“ชีวิตผ่านมากับงานสอบสวนมาโดยตลอด ถึงได้อย่างนี้ ไม่เคยวิ่งเต้น”

มือสอบสวนแห่งตำนานชั้นครูของวงการสีกากีอีกคนที่ผ่านคดีดังระดับชาติมาอย่างโชกโชน ทำสำนวนมัดผู้ต้องหาติดคุกติดตะรางมากมายก่ายกอง

พล.ต.ท.จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา อดีตผู้บัญชาการกฎหมายและสอบสวน ลูกชาย พล.อ.ท.กงทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ เกิดนครราชสีมาสมัยผู้พ่อยังเป็นนักบินหนุ่ม พออายุ 2 ขวบย้ายตามพ่อมาดอนเมือง เริ่มต้นเรียนโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย ไปต่อวชิราวุธวิทยาลัย

จบชั้นมัธยม 6 ตั้งใจไปสอบเตรียมทหารหวังเป็นลูกทัพฟ้าตามรอยบิดา แต่ไม่ได้เลยเปลี่ยนไปกลับเรียนต่อเตรียมอุดมศึกษา ก่อนหันมาสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจแทนตามคำแนะของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค ขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีศักดิ์เป็นลุงแท้ ๆ จนจบรุ่น 20 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้ และพล.ต.อ.ปิยะ เจียมชัยศรี เป็นต้น

ประเดิมตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางรักแค่ 9 เดือนย้ายออกภูธรไปอยู่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ปีเดียวคืนกรุงมาอยู่โรงพักพลับพลาไชย 1 ช่วงที่ลุงเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลพอดี ใช้เวลา 6 ปีเก็บเกี่ยวทำสำนวนขึ้นสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เริ่มสัมผัสคดีใหญ่ระดับชาติ ตั้งแต่คดีชุมนุมท้องสนามหลวง คดีกบฏ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ เป็นร้อยตำรวจเอกคนเดียวที่อยู่ในคณะทำงาน

“พอมีคดี นายก็จะเอาไปทำ เพราะผมรักงานสอบสวน” พล.ต.ท.จักรทิพย์เริ่มฉากชีวิต เขาอยู่โรงพักชนะสงครามจนเลื่อนเป็นสารวัตรใหญ่ที่นั่น เพราะ พล.ต.ท.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมองว่า ต้องการคนชำนาญพื้นที่ดูแลสำนวนคดีที่คาบเกี่ยวต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์วิปโยค 6 ตุลาคม 2519

กระทั่งปี 2527 เป็นรองผู้กำกับการนครบาล 3 คุมพื้นที่ ดุสิต พญาไท ดินแดง ห้วยขวาง มีโอกาสไปเป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีทุจริตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่มี พล.ต.ต.ประยูร โกมารกุล ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นหัวหน้า ตั้งกองสอบสวนอยู่ที่วังปารุสกวัน เจ้าตัวเล่าว่า เดินทางสอบสวนพยานทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวม 2 ปี รวมเกือบ 40 จังหวัดที่มีการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ผ่านทางพระโดยมิชอบ ทำไปหลายที่ไล่สอบหมด สมัยนั้นฝ่ายสืบสวนเกรงใจฝ่ายสอบสวน สอบสวนถือว่า มีบารมี มีความน่าเชื่อมั่น แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเชื่อกันแล้ว เพราะแบ่งงานกันไปหมดแล้วประสานกันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไม่เหมือนสมัยก่อน ระดับรองสารวัตรจะใช้ฝ่ายสอบสวนเป็นมือเป็นไม้ได้ผลเยอะ มีกองสืบสวนมาช่วยในคดีใหญ่

พอขึ้นผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ นายตำรวจฝีมือดียังได้โม่คดีสวนป่ากิตติ ก่อนโยกลงเป็นผู้กำกับการนครบาล 3 เกิดการประท้วงขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เขาบอกว่า ต้องลงไปทำสำนวนคดีอีก แทบจะเรียกได้ว่า อยู่ในเหตุการณ์บ้านเมืองตลอดช่วงนั้น พอเป็นรองผู้การเหนือยังได้ลงไปทำคดีเผาโรงเรียน 40 โรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นคดีใหญ่มากสามารถรวบรวมหลักฐานมัดโต๊ะกูเฮง แกนนำคนสำคัญได้ จากนั้นได้ทำคดี 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ คดีตามเพชรซาอุดีอาระเบียระลอก 2 และคดีสังหารแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย

“คดีฆ่าแสงชัย เป็นคดีตัวอย่างที่น่าศึกษา เพราะหลายฝ่ายช่วยกันทำงานจนสมบูรณมาก ทำคดีนี้จนเรียกว่า ศาลพิพากษาประหารชีวิตมือปืนยันผู้จ้างวาน สืบพยานวันเดียวจบ รุ่งขึ้นศาลอ่านคำพิพากษาเลย มีการแยกสำนวนมือปืน ไม่รวมกับผู้จ้างวาน ถ้าช้าคดีจะพลิก เพราะผู้จ้างวานอาจบอกให้มือปืนมันกลับคำให้การแน่นอน” พล.ต.ท.จักรทิพย์ลำดับคดีดังสะท้านเมือง

