“วิญญาณความเป็นนักข่าวของผมเกิดจากการอบรมของรุ่นพี่”

ผ่านเรื่องราวในสนามน้ำหมึกมาไม่น้อย

นพรัตน์ พรวนสุข บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เป็นคนข่าวอาชญากรรมรุ่นเก่ายุคสมัยนายตำรวจนักสืบมือปราบเฟื่องฟู เหล่าเจ้าพ่อฟูเฟื่อง เขาเป็นคนจังหวัดแพร่ ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ติดตามข่าวสาว ท่ามกลางความฝันอยากเป็นนักข่าว ด้วยความที่อยากรู้ไปหมดทุกเรื่อง

ชีวิตวัยรุ่นค่อนข้างเกเร เรียนหลายที่กว่าจะมาจบมัธยมปลายโรงเรียนมักกะสันวิทยา  ไม่เลือกสอบเอ็นทรานซ์ แต่มุ่งเข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะรักชอบวิชากฎหมาย ก่อนไปเขียนงานดนตรีเรื่องของอีริค แคลปตัน เจ้าของฉายา “Slowhand”  มือกีตาร์ นักร้อง นักแต่งเพลงชาวอังกฤษ ส่งหนังสือ “สู่อนาคต” ของ อัศศิริ ธรรมโชติ

ฉายแววให้เข้าสู่วงการข่าวในสังกัดหนังสือสู่อนาคต เชิงการเมือง ที่รวบรุ่นกลุ่มนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ หัวคิดแรง มี วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย เป็นเจ้าของ นพรัตน์เล่าว่า เริ่มทำข่าวแรกในชีวิตเป็นข่าวจราจรของกรุงเทพฯ ที่ท่านวินิจ เจริญศิริ ขณะนั้นเป็นผู้บังคับการตำรวจจราจร จัดการเดินรถแบบวันเวย์ครั้งแรก ท่านวินิจจะไปตรวจที่ถนนอโศก พอตามไปเจอก็ยอมรับกับท่านว่า เป็นนักข่าววันแรก ขออนุญาตขอความรู้จากท่าน ท่านวินิจมีเมตตามาก บอกให้นั่งรถมาด้วยกัน ได้ข้อมูลเอามาเขียนข่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นการทำข่าวเกี่ยวกับตำรวจครั้งแรกโดยที่ไม่รู้ตัว

“ด้วยความที่ผมชอบ และมีความฝันอยากเป็นนักข่าว คืนนั้นผมขอนอนที่สำนักงานเลย เพื่ออ่านข้อมูล ค้นข่าวประกอบ” นพรัตน์บอกถึงชีวิตวัยรุ่น เขาทำงานเกือบปี ย้ายค่ายไปอยู่สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เนื่องจากมองเป้าหมายต้องขึ้นชั้น เมื่อมีโอกาสเลยรีบไขว่คว้า อยู่สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เปิดประเด็นข่าวรถเบนซ์แวนที่เข้ามาเสียภาษีไม่ถูกต้อง และอีกหลายข่าวใหญ่ ใช้ชีวิตกินนอนโรงพิมพ์เหมือนเดิม นอกจากประหยัดค่าเช่าบ้านแล้วยังได้บรรยากาศชวนทำงาน อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องพิมพ์ดีด ตอนกลางคืนจะว่าง

นพรัตน์ว่า สมัยก่อนอยากได้เครื่องพิมพ์ดีด โอลิมเปียเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีปัญญาซื้อ ถ้าเปรียบเหมือนยุคนี้ นักข่าวต้องมีโน้ตบุ๊ก ไม่ก็โทรศัพท์มือถือ หิ้วไปทำงานตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ลำพังเงินเดือนยังไม่พอใช้เลยตัดสินใจนอนโรงพิมพ์เพื่อสมประโยชน์หลายอย่าง

แล้วเส้นทางชีวิตของนพรัตน์ก็เปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อได้รับการชักชวนไปทำงานหนังสือพิมพ์มติชน ที่ต้องการหานักข่าวทำงานสายตำรวจ ประจำกองปราบปราม “มติชนคัดคนมาก วางสเปกต้องเป็นคนที่เข้ากับตำรวจได้ มีนิสัยนักเลงหน่อย ๆ ขณะเดียวกัน ต้องไม่ให้ตำรวจกลืนพฤติกรรมของนักข่าวไป แต่หาไม่เจอ มีแต่พวกจบมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ ทั้งนิเทศศาสตร์จุฬาฯ แล้วก็วารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เข้าไปก็คงไม่ได้ผล เลยมาชักชวนผม”

ลิขิต จงสกุล เป็นคนมองเห็นคุณสมบัติข้อนนี้ถึงชวนเขาไปอยู่ มีสมหมาย ปาริจฉัตต์ สัมภาษณ์แล้วรับทำงานเพราะตรงตามสเปก เข้าประจำกองปราบปราม สามยอด ยุคปลายของ บุญชู วังกานนท์ ถ่ายอำนาจให้ รุ่งโรจน์ ยมกกุล คุมบังเหียน อดีตคนข่าวมติชนเล่าว่า สมัยนั้นกองปราบปรามคึกคัก มือปราบ นักสืบ เต็มไปหมด เหมือนอย่างที่เราเคยดูหนัง ก็ชอบเลย เพราะเรื่องจะส่งตรงมาจากกรมตำรวจ มาที่กองบัญชาการสอบสวนกลาง แล้วก็ส่งยังกองปราบปราม แต่ละเรื่องจะต้องทำให้ได้ ลัก วิ่ง ชิงปล้น เรื่องความมั่นคง อิทธิพลอะไรต่างๆ เดินหาข่าววันเดียวจะต้องมี 3 ข่าวสบาย ๆ ตำรวจสมัยนั้น มีทั้งบุญฤทธิ์ รัตนะพร พิทักษ์ เทียนทอง จุมพล มั่นหมาย

“มีคดีเยอะ ผมจะมีข่าวเดี่ยวอยู่ตลอดเวลา เป็นมือใหม่ที่ไฟแรง แล้วก็มันมาก วิญญาณความเป็นนักข่าวของผมเกิดจากการอบรมของรุ่นพี่ ของอาจารย์ ผู้ใหญ่ เช่น อาจารย์ป๋อง-พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร จะขัดเกลาให้เรารับผิดชอบ และมีสปิริตในการทำข่าว ทำให้เกิดเป็นความภูมิใจ ยอมรับว่า บางครั้งต้องฆ่าเพื่อนในสนามข่าว ถ้าเพื่อนตกข่าว เป็นเรื่องที่ผมสะใจมาก”

คนข่าวผู้คลุกคลีวงการตำรวจมานานถ่ายทอดประสบการณ์ว่า มีอยู่ข่าวตอนนั้นเกิดเรื่องที่จตุรัสเทียน อัน เหมิน  มีการแจ้งหมายจากกระทรวงการต่างประเทศว่า ให้ไปทำข่าวนักศึกษาไทยที่ไปเรียนในจีนกลับมา อาจารย์ป๋องมอบหมายให้ไปทำข่าว กำชับว่า ให้ทำเป็นข่าวเดี่ยวได้ไหม เราบอกว่า จะทำได้ยังไง เขาแจ้งทุกสำนักข่าว ตอนหลังมาคิดดู น่าลองเหมือนกัน เลยบอกว่า ขอคนที่จะพาเข้าไปที่งวงเครื่องบินได้หรือไม่ และขอให้เป็นผู้ช่วยในการถ่ายรูป ในการตีตราพาสปอร์ต

วันนั้น เหยี่ยวข่าวหนุ่มมติชนใส่กางเกงสีน้ำตาล ขายาว ใส่เสื้อยืด คล้ายซับในของตำรวจ เจตนา ให้ภาพลักษณ์ตำรวจ พอนักศึกษาเป้าหมายลงจากเครื่องบินก็เข้าไปแนะนะตัวอ้างเป็นตำรวจสันติบาลที่กรมตำรวจส่งมารับตัว เพราะว่ารัฐบาลไทย ไม่อยากให้ไปให้ข่าวกับนักข่าวที่รออยู่ข้างหน้า เกรงว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์กับจีน

“นักศึกษาคนนั้นเชื่อสนิท ผมพาออกไปขึ้นรถเก็บในบ้านเช่าแถวบางพลัด จากนั้นรับส่งข่าว ส่งฟิล์ม วันรุ่งขึ้นมติชนฉบับเดียวตีข่าวแบบสะใจมาก นักข่าวทั้งใน และต่างประเทศที่รออยู่จนถึงเที่ยงคืน โกรธกันมาก ผมยังเอาไปลงที่มติชนสุดสัปดาห์ แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ก็มีความภูมิใจนะ แต่ผมมาคิดนึกทบทวนว่า มันก็ไม่ถูกต้อง เพราะไปหลอกเขา บางทีมันอาจเป็นความสามารถของเราในวิชาแบบนี้ วิชามาร แต่มันไม่ใช่การแข่งขันที่เป็นธรรม มันได้ด้วยเล่ห์ มันภาคภูมิใจปนไปกับความไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา” นพรัตน์สารภาพแม้ผลงานครั้งนั้นจะได้รับการขึ้นเงินเดือนและเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ถึงกระนั้นก็ตาม เจ้าตัวบอกว่า ผ่านข่าวคดีดังมาไม่น้อยในยุคอิทธิพลเจ้าพ่อฆ่ากันเลือดนอง เช่น คดีสังหารเสี่ยฮวด -พิพัฒน์ โรจน์วานิชชากร เจ้าพ่อบ้านบึงโดนถล่มด้วยอาวุธสงคราม ต้นสังกัดส่งไปอยู่ชลบุรี เกาะคดีนานนับเดือน ได้สัมภาษณ์กำนันเป๊าะ สมชาย คุณปลื้ม และใครต่อใคร กว่าจะจับคนร้ายได้ ถือเป็นประสบการณ์การทำข่าวของตำรวจยุคหนึ่ง

