(7 )  ทอดพระเนตร  “ห้องเบอร์ห้า”

ผมมีความสุขและสนุกกับการทำหน้าที่เป็นทั้ง “นักข่าว” และ“นักหนังสือพิมพ์”   พร้อมกัน เป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำจังหวัดลพบุรี และเป็นนักหนังสือพิมพ์มีหน้าที่ผลิตหนังสือพิมพ์สระบุรีสาร จำหน่ายในจังหวัดสระบุรี และลพบุรี  

เพราะวันเวลานั้นลพบุรียังไม่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “สระบุรีสาร” จึงโดดเด่นใน  2  จังหวัด ขายดีมากครับฉบับละ 1 บาท เด็ก ๆ มาจองคิวที่โรงพิมพ์หัตถโกศลการพิมพ์หน้าศาลลูกศร ลพบุรี จ่ายเงินสดตามจำนวนที่ต้องการฉบับ

กล่าวถึงเดลินิวส์มีซองจดหมายปิดแสตมป์ให้นักข่าวต่างจังหวัดสำหรับส่งข่าวและภาพประเภทข่าวสังคม ข่าวพัฒนา ข่าวไม่เร่งด่วน เขียนเสร็จก็ใส่ซองไปหย่อนในตู้ไปรษณีย์ แต่ถ้าเป็นข่าวใหญ่ข่าวสำคัญ……จะทำอย่างไรในยุคสมัย

แต่ผมมีวิธีการตามที่เกริ่นไว้ในฉบับที่แล้ว

ก่อนอื่นต้องพิจารณาก่อนว่า ข่าวชิ้นนั้นมันใหญ่จริงสมควรที่จะขึ้นหน้า 1ได้หรือไม่ ทำหน้าที่เหมือนกับตัวเองเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 เมื่อแน่ใจก็ต้องทำด้วยวิธีการ ซึ่งผมเขียนให้หนังสือของชมรมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรม เมื่อเดือนตุลาคม 2540 ขณะที่ผมทำงานอยู่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ มีบางช่วงบางตอนดังนี้

“คุณสุชาติ เล็กไพจิตร์” ประธานชมรมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมโทรศัพท์มาหาผม ขอข้อเขียนเพื่อไปจัดทำหนังสือที่ระลึกในงานฉลองครบรอบ 18  ปีของชมรม

รับปากคุณสุขาติแล้วยังไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี ปีก่อนก็เขียนแทงใจดำน้องนุ่งบางคนไปแล้ว เอาอย่างนี้ดีกว่า เขียนตามประสาคนแก่ ย้อนยุคไปเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา

ตอนนั้นผมเป็นนักข่าวอยู่ที่ลพบุรี สังกัดหนังสือพิมพ์แนวหน้า ต่อมาเปลี่ยนเป็นหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ทางไกล อย่างเก่งก็แค่โทรเลข

ผมกับเพื่อนๆ อีก 4 – 5 คน ต่างสังกัดคนละฉบับ มีศูนย์กลางอยู่ที่ร้านพรรคพวก    ตลาดท่าโพธิ์  อ.เมืองลพบุรี ตอนเช้าไปหาข่าว ขึ้นโรงพัก ขึ้นศาลากลางจังหวัดแล้วมาพบกันตอนเที่ยง ใครได้ข่าวอะไรก็มาแจกแจงกัน คนที่มีข่าวก็อธิบายรายละเอียดให้เพื่อนฟัง แล้วต่างคนต่างเขียนข่าวในแนวของตน

เขียนด้วยลายมือนี่แหละ ไม่มีพิมพ์ดีดใช้หรอกครับ เขียนเสร็จก็พับใส่ซองวงเล็บไว้ตอนมุมล่างหน้าซองว่า “ข่าวจากลพบุรี กรุณาจ่ายค่าพาหนะ…..บาทด้วยครับ” จุดจุดที่เว้นไว้นั้น     แต่ละคนจะใส่ตัวเลข อย่าง “ปรีชา กุลปรีชา” ส่งให้หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยแถวดินแดงใกล้หน่อยก็ 15 บาท เดลินิวส์อยู่ไกลสุดอยู่สี่พระยา ผมก็ใส่ตัวเลข 25บาท เมื่อครบถ้วนทุกคนก็เรียก “ม้าเร็ว”มาพบ

