องทางโอกาสของคนร้ายที่จะเข้ามาก่อคดีในพื้นที่

เธอมีมุมมองเพิ่มเติมอีกว่า แม้ตำรวจหญิงจะเติบโตมาจากสายงานสอบสวน แต่ไม่น่าเป็นปัญหาที่ต้องทำเรื่องการสืบสวนของโรงพักในการไล่ติดตามคนร้ายหรือตามหมายจับคดีค้างเก่า เพราะการรวบรวมพยานหลักฐานพนักงานสอบสวนจะรู้ดีที่สุด การนำพยานหลักฐานต่าง ๆ เข้าสู่สำนวนการสอบสวน พนักงานสอบสวนเป็นคนรวบรวม สุดท้ายเราสามารถแบ่งงานให้ใครทำจึงไม่เป็นอุปสรรคใด ๆ สำหรับตำแหน่งผู้กำกับการหญิง

เคยถูกคัดเลือกใน 3 ตัวเต็ง เล็งเก้าอี้หัวหน้าโรงพักหญิงคนแรก

“ส่วนตัวคิดว่า การรักษาการครั้งนี้เหมือนเป็นการจุดประกายให้เห็นว่า ผู้หญิงก็ทำได้ อาจจะเป็นคนหนึ่งที่ทำให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูง พิจารณาให้โอกาสมาเป็นตัวจริงสำหรับผู้หญิง ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ใช่เราก็ได้  แต่เป็นคนอื่นที่มีความรู้ ความสามารถ อย่างนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงที่ผลิตออกมาแล้ว พวกเขาจะมองเห็นอนาคตว่า เขาอาจจะได้มาเป็นหัวหน้าสถานีสักวันหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้”

ก่อนหน้าเมื่อปี 2559 สมัย พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ทำโครงการนำร่องเพื่อสอดคล้องแนวคิดจะแต่งตั้งตำรวจหญิงยศ พ.ต.อ.นั่งผู้กำกับการโรงพักในเมืองหลวง ให้เหตุผลว่า ผู้หญิงในสังคมปัจจุบันมีความรู้ความสามารถ ประกอบกับสิทธิสตรีต้องเท่าเทียมกับชาย จึงมอบหมายฝ่ายอำนวยการ 1 รับผิดชอบงานกำลังพลตรวจสอบรายชื่อ ข้าราชการตำรวจหญิง พร้อมทั้งสอบถามความสมัครใจเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้กำกับการหน้าสถานีตำรวจนครบาล

ผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาครั้งมีเพียง 3 นาย นอกจาก พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี ผู้กำกับการ (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน พ.ต.อ.หญิง ดรุณี ทัศนา ผู้กำกับการ (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ยังมี พ.ต.อ.หญิง ปวีณา เอกฉัตร ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้กำกับการ (สอบสวน)สถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา ผลสุดท้ายโครงการถูก “พับหายไป” ไม่ได้มีการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายตามที่คาดหวัง

 

แสดงวิสัยทัศน์ตามสไตล์ถนัด  สุดท้ายชะตาพัดพาให้มาพิสูจน์ตัวเอง

นายตำรวจหญิงมือสอบสวนย้อนเรื่องราวของโอกาสครั้งนั้นว่า มีคุณสมบัติได้รับคัดเลือกเข้าไปแสดงวิสัยทัศน์แค่ 3 คน  ท่านผู้บัญชาการศานิตย์ ทำเป็นโครงการว่า อาจจะให้เป็นผู้กำกับทั้ง 3 คน หรือว่าอาจจะสัก 1 คน ให้แสดงวิสัยทัศน์ประมาณว่า หากเป็นหัวหน้าโรงพักแล้วเราจะทำอะไรบ้าง ศักยภาพของเรามีอะไร มีประเด็นไหนบ้างที่จะต้องทำ  ทำพรีเซนเทชั่นให้คณะกรรมการรับฟัง แต่ไม่ได้ประกาศผลว่า ผ่านหรือไม่ผ่าน

ตอนนั้นเธอเสนอความเห็นว่า ประเด็น คือ การขับเคลื่อนงานโรงพักตามนโยบายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย และของกองบัญชาการให้ลุล่วงไปได้ อีกส่วนได้เสริมประเด็นเกี่ยวกับงานตัวเองถนัดด้านเด็กและผู้หญิง เพราะมองตัวเลขประชากรจริง ๆ แล้วครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นผู้หญิง มีเด็กอีกจำนวนหนึ่ง ตำรวจน่าจะได้ทำงานตรงนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