เขายังมีนามปากกา “นก ปีศาจ” ที่ได้มาสมัยเขียนหนังสือแนวดนตรีเฮฟวี่ฉบับหนึ่ง ก่อนนำมาใช้เขียนเรื่องลงนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ รายงานข่าวความเป็นไปของพวกเจ้าพ่อมาเฟีย รวมทำเป็นเล่มเจ้าพ่อเมืองหลวง จากข้อมูลของตำรวจนักสืบที่รู้ข้อมูลจริง ที่นพรัตน์ได้ไปทำงานคลุกคลี กระทั่งเริ่มบริบทบนเส้นทางมาเฟียเป็นมาอย่างไร ใครหนุนหลัง เกิดปัญหาความคัดแย้งกันอย่างไร ก่อนจะพบจุดจบของแต่ละบุคคล

อยู่มติชนถึงปี 2534 เกิดความขัดแย้งภายในองค์กร เขาอำลาหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ค่ายประชาชื่น ไปทำงานอยู่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และยังวนเวียนอยู่ข่าวสายตำรวจ กระทั่งปี 2539 ลาออกทิ้งวงการไปประกอบธุรกิจส่วนตัว เพราะคิดว่า อาชีพนักข่าว ไม่สามารถมีบ้านให้กับครอบครัวได้ แต่ไม่เคยลืมจิตวิญญาณในตัวเอง ทุกวันเขาจะดูข่าวทีวีตอนเย็นแล้วหยิบประเด็นมาพาดหัวในใจ รุ่งขึ้นจะดูหนังสือพิมพ์ว่า ตรงกับตัวเขาหรือไม่

สุดท้ายกลิ่นหมึกพิมพ์มันยังหอมอบอวลชวนอยากกลับมาลิ้มรสอีกจนได้ นพรัตน์ยอมรับว่า ตัวเองมีความฝันอย่างหนึ่ง หลังผ่านการรู้เห็นการแย่งชิงอำนาจในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มาตลอดคิดว่า ถ้าวันหนึ่งมีเงิน จะเป็นเจ้าของหนังสือเอง แล้วในปี 2548 ตัดสินใจเปิดหนังสือรายปักษ์ชื่อ คนมีสี แนวความเคลื่อนไหววงการตำรวจที่เราถนัด ทำไปทำมายอดขายได้ แต่ขาดทุน เพราะมีต้นทุนการผลิตสูง เลยเปลี่ยนหัวมาเป็นโหวต เน้นแนวการเมือง รวมแล้วใช้เวลายืนระยะบนแผง 8 ปีก็ต้องวางมือ

พอดี สนธิ ลิ้มทองกุล เรียกตัวกลับมาช่วยงาน นพรัตน์ถึงคืนถิ่นเก่าเข้าสังกัดผู้จัดการอีกครั้ง “ผมศรัทธาคุณสนธิ เป็นคนที่ผมเห็นความชัดเจน เพราะแกจะคิด จะพูด ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดที่ไหน พูดในโต๊ะอาหาร กินกัน 2-3 คน หรือที่ประชุมข่าว หรือในเวทีอภิปรายอะไร ผมเคยติดตามไปฟัง แกจะพูดในเนื้อหาเดียวกัน ความคิดเป็นแบบเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2535 ก็ได้เห็นการทำตรงนี้ตลอด เป็นคนที่ผมศรัทธา โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงานข่าว”

 

“ผมเคยเขียนด่าเพื่อนคุณสนธิ ผมไม่รู้ว่าสนิทกัน แต่คุณสนธิ ปล่อยให้ผมเขียน แล้ววันหนึ่ง แกก็เดินมาหา บอกผมว่า เขียนเรื่องนี้จบหรือยัง ผมก็ว่า ไม่มีแล้ว แกมาบอกว่า ไอ้นี่มันเพื่อนกู คือ แกไม่เคยที่จะครอบงำ ให้อิสระเต็มที่ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้ มีคนด่าแกในเว็บไซต์ ก็ไม่เคยให้ใครเอาออก แกเป็นคนที่ใจกว้างมาก  คุณสนธิให้ความสำคัญในการขายจิตวิญญาณให้กับงานข่าว ทุกบาททุกสตางค์ ไม่ทำธุรกิจที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย”

การกลับมาเที่ยวนี้ นพรัตน์ก้าวสู่ยุคข่าวดิจิตอล จนบางครั้งต้องปรับตัว เขามองว่า เว็บไซต์เป็นตัวทำลายรูปแบบข่าวระบบเดิม สมัยก่อนเรารวบรวมข่าวทั้งวัน เพื่อนำมาตัดสินใจอีกที แต่ทุกวันนี้ ประเด็นทุกชั่วโมง ทุกครึ่งชั่วโมงด้วยซ้ำ ต้องนำเสนอให้คนอ่าน ได้ติดตามอ่านทุกวัน คล้ายๆ วิทยุ แต่ต้องมีเนื้อหาที่มาก และลึกกว่าวิทยุ พอมาทำก็เกิดอาการติดลม ได้เรียนรู้ ได้เริ่มนับหนึ่งใหม่ การทำข่าวก็จะผิดแผกแตกต่างกันหมดไปจากที่เราเคยทำ สมัยก่อน เช่น เราทำข่าวเดี่ยว  แต่วันนี้ไม่มีการทำข่าวเดี่ยว กลายเป็นการรวมกลุ่มแล้วมาจัดข่าว แยกออกไป ต่างคนต่างส่ง ต่างคนต่างแบ่งปันกัน ไม่มีใครเอาข่าวเดี่ยวมาเสนอ เพราะเกรงจะไปขัดธรรมเนียม ขัดใจกัน

บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และผู้จัดการออนไลน์ แสดงความเห็นว่า คนที่เสียประโยชน์ คือ เจ้าของสื่อที่จ้างมาทำงานได้ไม่เต็มที่ และผู้อ่านไม่ได้รับสิ่งที่มีการเสาะแสวงหามาให้ เหมือนว่า อ่านจากฉบับเดียวก็ได้เหมือนกันหมด เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานว่า วัฒนธรรมของกลุ่มเพื่อนแข็งกว่าวัฒนธรรมขององค์กรไปแล้ว  “ผมเข้ามา ผมก็เปลี่ยนแปลง ทำสกู๊ป ต่อยอดของข่าว เขียนได้อย่างอิสระไม่ขัดแย้งกับรุ่นน้องในภาคสนาม เข้ามารับผิดชอบเป็นหัวขบวนอยู่ในเว็บไซต์ผู้จัดการ สัปดาห์ละ 2-3 เรื่อง ผมยังชอบทำข่าวเดี่ยวเหมือนเดิม อย่างข่าวการโกงเงิน ลักเงินของ สจล.ผมทำของผมเอง รวบรวมของผมเอง แล้วก็อีกหลายๆ ข่าว เป็นข่าวเดี่ยว”   

นพรัตน์ทิ้งท้ายว่า ตัวเองมีนิสัยแบบนี้ แต่อยู่ร่วมกับสังคมได้ เหมือนว่าเราอยู่กันคนละคลื่น เช่นเดียวกับตำรวจ ตำรวจวันนี้ กับตำรวจเมื่อก่อนก็ต่างกัน ตำรวจเมื่อก่อน มีจิตวิญญาณความเป็นตำรวจมาก บางทีถูกมองเป็นตำรวจโจร แต่ถึงเวลา งาน คืองาน บางอย่างที่ไม่แตะต้องเลย คือ ยาเสพติด ส่วยทางยาเสพติด เจอเป็นจับ เจอเป็นฆ่า แต่วันนี้ตำรวจเปลี่ยนไป เอาทุกอย่าง ขอให้เป็นผลประโยชน์กับตัว

มันต้องพิจารณาตั้งแต่ระดับหัวลงมา เพราะหัว คือ นักวิ่งเต้น ลูกท่าน หลานเธอ อย่างที่เคยได้ยินหรือไม่ว่า จะประกอบไปด้วย สายโลหิต ศิษย์ข้างเคียง เสบียงหลังบ้าน กราบกรานสอพลอ ล่อไข่แดง แกร่งวิชา คือ คาถาที่จะได้ดีในตำรวจ แกร่งวิชา คือ คนเก่ง ทำงานเก่ง ไปอยู่หลังสุด แบบอื่นข้างต้น พวกนี้จะได้ดิบได้ดีทั้งหมด ตำรวจเลยเละเทะไปทั้งระบบ ผมอยากบอกว่า ไม่อยากให้ปรับโครงสร้างหรอก แต่อยากให้ปรับจิตใจตำรวจให้พร้อมกลับมาเป็นตำรวจก่อน เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่ายนะ ตำรวจบ้านเรา จิตวิญญาณความเป็นตำรวจมันเสียไปแล้ว “

RELATED ARTICLES