“อยู่กับพระมาตั้งแต่เด็กๆ มีคุณธรรมในใจว่า ไม่มีก็อดได้”

ม้วุฒิการศึกษาไม่ถึงชั้นประถม 4 แต่มีโอกาสเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิตกระทั่งก้าวย่างสู่บทบาทคนข่าวอาชญากรรมที่เคยเป็นถึงประธานชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรมท่ามกลางความเคารพรักของบรรดาพี่น้องในวงการทุกคน

ชุมพต บุญครอง อดีตหัวหน้าห้องแผนกร้องทุกข์ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ปัจจุบันเกษียณอายุทิ้งกลิ่นน้ำหมึกหนังสือพิมพ์หันหลังไปเลี้ยงดูหลานอยู่ในซอยวัดหิรัญรูจี ใกล้สี่แยกบ้านแขกถิ่นกำเนิดที่เขาอยู่มาตั้งแต่แรกเกิด

ทว่าความทรงจำในชีวิตคนข่าวของชายชราผู้นี้ไม่เคยจางหาย

เขาเป็นลูกชาวสวนอยู่ใกล้วัดน้อย หรือวัดหิรัญรูจีในสมัยนี้ ตอนสงครามโลกพ่อถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เกิดน้ำท่วมใหญ่ ต้นไม้ในสวนตายหมด พ่อกลับจากสงครามหันไปทำโรงพิมพ์และเลี้ยงไก่สุดท้ายก็เจ๊งต้องขายที่ดินหายไปกว่าครึ่ง ส่วนตัวเขาถูกส่งไปอยู่กับเจ้าคุณที่วัดตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ มีสัปเหร่อเอาไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เข้าเรียนโรงเรียนวัดพิชัยญาติ พอสัปเหร่อตายต้องกลับมาอยู่บ้าน มีคนแนะนำไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์เจ้าคุณวัดพิชัยญาติเพื่อเรียนต่อได้ปีเศษ เจ้าคุณลาสึกทำเอาชีวิตเคว้งคว้าง

“กลับมาบ้านอีกครั้ง ไม่ได้เรียนหนังสือ จบแค่ชั้นประถม 2 ไปรับจ้างหิ้วปิ่นโตส่ง แต่ไม่ดีเท่าไหร่ พอดีมีเพื่อนชวนเป็นลูกจ้างร้านกาแฟ คอยล้างถ้วย คอยส่งกาแฟ ที่กรมบัญชีกลาง อยู่ตรงวัดพระแก้ว ระหว่างนั้นไปรู้จักกับข้าราชการในนั้น ผมเรียกแกอาจารย์ประทีป เห็นผมขายกาแฟ และบ้านอยู่ใกล้กับที่แกเช่าเลยชวนมาช่วยงานแก”

ครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางสู่อาชีพช่างภาพของชุมพต เนื่องจากข้าราชการผู้ใหญ่คนที่ว่ายึดงานอดิเรกเป็นคนชอบถ่ายรูป อัดรูปเองเลยเปิดโอกาสให้ชุมพตไปช่วยดูขั้นตอนวิธีการล้างอัดรูป ตั้งแต่ฝึกช่วยแช่น้ำยา ตากรูป “ ท่านก็ถามว่า อยากเรียนไหม ก็ให้ดูๆ และทำไปด้วย แล้วถ้าไม่เข้าใจอะไรก็ถาม ให้ดูวิธีการล้างอัด สมัยก่อนล้างฟิล์ม ใช้มือม้วน ถ้าไม่หมุน ฟิล์มมันจะด่าง เอาฟิล์มที่แช่น้ำยาเสร็จแล้ว มาให้ดู จะตั้งเวลากี่นาที พอนาฬิกาดัง ก็เอาไปใส่ในน้ำยา กระทั่งทำได้ ก่อนที่ท่านจะสอนวิธีการถ่ายรูป สมัยก่อนเป็นฟิล์มขาวดำ ยังไม่มีสี ถ่ายไป อะไรไปก็ถ่ายได้ แกก็สอนให้ถ่ายเล่นๆ เอาฟิล์มมาให้ เอากล้องมาสอนมุม สอนวิธีการถ่าย ปรับระยะ แสงขนาดนั้น เปิดหน้ากล้องเท่าไหร่ เปิดชัตเตอร์เท่าไหร่ แล้วก็มาสอนเรื่องการใช้แฟลช อย่าให้ดูที่แสง ให้ดูที่ระยะ แกสอนดีมาก”

ต่อมารู้จักกับช่างภาพนิตยสารสกุลไทย ชุมพตเล่าว่า เขาเอารูปมาให้ล้างอัดแล้วจ้างส่งขายแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน ไปขายตามงานเลี้ยง ดูในงานว่ามีผู้ใหญ่ มีพ่อค้า ใครบ้าง ก็ถ่ายไปขาย พวกนี้เขาก็ชอบ ก็จะตระเวนถ่ายตามงาน ก่อนจะฝากเราไปอยู่ร้ายถ่ายรูป อายุแค่ 13 ปีมีเงินเดือน 50 บาทแล้ว ถือว่า ใช้ได้ เถ้าแก่ก็ดี บางทีซื้อเสื้อ กางเกง รองเท้าให้เรา อยู่ตามร้านถ่ายรูปไปเรื่อยๆ มีเพื่อนหลายร้าน หลายเจ้า กระทั่งมีเพื่อนคนหนึ่งอยู่ร้านถ่ายรูปไปเข้าทำงานหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ที่ถนนพระสุเมรุ หลังธนาคารกรุงเทพ ผ่านฟ้า มาบอกว่าที่ห้องล้างอัดรูปเลยมีตำแหน่งว่าง

การตัดสินใจเที่ยวนั้นเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของชีวิต อดีตคนข่าวแห่งตำนานเห็นว่า อยู่ร้านถ่ายรูปขณะนั้นเงินเดือนเริ่มสูงแล้ว หลังจากเพิ่งพ้นเกณฑ์ทหารออกมาแล้ว เปลี่ยนที่ไปเรื่อย จากเงินเดือน 50 บาท ขยับถึง 5,000 กว่าบาท ยิ่งไปอยู่ร้านใหญ่ๆ ขึ้น เงินเดือนก็ยิ่งแพง เพื่อนมาแนะนำว่างานห้องมืดหนังสือพิมพ์สบาย วันหยุดมีโอที มีเวลาไปเที่ยวได้ สบายกว่าอยู่ร้านถ่ายรูปเยอะ คิดว่า ร้านถ่ายรูปมันลำบากเพราะต้องทำทุกวัน เช้าจนกว่าจะเสร็จ ถึงจะเลิก เสร็จเร็วก็เลิกเร็ว ถ้างานมันเยอะจะไปเสร็จเร็วไม่ได้ ไปเร่งไม่ได้ ถ้าเร่งมันเสียเลย แสงมากไปน้อยไปก็ไม่ได้ ล้างฟิล์ม ถ้าไม่ดีก็เสีย ต้องระวัง

ชุมพตยอมทิ้งเงินเดือนที่ใกล้เหยียบ 7,000 บาท ไปรับเงินแค่ 2,000 กว่าบาทเข้าสังกัดหนังสือพิมพ์บางกอกเวิล์ด ไต่จากห้องมืดข้ามเป็นช่างภาพยามคนขาดแคลน แต่พออยู่แล้วเจอพวกฝรั่ง พูดกันไม่รู้เลย สื่อสารกันไม่ได้เท่าไหร่ เขาเลยไปเรียนพิเศษเกี่ยวกับด้านภาษาเอาพอรู้เรื่องพูดได้ อ่านได้ จังหวะนั้นบางกอกเวิลด์รวมกับบางกอกโพสต์และย้ายสำนักงานไปอาคารอื้อจือเหลียง ไกรสีห์ นาคประเสริฐ รุ่นพี่ทำข่าวอยู่บางกอกโพสต์และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้เข้ามาทาบทามชวนไปร่วมชายคาหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หัวเขียว

“รับเงินเดือน 3,000 กว่าบาทแล้วต้องกลับลงไปรับเงินเดือนแค่ 1,800 บาท” ผู้มากอาวุโสวงการข่าวยิ้ม “เขาเห็นผมตัวคนเดียว อยู่ที่ใหม่น่าจะสนุกและท้าทายกว่าที่เก่า ผมเลยย้ายไปไทยรัฐ เป็นช่างภาพข่าวการเมืองเต็มตัว ตอนหลังต้นสังกัดหาช่างภาพหน้า 4 เลยได้ไปอยู่พักหนึ่ง จากนั้นพี่ลัคนัย กุลมา หัวหน้าข่าวอาชญากรรมก็ชวนให้ไปประจำรถตระเวน”

ตระเวนข่าวหลายปี หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเปิดห้องรับเรื่องราวร้องทุกข์ หัวหน้าข่าวเห็นแววของชุมพตเป็นผู้ใหญ่ที่น่าปัดเป่าทุกข์ร้อนของชาวบ้านได้ดีจึงส่งให้ไปประจำ เขาอาศัยประสบการณ์ด้านการมองเนื้อข่าวเพื่อคัดสรรหลายเรื่องราวร้องทุกข์มาปั้นเป็นข่าวใหญ่พาดหัวหนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อย  เจ้าตัวอธิบายว่า เราก็จะพิจารณาว่า เรื่องเกี่ยวข้องกับพวกนักข่าวตระเวนหรือไม่เพื่อบอกต่อหัวหน้าว่า มีเรื่องโรงพักนั้น ท้องที่นี้ หากอยู่ในส่วนต่างจังหวัดก็ประสานข่าวภูมิภาคไปทำ เจอข่าวแปลกๆ แต่ส่วนมากจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมากกว่า โดนกดขี่ข่มเหง โดนเจ้าหน้าที่รัฐรังแก กลั่นแกล้ง

ชุมพตยอมรับว่า บางทีเราช่วยได้แค่ลงข่าว ให้ความเป็นธรรมเท่านั้นเอง ไม่รู้ว่าได้รับการแก้ไขหรือเปล่า บางคนก็ดี พอมีข่าวลงก็มาขอบคุณ โทรศัพท์มาขอบคุณมาเล่าว่า เรื่องจบแล้ว เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มีอยู่รายหนึ่งช่วยแล้วช้ำใจที่สุดเลยเป็นเด็กนักเรียนมาร้องว่า ทางครอบครัวลำบาก กลางวันต้องวิ่งจากโรงเรียนมาป้อนข้าวป้อนน้ำให้แม่ เราให้คนไปทำข่าว ถูกยกเป็นเด็กนักเรียนหญิงยอดกตัญญู ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ดัง คนรู้จักกันทั้งประเทศ

กระทั่งเรื่องเงียบหายจนคนไทยลืมหมดแล้ว อดีตหัวหน้าห้องร้องทุกข์บอกว่า ตอนหลังมีชาวบ้านมาร้องเรียนเรื่องโรงงานทำปลาหมึก ปล่อยน้ำเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ไปบอกเจ้าของโรงงานแล้ว ก็ไม่แก้ไข เจ้าของโรงงานผัวเป็นนายตำรวจก็ข่มขู่ว่าจะจับเลย หากร้องเรียนมากๆ อ้างกฎหมายอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็บอกให้ชาวบ้านไปถ่ายรูปมาเลยแล้วเดี๋ยวทางเราลงให้ ชาวบ้านถ่ายรูปมา ไทยรัฐก็ลง แต่ไม่ได้ระบุชื่อเจ้าของโรงงาน ระบุแค่ว่า อยู่ที่หมู่นี้ ตำบลนี้ ทำปลาหมึกแล้วปล่อยน้ำเสีย ส่งกลิ่นเหม็นชาวบ้านร้องเรียนแล้วเอาสามีที่เป็นข้าราชการมาข่มขู่

“พอรุ่งขึ้น เจ้าตัวมาเลย ตอนแรกก็ไม่รู้ มีประชาสัมพันธ์บอกให้มาหาผม ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นอดีตเด็กนักเรียนกตัญญูที่ผมช่วยไว้ เพราะหลายปีแล้ว รู้ตอนนั้นว่า เรียนจบมาแล้วไปเป็นครู มีสามีเป็นนายตำรวจ กระทั่งมีโรงงานปลาหมึก ผู้หญิงคนนั้นมาโวยวายใหญ่ หาว่าลงไปได้ไง ผมก็บอกว่า คุณปล่อยน้ำเสียส่งกลิ่นเหม็นลงคลองจริงหรือเปล่า เธอบอกว่าธรรมดา โรงงานปลาหมึกก็เป็นแบบนี้ ที่ไหนๆ ก็ทำกัน ผมบอกว่าอ้าว ทำไมคุณพูดอย่างนี้ คุณก็ต้องเห็นใจเพื่อนบ้านบ้างสิ เขามาร้องขอ ก็ต้องหาทางแก้ไข ไม่ใช่ใช้อำนาจมาข่มขู่” ชุมพตน้ำเสียงขึงขัง

 “เธอว่า ถ้าคุณไม่รับเรื่อง ไม่เป็นไร เดี๋ยวฉันเข้าไปข้างในเอง เพราะฉันรู้จักกับนักข่าวใหญ่ๆ ที่นี่หลายคน แล้วก็บอกว่า ฉันนี่แหละเด็กหญิงคนนั้น พอพูดปุ๊บเราก็นึกขึ้นได้ อ๋อ นี่เองเหรอ ผมเลยบอกเชิญเลยครับ คุณจะไปพบบรรณาธิการ หรือใคร คุณไปบอกเขาได้เลย ผมเสียความรู้สึกนะ อะไรวะ ทีมึงเดือดร้อน ชาวบ้านเขายังช่วยเลย แต่ตอนที่มึงทำให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อนกลับไม่ช่วยเขา ตรงนี้ก็มีผมรู้คนเดียว เพราะไม่ได้เป็นข่าวออกมา”

ถึงกระนั้นก็ตาม อดีตคนค่ายหนังสือพิมพ์ค่ายยักษ์ภูมิใจว่า ทำตรงนี้ก็เหมือนได้ช่วยชาวบ้าน สมัยก่อนโรงพิมพ์มีเงินให้ 3,000 บาท  สำหรับผู้ที่มีขอความช่วยเหลือ พวกที่ตกรถ พวกที่เดือดร้อนอะไรต่างๆ เราก็ให้เขา มีอยู่รายเป็นนายทหารเรือยศนาวาตรี มาขอกลับสัตหีบ ขอเงิน 100 บาท เราถามว่า ผู้การทำไมมียศ มีบัตรแล้วทำไมต้องมาขอเงินอีก เขาบอกว่า พอดีมาหาญาติแล้วใช้เงินมากไป เงินหมด เราก็ให้เขาถ่ายบัตรแล้วให้เงินเขาไป พออีกสักอาทิตย์มาอีก ขอ 200 บาท เราจำเป็นต้องสอนเราเคยผ่านการเป็นทหารมาแล้ว เป็นทหารเกณฑ์ ผู้การอย่าลืมศักดิ์ศรีเกียรติยศของการเป็นทหารบ้างหรือต้องคิดบ้าง พอเราพูดเท่านี้ เขาก็ยกมือไหว้เดินลงไปเลยบอกขอบคุณมากที่เตือน

ชุมพตยอมรับว่า กำพล วัชรพล ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นคนที่ใช้ได้ เห็นคุณค่าของคน ชอบช่วยเหลือคน ไม่เคยถือยศถือศักดิ์ เล่นกับคนงาน เล่นกันอย่างกับเพื่อนฝูง มีอะไรก็ช่วย คนขับรถมาใหม่ไม่รู้จัก พอรถสตาร์ตไม่ติดก็บอกลุงๆ ช่วยเข็นหน่อย พนักงานรักษาความปลอดภัยเห็นก็ด่าเลยว่า รู้ไหมใคร ทำไมทำแบบนี้ ต้องรีบมาขอโทษใหญ่ แต่ ผอ.กำพลบอกว่า เฮ้ย เรื่องงานไม่ต้องสนใจ “แต่สิ่งที่แกไม่ชอบ ถ้าเห็นใครฉีกหนังสือพิมพ์ แกจะด่าแหลกเลย บอกว่า หนังสือพิมพ์เลี้ยงชีพกูมา และก็เลี้ยงพวกมึง แล้วมึงมาทำแบบนี้ได้ไง อย่าไปฉีก เอาไปขายได้ ไม่ว่า แกด่าจริงๆ เลย คิดดูเพื่อนแกมีตั้งแต่คนกวาดพื้นยันรัฐมนตรี คิดดูรัฐมนตรียังต้องมาเกรงใจแก มีอะไรต้องวิ่งมาหาแก เรายังนึกในใจ ผอ.นี่ยอดคนจริงๆ เลย สุดยอด ยอดมากๆ”

ส่วนบทบาทประธานชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม สมัยเป็นช่างภาพข่าวตระเวน ชุมพตกลับมีความทรงจำไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ เขาเล่าว่า พี่น้องเพื่อนฝูงเลือกเข้าไปเป็นเพื่อช่วยดูแลพวกเขา เวลามีอะไรก็มาปรึกษา มาคุยกัน บอกตรงๆ เสียใจมากที่สุด คือ นักข่าวรุ่นน้องคนหนึ่งเอาเงินชมรมไปใช้เล่นการพนัน พอถึงเวลาจะแจกทุนการศึกษาบุตร ไปเบิกกลับไม่มี

“แม่งพูดหน้าตาเฉยเลยว่าไม่มี ผมก็งง ยอดในบัญชีมีเป็นแสน มันบอกว่า เอาไปใช้หมดแล้ว ผมไม่รู้จะพูดยังไงเลย ดีนะได้ท่านวินัย เปาอินทร์ ขณะนั้นเป็นผู้กำกับการสืบสวนนครบาลพระนครเหนือมาช่วยออกเงินให้ เสียดาย ไม่น่าทำแบบนี้ ถ้าเป็นคนอื่นเราไม่ว่าเลย นี่ดันอยู่สังกัดเดียวกัน เสียหาย เสียชื่อหมด เข็ดเลยพอสมาชิกจะให้เป็นประธานต่ออีกปี ผมจึงปฏิเสธบอกให้เลือกกันเอาเองเถอะ ไม่เอาแล้ว”อดีตประธานชมรมผู้สื่อข่าวระบาย

อยู่ร่มชายคาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจวบจนเกษียณนานถึง 35 ปี เพียงมีวุฒิการศึกษาไม่ถึงประถม 4 แต่เรียนรู้จากชีวิตจริง เขาบอกว่า ที่ได้ความรู้มากก็มาจากวัด ช่วยมากมายมหาศาลเลย ถ้าเราไม่ได้พระมาช่วย ไม่แน่นะ อาจจะเป็นพวกติดยาก็ได้ “เราดีที่มีบุญ อยู่กับพระมาตั้งแต่เด็กๆ มีคุณธรรมในใจว่า ไม่มีก็อดได้ เหมือนพระที่ท่านอดอาหารตั้งแต่เย็นถึงเช้า ท่านก็อยู่ได้ ไม่มีปัญหาอะไร”  

 

 

 

RELATED ARTICLES