“โรงพักควรจะมีแผนกส่วนของเด็กและสตรี ถ้ามันมีเคส หรือมีคดีเกิดขึ้นแล้ว ต้องมีตำรวจผู้เชี่ยวชาญลงไปทำงานในส่วนนี้ เป็นงานถนัดของเราอยู่แล้ว เสียดายที่โครงการของท่านศานิตย์ต้องพักไปเพราะไม่มีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย มาครั้งนี้ก็ไม่คิดว่าจะได้มานั่งรักษาการหัวหน้าสถานี เนื่องจากอาวุโสเราน้อยกว่าพี่อีก 2 ท่านด้วยซ้ำ” พ.ต.อ.หญิง ปวีณา สีหน้ามุ่งมั่น พร้อมบอกว่า หลังจากได้รับคำสั่งให้มารักษาการตำรวจมีผู้ใหญ่หลายคนให้กำลังใจ แม้แต่อดีตผู้บังคับบัญชาอย่าง พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ยังให้กำลังใจว่าเป็นโอกาสที่จะได้พิสูจน์ตัวเอง

พลิกชีวิตนางพยาบาลชุดขาว ไปสวมบทสาวผู้พิทักษ์สันติราษฎร์            

เส้นทางชีวิตของ พ.ต.อ.หญิง ปวีณา เอกฉัตร  เกิดที่จังหวัดแพร่ แต่มาโตในเมืองหลวง อาศัยอยู่ละแวกฝั่งธนบุรี จบโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ ก่อนสอบเข้าเรียนพยาบาลที่วิทยาลัยพยาบาลมิชชั่นตามความฝัน สำเร็จออกมาช่วงจังหวัดโรงพยาบาลตำรวจรับสมัครบุคคลภายนอกที่มีวุฒิพยาบาลเลยตัดสินใจเข้าไปเป็นพยาบาลสังกัดโรงพยาบาลตำรวจ ตำแหน่งเทียบเท่ารองสารวัตร ติดยศ ร.ต.ต. ประจำแผนกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

อยู่โรงพยาบาลตำรวจนาน 6 ปี ระหว่างนั้นได้ไปศึกษาเพิ่มเติมที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เจ้าตัวมองว่า เมื่อก้าวเข้ามาเป็นพยาบาลมียศตำรวจแล้วน่าจะมีความรู้ด้านกฎหมายเพิ่มเติมด้วย ยิ่งได้สัมผัสตำรวจมาเยอะจึงอยากจะออกไปใช้ชีวิตเป็นตำรวจจริง ๆ ตามโรงพักดีกว่าต้องมาอยู่แต่เพียงในโรงพยาบาล และการจะเป็นตำรวจที่ดีได้ต้องรู้กฎหมาย

เป็นจังหวะเดียวกันพอดีว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกพนักงานสอบสวนหญิงที่มีวุฒินิติศาสตรบัณฑิต เธอถึงได้ถอดเครื่องแบบนางฟ้าสีขาวไปสวมเครื่องแบบสีกากีเต็มตัวในตำแหน่งพนักงานสอบสวน สบ 1 สถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะ พลิกบทบาทหน้าที่จากพยาบาลดูแลผู้ป่วยมาทำหน้างานสอบสวนดูแลสำนวนคดีบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน

 อาสาลงสัมผัสคดีเด็กและสตรี จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญทำจริงจัง

ต่อมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี ขึ้นมาให้แต่ละกองบังคับการต้องมีเพื่อรองรับกฎหมายใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เกี่ยวกับขั้นตอนการสอบปากคำเด็ก การคุ้มครองเด็กที่ต้องมีสหวิชาชีพร่วมสอบปากคำ พ.ต.อ.หญิง ปวีณา ได้อาสาเข้าไปร่วมงานตรงนั้นเพราะเห็นว่าที่ทำการอยู่โรงพักราษฎร์บูรณะอาคารเดียวกับสังกัดที่ตัวเองทำงานอยู่

“พอเรามาทำงานแล้ว รู้สึกว่ามันเป็นงานเฉพาะด้านจริง ๆ ต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ในเรื่องของการสอบสวนประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาทำคดีคุ้มครองเด็ก ทั้งฐานะของผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือพยาน ตามภาคีเครือข่ายของสหประชาชาติในเรื่องกฎหมายว่าด้วยสิทธิเด็ก ตำรวจเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นที่จะต้องเข้าสู่ในเรื่องของการคุ้มครองดูแลอย่างจริงจัง”