อดีตมือสอบสวนชั้นพระกาฬอธิบายอีกว่า คดีนี้ยังนำเอาไปเป็นแบบอย่างคดีจ้างวานฆ่าแพทย์หญิงนิชรี มะกรสาร ในท้องที่ห้วยขวาง ที่ตนเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน เมื่อจับมือปืนได้ ยอมรับสารภาพ เราก็แยกสอบเพื่อเป็นหลักฐานมัดสุขุม เชิดชื่น ผู้จ้างวาน ทำให้ศาลตัดสินประหารชีวิตเหมือนกัน ทำให้เห็นว่า คดีของแสงชัย เป็นตัวอย่างของคดีหมอนิชรี ศาลลงโทษผู้จ้างวานทั้งสองคดี เป็นคดีที่น่าศึกษาและภาคภูมิใจที่ได้ทำคดีสำเร็จสมบูรณ์แบบ

หลังจากนั้น พล.ต.ท.จักรทิพย์ ถูกวางตัวให้เป็นผู้บังคับการในกองบัญชาการศึกษาเพื่อไปวางรากฐานให้พนักงานสอบสวนเจริญเติบโตก้าวหน้าในเส้นทางของตัวเอง เป็นต้นแบบมาถึงพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการในปัจจุบันที่สามารถเลื่อนไหลถึงขั้นนายพลในอนาคต  “สมัยนั้นสายสอบสวนคนมันจะหนี เพราะกว่าจะขึ้นพันตรีได้แค่ 2-3 คน ติดอยู่ที่ร้อยเอก แต่พอมีแบบนี้ได้ถึงพันตำรวจเอก มีค่าตำแหน่ง ค่าวิชาชีพ ดำรงชีวิตเป็นพนักงานสอบสวนได้อย่างดี และจะเจริญก้าวหน้าไปถึงระดับนายพลได้ด้วย นั่นคือ ความก้าวหน้าของสายสอบสวนที่ผมได้วางไว้ตอนเป็นผู้การ”

รับบทนายพลอยู่กองบัญชาการศึกษาได้ 6 เดือนถูกโยกไปทำคดีราเกซ สักเสนา พ่อมดการเงิน นั่งเก้าอี้ผู้บังคับการตำรวจสอบสวนคดีเศรษฐกิจ ตั้งคณะพนักงานสอบสวนมา 22 ชุดแบ่งคดีบีบีซีเป็น 22 คดีจนเสร็จเรียบร้อย พล.ต.ท.จักรทิพย์ยอมรับว่า พอเสร็จก็ไม่ไหวแล้ว มันอันตราย แต่ละคดีรุนแรงเหลือเกิน มูลค่าเงินมหาศาล อยู่ได้ปีครึ่งเลยขอขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เริ่มทำคดีอาชญากรรมตามถนัด ทั้งการตายปริศนาของห้างทอง ธรรมวัฒนะ ทายาทมรดกตลาดยิ่งเจริญ คดีฆ่าปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร

อดีตนายพลนครบาลยืนยันว่า คดีผู้ว่าฯ ปรีณะ ตามแนวทางการสืบสวนสอบสวนของตำรวจนครบาลได้ผู้ต้องหาตัวจริง เราเชื่อว่า ที่เราทำมันตรงตามพยานหลักฐาน แต่ตอนหลังกองปราบปรามนำสำนวนไปทำต่อ เราก็ไม่ทราบแล้ว ข้างหน้าไปต่ออย่างไร เราจะไปปรามเขาก็ไม่ได้ เขาว่าของเขาถูก ถ้าเราค้านก็ไม่จบ เพราะผู้บังคับบัญชามอบนโยบายให้กองปราบปรามทำ ก็ทำไป

พล.ต.ท.จักรทิพย์บอกอีกว่า ต่อมาขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ไปทำคดีล็อกหวยของกลม บางกรวย กระทั่งกลับมาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ทำหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนเต็มเครื่อง คุมคดีการหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร ทนายความชื่อดัง แล้วลง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คุมคดีสลายการชุมนุมที่ตากใบ นราธิวาส และคดีกรือเซะ จังหวัดปัตตานี จนเลื่อนเป็นผู้บัญชากาประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการกฎหมายและสอบสวนอีก 3 เดือนก่อนเกษียณอายุราชการ

“ผมถือว่า ชีวิตผ่านมากับงานสอบสวนมาโดยตลอด ถึงได้อย่างนี้ ไม่เคยวิ่งเต้น เป็นไปตามจังหวะ ขึ้นนายพล ท่านพจน์ บุณยะจินดา เป็นอธิบดีกรมตำรวจท่านก็ให้ ไม่เคยไปวิ่งเต้นหรือไปหาท่านเลย เปิดตำแหน่งให้เป็นผู้การ เป็นนายพล ผมยังต้องไปกราบท่าน และนึกถึงบุญคุณท่านเลย ทั้งที่ไม่เคยรู้ได้รู้จักท่านมาก่อน เรียกไปพบแล้วท่านก็ให้ เนื่องจากการทำงาน เพราะตอนนั้นมาจากการสอบสวน กี่คดีก็เข้าไปหมด ช่วงนั้นทำคดีหมอนิชรี ก็ได้ขึ้นตามสเต็ปอย่างนี้ ต่อไปอนาคตอีก 100 ปี ก็ไม่มี เพราะเลื่อนไหลหมดแล้ว”

เขาว่าถึงหลักการทำงานว่า งานตรงนี้ทำให้เราโตมาตลอด ไม่ค่อยได้ทำงานสืบสวนเป็นนักบู๊  จับคนร้ายไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ลูกน้องจับ แต่ก็มาทำสอบสวนได้หมด เราทำงานมีลูกน้องเป็นทีมซึ่งไว้ใจกันได้ อาทิ ปานศิริ ประภาวัติ ขจรศักดิ์ ปานสาคร อำนวย นิ่มมะโน ชัยทัต รัตนพันธุ์  พวกนี้ที่ทำกันเป็นทีมทำงานกันแล้วก็ได้ผล เพราะรู้ใจกัน นายก็ไว้ใจ จบดีทุกคดี เราก็ภาคภูมิใจ เพราะเราสนใจและทำงานเต็มที่ ทำสนุก

อาจารย์มือสอบสวนฝากถึงตำรวจรุ่นใหม่ด้วยว่า อยากให้รักงานสอบสวน เพราะขณะนี้งานสอบสวนด้อยลงไป กลายเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษดังขึ้นมา เพราะเป็นงานพื้นฐานของตำรวจเรา อย่างกองปราบปรามตอนนี้ก็เงียบไป ทำไมพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหน้าที่โดยเฉพาะของตำรวจที่จะติดตามทำคดี ควรให้เห็นว่า ตำรวจยังทำงานเรื่องการสอบสวนอยู่ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ไม่ว่าจะคดี ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ขอให้ตั้งใจทำ

“ถึงกระนั้นก็ตาม งานสอบสวนต้องมีฝ่ายสืบสวนเป็นผู้ช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นมีความสำคัญมากตรงนี้ แต่ปัจจุบันฝ่ายสืบสวนเจ๋งๆ หายไปไหนหมด เมื่อก่อนเอ่ยชื่อ อู๊ด-ปรีชา ธิมามนตรี ยาว-วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ ผู้ร้ายก็กลัวแล้ว พวกนี้ตามจิกกัดไม่เหลือเลย ตั้งกี่คดี ความมั่นใจจะเกิดขึ้นกับประชาชน นักสืบทุกคนสมัยก่อนก็โตขึ้นมาตั้งแต่เด็กเลย พวกนี้เขาจะรู้ตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น รู้ประวัติคนร้ายหมด ไอ้นี่เป็นใคร จะไปตามที่ไหน ซุ้มมือปืนอยู่ที่ไหน เพชรบุรี อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ กำแพงเพชร เพราะฉะนั้นรู้หมด พวกนี้อยู่นครบาลมา นักสืบสมัยก่อนต้องยอมรับว่า มีประสิทธิภาพมาก สมัยนี้ไม่ใช่ไม่มีฝีมือ แต่ยังเบาไป แล้วพนักงานสอบสวนบางคนไม่อยากอยู่สอบสวน พอมีตำแหน่งสืบสวนไปหมด แต่ผมจะบอกว่าจริงๆ คิดผิด”

นายพลวัยเกษียณขยายความว่า ถ้าเขาอยู่สอบสวน เขามีสิทธิสอบเป็น พ.ต.อ.ได้ภายใน 2 ปี แต่เมื่อไปอยู่สืบสวนจะได้เป็น พ.ต.อ.เมื่อไหร่ เป็นพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิตามโรงพัก ศักดิ์ศรีเท่า ผกก.โรงพัก ความรู้ความสามารถเชื่อว่า มากกว่าหัวหน้าสถานีด้วย เพราะมีภูมิด้านการสอบสวน เป็นถึงหัวหน้าพนักงานสอบสวน รับผิดชอบตั้งแต่เปรียบเทียบปรับยันถึงคดีโทษประหารชีวิต อย่าไปคิดว่า เป็น ผกก.แต่ไม่ใช่หัวหน้าสถานี เพราะมีโอกาสที่จะทำงาน มีบารมีมากมายมหาศาล ที่ไหนมีเรื่องจะเข้าสอบสวนหมด

“ผมอยากให้ฝ่ายสอบสวนทุกคนมีกำลังใจ ตั้งใจทำงานต่อไปในอนาคต เพราะตราบใดหากงานสอบสวนไม่อยู่ในมือตำรวจเมื่อไหร่ ตำรวจก็คือ ยามรักษาความปลอดภัย ผมว่า เรื่องอำนาจสอบสวนสำคัญนะ”

จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา !!!

 

RELATED ARTICLES