ม้าเร็วของพวกผม คือ กระเป๋ารถเมล์สายลพบุรี – กรุงเทพฯ รถจะไปถึงกรุงเทพฯ ตอนบ่ายแก่ ๆ ม้าเร็วจะตระเวนเอาซองข่าวไปส่งตามโรงพิมพ์ต่าง ๆ ม้าเร็วจะมีรายได้ต่อเที่ยวเกือบร้อยบาท เขามีรายได้มากกว่าพวกผม เพราะข่าวด่วนจากลพบุรีจะเข้ากรุงเทพฯ เกือบทุกวัน

หนังสือพิมพ์ยุคนั้นมีกรอบเดียวกว่าจะปิดข่าวหน้า  1 ก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยงคืน พวกผมเลยส่งข่าวอย่างสบายใจทันเวลา

ครับ ผมตัดตอนแค่นี้จากข้อเขียนที่ยาว 2 หน้า แต่ขอเพิ่มเติมขยายความถึงนักข่าวลพบุรี มี 4 คนที่ไปเติบใหญ่ในกรุงเทพฯ นอกจากผมก็เป็นผู้อาวุโส “หอม ทวีคูณ” ไปอยู่   “นครไทยเบื้องหลังข่าว” รายสัปดาห์ ถึงแก่กรรมนานแล้ว  “ปรีชา กุลปรีชา” เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการดาวสยาม ถึงแก่กรรมแล้วเช่นกัน “สมพงษ์ ทองสุข” เจ้าของนามปากกา  “โอ๊ค ท่าหิน” เป็นหัวหน้าข่าวภูมิภาคหนังสือพิมพ์มหาชัย หัวหน้าข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ตะวันสยาม    ปัจจุบันครองผ้าเหลืองอยู่วัดป่าธรรมโสภณ อ.เมืองลพบุรี

การหาข่าวโรงพักยุคนั้นต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะตัว ผมปักหลักที่ สภ.อ.เมืองลพบุรี     เช้าโหนรถเมล์ไปโรงพัก กินข้าวแกงร้าน “จ่าชั้น”หลังโรงพัก อิ่มท้องแล้วก็เร่ไปที่โต๊ะเสมียนประจำวัน เพราะต้นตอของข่าวอยู่ตรงนั้น ข่าวเล็กข่าวใหญ่ต้องประเมินด้วยตัวเอง จากนั้นจึงไปคุ้ยรายละเอียดที่ร้อยเวร

สมุดรับแจ้งความที่เรียกว่าประจำวันนั้น ถือว่า เป็นความลับทางราชการต้องอาศัยความคุ้นเคยกับเสมียนประจำวันจึงจะเปิดสมุดนี้ได้เปิดแล้วต้องรีบอ่านอย่างรวดเร็ว ถ้าผู้บังคับบัญชามาเห็นเช้า เสมียนประจำวันจะถูกเล่นงาน

เหมือนกับผมเคยมีปากเสียงกับ  “พ.ต.ท.สละ พูลศิริ” ผบ.กอง สภ.อ.เมืองลพบุรีตำแหน่งผู้บังคับกอง ผมเขียนไม่ผิดหรอกครับ ต่อมาตำแหน่งนี้เปลี่ยนสารวัตรใหญ่ และรองผู้กำกับการหัวหน้าสถานี ปัจจุบันเป็นผู้กำกับการ

พ.ต.ท.สละเห็นผมกำลังเปิดสมุดประจำวันก็ปราดเข้ามาต่อว่าทันที พ.ต.ท.สละไม่ผิดหรอกครับ แต่ก็น่าจะให้เกียรติซึ่งกันและกันไม่ใช่มาเอ็ดตะโรโวยวายอย่างนี้ ผมก็ต้องอธิบายความให้ฟัง ไม่ให้ผมเปิดประจำวันก็ได้ แต่ถ้าผมเสนอข่าวผิดพลาดจากความจริงจะมาโทษผมไม่ได้นะ พ.ต.ท.สละมองหน้าผม ผมก็มองหน้า พ.ต.ท.สละ

โถ…..มันก็มนุษย์เหมือนกัน เพียงแต่ต่างหน้าที่เท่านั้นเอง

ผมหาข่าวโรงพักตั้งแต่ “พ.ต.อ.ประจันต์   พราหมณ์พันธุ์”  เป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี ตามด้วย “พ.ต.อ.ม.ร.ว.รังษี ภาณุมาศ” และ “พ.ต.อ.สันติ มลิทอง” นามสกุลท่านเขียนอย่างนี้ไม่มีสระอะหลัง ม.ม้า จากนั้นผมก็เข้ากรุงเทพฯจึงไม่ได้สัมผัสไม่รู้จักกับ   “พ.ต.อ.ชลอ เกิดเทศ” ผกก.ภ.ลพบุรีคนต่อมา

หาข่าวโรงพักก็ต้องรู้จักตำรวจ ผมคุ้นเคยกับผู้กำกับการลงไปจนถึงเสมียนประจำวันในระดับเดียวกัน เฉพาะผู้กำกับการแต่ละคนก็มีคุณลักษณะคุณสมบัติแตกต่างกันไป ผมไม่เคยเข้าห้องทำงานผู้กำกับ ไม่เคยเข้าบ้านผู้กำกับ

“ผู้กำกับหม่อม” ร่างสูงโปร่ง หน้าตาคมสันเข้าตาหญิงสาวหลายคน นั่นเป็นเรื่องส่วนตัว    แต่ไม่รู้ว่าท่านมาถูกอกถูกใจอะไรกับผม ตอนพักเที่ยงเกือบทุกวัน ท่านจะลงจากห้องทำงานชั้นบนมาขึ้นรถหลังโรงพัก ท่านกวาดสายตาไปที่ร้านจ่าชั้นแล้วให้พลขับมาเรียกผมไปพบให้ขึ้นรถไปกับท่าน

ไปกินข้าวที่ห้องอาหาร  “ศรีเวียง” ถนนพหลโยธินทางไปจังหวัดสระบุรี วันต่อๆมาท่านใช้วิธีกวักมือเรียกเป็นอันรู้กันว่าไปกินข้าวกลางวัน

พ.ต.อ.สันติ มลิทอง มาอยู่ลพบุรีพร้อมรถเบนซ์พวงมาลัยซ้ายมีเสียงซุบซิบชนิดกระซิบกระซาบ แต่ผมเอาไปเขียนในคอลัมน์ข่าวสังคม “มะนาวซอกแซก” ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสระบุรีสารตามประสาคนขี้สงสัย ท่านได้รถพวงมาลัยซ้ายมาแต่ใดฤา

วันหนึ่ง พ.ต.อ.สันติยืนคุยกับ “พ.ต.ท.วิทูร ศิริพากย์” รองผู้กำกับการตำรวจจังหวัดลพบุรี ผมกำลังจะขึ้นโรงพัก พ.ต.ท.วิทูร นรต.15 อัธยาศัยดีสนิทกับผมมากกวักมือเรียกแล้วแนะนำให้ พ.ต.อ.สันติรู้จัก “นี่ไงมะนาว” พ.ต.อ.สันติจ้องหน้าเขม็งกล่าวทันควัน “คุณมีปากกา   แต่ผมมีปืน” ผมไม่ตอบ นึกในใจสงสารตัวเอง และสงสารชาวลพบุรีที่กรมตำรวจส่งบุคคลร่างเตี้ยมาเป็นผู้ดูแลสันติสุขที่เมืองนี้

พ.ต.อ.ชลอ เกิดเทศ นรต.15 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.วิทูร   ศิริพากย์ แม้ผมจะไม่รู้จักแต่ก็ได้รับทราบกิตติศัพท์มาพอสมควร รับทราบถึงยุทธวิธีกำจัดโจรผู้ร้ายด้วยการใช้  “โจรปราบโจร”     ไม่ว่าท่านจะเยื้องกรายไปหนใด มีชายฉกรรจ์หลายคนเดินตามหลัง ชายกลุ่มนั้นมีทั้งตำรวจและโจร

มือปราบร่างเตี้ยมะขามข้อเดียว  ท่านถูกยิงเข้าหน้าท้องขณะเข้าจับคนร้าย ตอนนั้นท่านเป็น  ผบ.กอง  สภ.อ.มวกเหล็ก สระบุรี ได้รับการเลื่อนขั้นพาสชั้นไปเป็นผู้กำกับการตำรวจจังหวัดตาก อันเป็นต้นตำนานลือลั่นที่คนทั้งประเทศรู้จักชื่อ “คุ้มพระลอ” จากนั้นก็มาอยู่ลพบุรีเพื่อกำราบกลุ่มอิทธิพลลูกชายเจ้าพ่อ “ไบคาน”