เธอว่า กฎหมายออกมาเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กในเชิงสังคมสงเคราะห์เยอะขึ้น ตำรวจต้องปรับตัวในการทำงาน เมื่อได้สัมผัสเป็นเหตุให้รู้ถึงอุปสรรคที่ทำเกี่ยวกับปัญหาเด็ก หรือแม้กระทั่งสตรีส่วนใหญ่เกิดจากทัศนคติของคนในสังคม โครงสร้างของกฎหมายไม่ค่อยเอื้อให้เด็ก สตรี หรือว่าคนที่ถูกกระทำ แต่ปัจจุบันดีขึ้น เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเข้ามารองรับช่วยเหลือ

 ตั้งชมรมพนักงานสอบสวนหญิง สวนสิ่งที่เป็นปมร้อนงานสอบสวน

ทำงานเกี่ยวกับคดีเด็กและสตรีนาน 10   กว่าปี เลื่อนตำแหน่งไปตามลำดับแท่งสอบสวน กระทั่งเป็นพนักงานสอบสวน สบ 4 สถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา จนปรับเป็นผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 เมื่อแท่งพนักงานสอบสวนถูกยุบ ส่งให้ระบบการทำงานขาดความเป็นมืออาชีพ แถมทำพนักงานสอบสวนหลายคนไม่มีความเจริญก้าวหน้า

พันตำรวจเอกหญิงคนดังบอกว่า งานสอบสวนเป็นความชำนาญเฉพาะด้าน ไม่ใช่ใครจะมาทำก็ได้ และไม่ใช่ว่า มีวุฒินิติศาสตร์แล้วผ่านการอบรมแป๊บเดียวจะมาทำได้  พนักงานสอบสวนหลายคนกว่าจะเริ่มต้นทำงานใช้เวลาเป็นปี คดีไม่ได้มีคดีประเภทเดียว พนักงานสอบสวนคนเดียวจะต้องทำทุกอย่างในโรงพัก  แต่จะเกิดปัญหา หากไม่มีความเชี่ยวชาญ

เธอถึงพยายามผลักดันให้มีพนักงานสอบสวนหญิงเพิ่มมากขึ้นด้วยการต่อตั้งชมรมพนักงานสอบสวนหญิงเมื่อปี 2557  มี พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี เป็นประธานชมรม ส่วนตัวเองทำหน้าที่เลขานุการชมรม “สมัยก่อนพนักงานสอบสวนหญิงยังมีน้อย และยังไม่มีนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง รุ่นแรกปี 2538 รุ่นสองปี 2542 หลังจากนั้นปี 2550 เปิดรับเนติบัณฑิตก็ยังมีน้อย เลยได้คุยกันระหว่างรุ่น 1 กับ รุ่น 2 ว่าจะทำยังไง เพราะมีน้องนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงออกมาแล้ว กฎหมายหลายตัวก็เปลี่ยน การทำงานจำเป็นต้องมีทักษะ ชมรมพนักงานสอบสวนหญิงจึงเกิดขึ้นมา”

เกาะกลุ่มรวบรวมสมาชิก สะกิดช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกทอดทิ้ง

เลขานุการชมรมขยายวัตถุประสงค์ว่า เพื่อต้องการเป็นจุดศูนย์กลางให้พี่น้องพนักงานสอบสวนหญิงมาปรึกษากัน บังเอิญตอนตั้งชมรมเสร็จ เราได้เงินสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.ให้ทำจัดฝึกอบรมพนักงานสอบสวนหญิงจึงดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมา รวมตัวประสานติดต่อตั้งกลุ่มไลน์ และเพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์กิจกรรมการทำงานของชมรม

ปัจจุบันสมาชิกชมรมพนักงานสอบสวนหญิงทั้งหมดมีประมาณ 400 กว่าคน ส่วนมากจะเข้ามาปรึกษาปัญหาการทำงานเรื่องคดีเด็กที่มีขั้นตอนยุ่งยากกว่าคดีอาญาทั่วไป เพราะมีพระราชบัญญัติใหม่ออกมาเพิ่มเติม มีพนักงานสอบสวนหญิงไม่น้อยเจอปัญหาคล้ายกันตรงที่หากเด็กไม่ยอมให้ปากคำจะทำอย่างไรต่อไป ทางชมรมพนักงานสอบสวนหญิงจึงจัดทำตุ๊กตาภาษาบังคับ เป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิง กับเด็กผู้ชาย มีอวัยวะทุกอย่างในร่างกายครบถ้วน สำหรับกรณีเด็กเล็ก หรือว่ากรณีเด็กที่ไม่อยากจะพูด ตรงนี้เราจะนำตุ๊กตาไปช่วยได้เยอะ ทำให้เด็กกล้าพูด กล้าให้การ มีทุนสนับสนุนจากยูนิเซฟมา ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น