สำหรับ พ.ต.อ.ประจันต์ พราหมณ์พันธุ์ ร่างเล็กเหมือน  พ.ต.อ.สันติแต่อุปนิสัยคนละอย่าง ผมรู้จักตั้งแต่ พ.ต.อ.ประจันต์ เป็น ผบ.กอง  สภ.อ.เมืองสระบุรี เพราะผมต้องไปทำหนังสือพิมพ์สระบุรีสารที่นั่น สนิทกันถึงขนาดนอนกินเหล้าด้วยกันบนเนินหญ้าหน้า “แสงไทยวิลล่า” ไนท์คลับแห่งเดียวชองสระบุรี จากนั้นไม่รู้ท่านย้ายไปไหน จู่ ๆ ก็โผล่มาเป็นผู้กำกับการตำรวจจังหวัดลพบุรี

แม้จะสนิทกันขนาดไหน ผมก็ดำรงสถานะ “นักข่าวกระจอก”  เป็นปกติ ยิ่งมาอยู่จังหวัดเดียวกันยิ่งสนุก เรามีนัดไปพบกันที่ห้องทำงานของ “สัมฤทธิ์ เผ่าพงษ์ทอง” หรือ“เสี่ยถ่าง”   เจ้าของโรงแรมไทเป ตลาดท่าโพธิ์ในตัวเมือง ตอน 1 ทุ่มสัปดาห์ละ  2  วัน

ไปกินเหล้าครับ น้ำเมาเป็นบรั่นดี ยี่ห้อ เฮนเนสซี่ ดื่มกินกันสองคน เพราะเสี่ยถ่างเขาไม่กินเหล้า สนทนากันเรื่องสัพเพเหระ ไม่เกี่ยวกับงานตำรวจของท่าน ไม่เกี่ยวกับเรื่องข่าวของผม    เมาแล้วก็เข้าบาร์พอสมควรแก่เวลา ผมก็กลับบ้าน พ.ต.อ.ประจันต์ก็กลับบ้าน ไม่มีสตรีเพศนักร้อง หรือพาร์ตเนอร์มาเกี่ยวข้อง

“สัมฤทธิ์”  เป็นเจ้าของร้านขายผ้าอยู่ตลาดล่าง  ถนนพระราม  อ.เมืองลพบุรี   ใกล้บ้านผมและรู้จักกัน “สัมฤทธิ์”  เดินขากาง เวลาผมเขียนสังคมถึงเขา ผมตั้งฉายาให้ว่า “เสี่ยถ่าง”    ซึ่งเขาก็ไม่โกรธแม้อาจจะเคืองนิด ๆ

โรงแรมไทเปของเสี่ยถ่าง อยู่หัวมุมตลาดท่าโพธิ์ ถนนสุรสงคราม อ.เมืองลพบุรี ผมต้องเขียนถึง เพราะเป็นโรงแรมประวัติศาสตร์ของจังหวัดลพบุรี คนลพบุรีจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้เรื่องนี้

ประวัติศาสตร์จารึกไว้ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 สมเด็จพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาจังหวัดลพบุรี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจที่โรงเรียนวินิตศึกษา   อ.เมืองลพบุรีแล้วเสด็จฯ ไปทรงสักการะสิ่งศักดิ์ที่วัดมณีชลขัณฑ์ มีรูปหล่อ “หลวงพ่อแสง”   พระอาจารย์ของ “สมเด็จพระพุฒาจารย์  (โต  พรหมรังสี)” ประดิษฐานอยู่ที่ฐานชั้นล่างของพระเจดีย์

ตามตำนานเล่าขานกันว่า หลวงพ่อแสงสร้างเจดีย์สูงตระหง่านไว้หน้าวัดมณีชลขัณฑ์   ว่ากันว่าท่านสร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงเพียงคนเดียว ท่านปีนป่ายขึ้นไปได้อย่างไร ทุกวันนี้เจดีย์เอียงไปหน้าวัด เอียงแบบน้องๆ หอเอนที่อิตาลี ไปดูกันได้ที่วัดนี้

ระหว่างที่ประทับ  ณ วัดมณีชลขัณฑ์ พระองค์ทรงปรารภกับผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี     มีพระประสงค์จะเสด็จฯไปโรงแรมไทเป ซึ่งอยู่ห่างจากวัดมณีชลขัณฑ์ประมาณครึ่งกิโลเมตร      ผู้ว่าฯ ลพบุรีต้องรีบไปประสานกับ “สัมฤทธิ์” เจ้าของโรงแรมไทเป อย่างกะทันหันเพื่อเตรียมการรับเสด็จฯ  หลังจากรับทราบว่าพระองค์มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรห้องพักของโรงแรมไทเป  โดยเฉพาะห้องหมายเลข 4 และห้องหมายเลข  5

ทั้งสองห้องพักนั้นเป็นที่มาของเพลง “เกลียดห้องเบอร์ห้า” ขับร้องโดย “สายัณห์   สัญญา” พระองค์ทรงโปรดเพลงนี้มาก และทรงได้ข้อมูลว่า ทั้งสองห้องอยู่ที่โรงแรมไทเป

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “ลพบุรีโพสต์”  ของ  “วันชัย สิงหะวาระ”เสนอสกู๊ปชิ้นนี้ โดย  “ธงชัย  นิติกุล” เรียบเรียงว่า

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินยังโรงแรมไทเป เมื่อเวลา 15.00 น.     วงดนตรีสถาบันราชภัฎเทพสตรียกวงไปบรรเลงเพลงเกลียดห้องเบอร์ห้า ที่ชั้นล่างของโรงแรมอย่างกะทันหัน โดยมี  “พลตรีปมุข อุทัยฉาย” รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ    เป็นผู้ขับร้อง พระองค์ทรงฟังเพลงจนจบแล้วเสด็จฯขึ้นไปยังห้องพักหมายเลข5 อยู่บนชั้นสอง

“สัมฤทธิ์  เผ่าพงษ์ทอง” เจ้าของโรงแรม พร้อมลูกสาว “สุรางค์พิมล เผ่าพงษ์ทอง”   และ “พันโทชัยฤทธิ์   บัวชุลี” นายทหารพลร่มผู้แต่งเนื้อร้องและทำนองเข้าเฝ้า ฯ อย่างใกล้ชิด

พระองค์ทรงประทับบนเตียงสอบถามเรื่องราคาห้อง “สัมฤทธิ์” กราบบังคมทูลว่า ค่าห้องพักคืนละ 150 บาท พระองค์มีรับสั่งว่าถูกมาก และทรงถามอีกว่า มีผู้มาพักห้องราคา 150   บาทแล้วให้เขียนใบเสร็จราคา 500 บาทหรือไม่ “สัมฤทธิ์” กราบบังคมทูลด้วยสำเนียงคนจีนว่าไม่มี จากนั้นเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรห้องพักหมายเลข 4 ด้วย  จนกระทั่งเวลา 16.00 น.จึงเสด็จฯ กลับ

กล่าวถึงพันโทชัยฤทธิ์ บัวชุลี  ต่อมาได้รับพระราชทานยศพลตรี เนื่องจากลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ ผู้พันชัยฤทธิ์มีนามแฝง  “แดน กระดิ่งทอง” เป็นนักกลอนของชมรมนักกลอนลพบุรี ซึ่งมี “อุทัย  เก่าประเสริฐ” เป็นโต้โผ

ผู้พันชัยฤทธิ์แต่งเพลงนี้เมื่อ พ.ศ.2510 เสร็จแล้วไปให้ “แทน เทวินทร์” นักจัดรายการวิทยุจังหวัดลพบุรี เป็นพี่ชายของ “วิสา คัญทัพ” ระดับแกนนำคนเสื้อแดง “แทน เทวินทร์”ก็ส่งต่อไปยัง  “ลพ บุรีรัตน์”นักแต่งเพลงชื่อดังชาวละโว้ระดับบรมครูขัดเกลาทั้งเนื้อร้องและทำนอง     “ลพ บุรีรัตน์” เลือก “สายัณห์ สัญญา” ร้องเพลงนี้จนเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ ตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

ปัจจุบันโรงแรมไทเปยังเปิดบริการ แต่ “สัมฤทธิ์” สั่งปิดห้องหมายเลข 4 กับห้องหมายเลข  5 ไว้ ทำความสะอาดดูแลรักษาอย่างดี

เพราะเป็นห้องพักประวัติศาสตร์ และเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง

 

RELATED ARTICLES