“ชมรมหวังจะต่อยอดสร้างพนักงานสอบสวนหญิงที่อาจจะไม่ใช่เป็นนักเรียนนายร้อยก็ได้มาทำคดีเด็กและสตรี คิดหลักง่าย ๆ ว่าคดีที่เกิดขึ้นกับจำนวนประชากรในประเทศไทย 70 กว่าล้าน เป็นผู้หญิงสักครึ่งหนึ่ง แล้วมีเด็กอีก 15 เปอร์เซ็นต์ รวมไปแล้วก็กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ที่จะต้องได้รับการดูแล ถ้าไม่มีตำรวจคอยรองรับในส่วนนี้ก็เหมือนคนกลุ่มนี้ถูกละเลย เราจะไม่พูดถึงคดีลัก วิ่ง ชิง ปล้น ทั่วไป  แต่ว่าเราพูดถึงคดีที่เด็ก สตรี ถูกกระทำความรุนแรง ไม่ว่าจะเรื่องเพศ เรื่องภาวะทางด้านจิตใจ”

 

พูดคุยทำความเข้าใจผู้เสียหาย ใช้ความเป็นผู้หญิงอธิบายได้ง่ายกว่า

ผู้กำกับหญิงมากประสบการณ์งานสอบสวนชี้ให้เห็นทิ้งท้ายว่า หลายคดีที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนในครอบครัว หรือคนนอกครอบครัว บางครั้งเป็นการยากที่ผู้เสียหายจะออกมาพูด หรือออกมาเล่า แต่ถ้ามีตำรวจที่เข้าใจแล้วทำงานในประเด็นพวกนี้จะทำให้สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเอาคนผิดมาลงโทษได้ เพราะบางเคสที่เจอ ผู้ต้องหาทำผิดซ้ำ ไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว ถ้าไม่เข้าใจในการทำงานก็จะเอาผิดไม่ได้ หรืออาจจะทำให้ตัวผู้เสียหายเกิดความยุ่งยาก หรือรู้สึกว่า ไม่อยากแจ้งความ ผู้กระทำผิดก็จะกระทำต่ออีก

“เราถึงเน้นให้พนักงานสอบสวนอธิบายขั้นตอนการทำงานของตำรวจให้ผู้เสียหายฟังว่า ทำอะไรบ้าง การรวบรวมพยานหลักฐานมีอะไรบ้าง แล้วเขาต้องเจออะไรบ้างในชั้นสอบสวน  หลังจากสอบสวนเสร็จ สำนวนจะส่งอัยการ อัยการพิจารณาแล้ว ต้องเจออะไร แล้วเวลาขึ้นศาล คุณจะมีทางเลือก เดี๋ยวนี้จะมีแบบสืบพยานโดยไม่เผชิญหน้า อธิบายให้ฟังว่า เลือกได้ ถ้ามีการอธิบายขั้นตอนเหล่านี้แล้วจะสร้างความมั่นใจให้ผู้เสียหายมากขึ้น”

พ.ต.อ.หญิง ปวีณามั่นใจว่า ความเป็นผู้หญิงด้วยกันได้เปรียบอยู่แล้ว แม้บางเรื่องผู้เสียหายมาเจอเรา ไม่ได้ต้องการแจ้งความดำเนินคดี ขอแค่พูดคุยระบายความรู้สึกก็สบายใจแล้ว ทำให้เขาได้กลับไปจัดการกับชีวิตตัวเองได้ ต้องเข้าใจว่า พื้นฐานสังคมเมืองไทย ถ้าผู้ถูกกระทำเป็นคนในครอบครัว ส่วนใหญ่ผู้เสียหายไม่อยากแจ้งความ แต่อยากมีวิธีการที่จะสามารถจัดการกับปัญหา โดยที่ไม่ต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาดำเนินการ เป็นสิ่งที่สังคมภายนอกไม่ค่อยรู้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES