ก้าวที่ 17 ขยับปากกา

 

มุดโทรศัพท์กองบัญชาการตำรวจนครบาลประจำปีพุทธศักราช 2535 อยู่ในมือผมเรียบร้อยหลังจากทัวร์ซอยนายพลทำความรู้จักนายตำรวจระดับแม่ทัพขององค์กรสีกากีเมืองหลวง

ถือเป็นคู่มือทำข่าวสมบัติชิ้นแรกที่ทำให้เห็นช่องทางการเสาะแสวงหาข้อมูลประกอบงานในวงการหนังสือพิมพ์น้องใหม่อย่างสยามโพสต์

“เอ็งต้องเรียนรู้ก่อนว่า นครบาลเขามีโครงสร้างอย่างไรบ้าง ถ้าคิดจะเจาะลึกลงไปในตัวของแหล่งข่าว เอ็งเคยฝึกตระเวนข่าวมาแล้ว ข้าเชื่อว่าเอ็งน่าจะทำได้” อัมพร พิมพ์พิพัฒน์ หัวหน้าข่าวคนแรกของผมให้ความหวัง

ตำรวจไทยยุคหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานัก แม้ขั้วอำนาจทางการเมืองผลัดใบจากรัฐบาลกึ่งเผด็จการของทหารรั้วนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 5 ที่พาเหรดเข้ากุมอำนาจบริหารประเทศจะพังทลายลงด้วยแรงมวลชนที่ต้องแลกมาด้วยเลือดและหยาดน้ำตาของความสูญเสีย

แต่คลื่นมรสุมที่ทุ่งปทุมวันยังปกติ พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ยังคุมบังเหียนจ่าฝูงผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่สิ่งที่บอกถึงเส้นทางการเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการของตำรวจแต่ละนายในสมัยนั้นนอกจากจะต้องเป็นมือปราบแล้วอาจต้องไปแสวงหาทางลัดในตำแหน่งนายเวร หรือผู้ช่วยนายเวรผู้ทรงอิทธิพลของยุทธจักรโล่เงิน

นักข่าวรุ่นใหญ่หลายคนกระซิบให้ผมจับตามองไว้ตั้งแต่ตอนนั้น

“อีก 10 กว่าปีข้างหน้าพวกนี้จะเป็นใหญ่”แกพยากรณ์ไว้ “แต่นายของพวกเขาต้องไม่หมดบารมีด้วยนะ”อินทรีเฒ่าอีกคนเสริม

ผมจัดแจงหยิบปากกามาติ๊กเรียงตัว

เริ่มต้นสำนักงานอธิบดีกรมตำรวจ พันตำรวจเอกปานศิริ ประภาวัต สวมสายขาวทำหน้าที่นายเวรให้พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ส่วนพันตำรวจตรีวรเทพ เมธาวัธน์ เป็นนายเวรให้พลตำรวจเอกพจน์ บุณยะจินดา รองอธิบดีกรมตำรวจ ตัวเต็งที่จะขึ้นผู้นำลำดับถัดไปจากเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 13 อย่างพลตำรวจเอกสวัสดิ์ ขณะที่ พันตำรวจโทสุรศักดิ์ เย็นทรวง เป็นนายเวร พลตำรวจเอกมนัส ครุฑไชยันต์ รองอธิบดีกรมตำรวจ พันตำรวจโทสุรพล ทวนทอง เป็นนายเวร พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ รองอธิบดีกรมตำรวจ

“พวกนี้ต่อไปต้องเป็นนายพล” คนข่าวมองไกล

ผมเองกลับยังไม่ซึมซับ ไม่สนใจด้วยซ้ำ เพราะคิดว่า อยู่นอกเหนือหน้าที่รับผิดชอบ กรมตำรวจมันเป็นอะไรที่ใหญ่สำหรับพิราบปีกอ่อนอย่างผม ผมเลยหยิบคู่มือปฐมบทของกองบัญชาการตำรวจนครบาลสมัยนั้นมาศึกษา หลังพลาดท่าถูกหลอกให้ตะบี้ตะบันจดรายชื่อนายพล นายพันที่คุมทัพเมืองหลวงมือหงิกในย่างก้าวเข้าถิ่นนครบาลวันแรก

นครบาลตอนนั้น มี 3 กองบังคับการหลักอย่างเหนือ-ใต้-ธนบุรี รับผิดชอบดูแลพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร ในส่วนของหน่วยงานฝ่ายปฏิบัติการนั้นแบ่งแยกออกเป็นกองกำกับการ และหน่วยงานในระดับเล็กสุดคือ สถานีตำรวจนครบาล เป็นหน่วยงานแรกที่สัมผัสกับประชาชนทำหน้าที่เกี่ยวกับป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และการบริการสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการจราจร การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมเบื้องต้น ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ สถานีตำรวจนครบาลเหล่านี้จะตั้งในจุดครอบคลุมทุกพื้นที่เขตเมืองหลวงจำนวน 69 สถานี มีกองกำกับการนครบาล 1- 19 บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้น

“งานเหนือ เงินใต้ สบายธน” ผมยังจำคำแม่น เมื่อค้นคว้ารายละเอียดอย่างถ่องแท้แล้วเห็นจะจริงตามที่เขาร่ำลือ แต่ผมเลือกสนใจงานด้านสืบสวนมากกว่า ผมมองว่า ข่าวการสืบสวนสอบสวนเป็นอะไรที่น่าจะสนุก ติดตรงการหาข่าวเชิงลึกจากพวกนักสืบเขาว่ากันว่า “โคตรหิน” พื้นฐานทั้งหมดอยู่ที่ความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างเดียว ส่วนผมแค่น้องใหม่ไม่ประสีประสาได้แต่เดินตามก้นนักข่าวประจำเก่าแก่อย่างเดียว แม้โดดพี่ร่วมอาชีพหลายคนสับขาหลอก เล่นบทอาบัง เล่นพนันแทงกั๊กตามประสบการณ์ความเก๋าไปบ้าง ผมก็ไม่มีสิทธิตีโพยตีพายต้องก้มหน้ารับชะตากรรมต่อไป

“สืบเหนือ สืบใต้ สืบธน เราต้องรู้จักไว้ หมั่นเข้าไปคุยบ่อย ๆ” ศักดา เจ๊กจั่น คนค่ายเดลิมิเร่อร์ที่ผ่านศึกมาอย่างโชกโชนแนะ

“แล้วเขาจะคุยกับผมหรือ”

“ไม่ลองไม่รู้ หลายคนระดับนักสืบมือปราบพระกาฬทั้งนั้นนะ”แกชูรสกระตุ้นต่อมอยากผม

กองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ อยู่ชั้น 2 ชั้นเดียวกับกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ สามารถเดินตรงทะลุถึงกันได้ แต่บรรยากาศผิดกันลิบลับ จากที่เจอตำรวจสวมเครื่องแบบเดินกันขวักไขว่ไปเผชิญกลุ่มชายนอกเครื่องแบบที่บางครั้งแยกไม่ออกใครเป็นโจร ใครเป็นตำรวจ ผมยาว หนวดเครารุงรัง

ยุคนั้น พันตำรวจเอกวิบูลย์ศักดิ์ สิทธิเดชะ รับบทผู้กำกับ ระดับรองผู้กำกับการ เขาว่า ชื่อชั้นเป็นขุนพลมือดีของนักสืบเมืองหลวง ตั้งแต่ พันตำรวจโทภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา พันตำรวจโทประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ พันตำรวจโทวิวัฒน์ วรรธนะวิบูลย์ พันตำรวจโทมณเฑียร ประทีปะวณิช พันตำรวจโทโกสินทร์ หินเธาว์ ส่วนสารวัตรฝีไม้ไม่ยิ่งหย่อนว่ากันเลย มี พันตำรวจตรีปรีชา ธิมามนตรี พันตำรวจตรีศุภกิจ ศรีจันทรนนท์ พันตำรวจตรีสุชาติ ธีระสวัสดิ์ พันตำรวจตรีไพศาล เชื้อรอด และพันตำรวจตรีวีระศักดิ์ บูรพากาญจน์

ขยับขึ้นไปบนชั้น 3 ปีกเดียวกันเป็นสถานที่ตั้งกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครใต้ นำทีมโดย พันตำรวจเอกอาทิจ ชูตินันท์ ผู้กำกับ ระดับรองผู้กำกับได้แก่ พันตำรวจโทสมศักดิ์ แสนชื่น พันตำรวจโทนันทวุธ นพคุณ พันตำรวจโทสมคิด บุญถนอม พันตำรวจโทอภิชาติ เชื้อเทศ พันตำรวจโทลิขิต กลิ่นอวล สารวัตรประกอบด้วย พันตำรวจตรีสมชาย จูสนิท พันตำรวจโทชัชวาลย์ วชิรปาณีกูล พันตำรวจพันธ์เทพ ธรรมจารี พันตำรวจสมยศ ศรีสมวงศ์ พันตำรวจโทเอื้อพงศ์ โกมารกุล ณ นคร และพันตำรวจโทสุชาติ โอสถจันทร์

ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลธนบุรี ตั้งอยู่หน้าวัดหลวงพ่อโบสถ์น้อย หรือวัดอมรินทรารามวรวิหาร ข้างโรงพยาบาลศิริราช ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พันตำรวจเอกสัญจัย บุณยเกียรติ อดีตมือปราบนครบาลเหนือเป็นผู้กำกับการ รองผู้กำกับการมี พันตำรวจโทพิเชษฐ ประยูรศิริ พันตำรวจสรรเสริญ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา พันตำรวจโทเปรม สุจริตกุล พันตำรวจโทวิวัฒน์ วัฒนายากรณ์ พันตำรวจโทสงบ รอดประเสริฐ ส่วนสารวัตรได้ พันตำรวจโทฉัตรกนก เขียวแสงส่อง พันตำรวจโทไพฑูรย์ เพิ่มศิริวิศาล พันตำรวจตรีกฤชชัย สุเสารัจ พันตำรวจตรีฐิติราช หนองหารพิทักษ์ และพันตำรวจตรีปราโมทย์ นิธยาพันธ์ เป็นลูกทีม

ผมชักคันไม้คันมือสะบัดปากกาหยุกหยิกบ้างแล้ว

“พ่อ ที่แฟลตตกลงมีคนอยู่ไหม” ผมดิ้นหารังใกล้หนองน้ำ

“ทำไมหรือ”

“เผื่อไปนอน มันสะดวกดี”

“ก็เอาสิ”

ผมตัดสินใจเลือกออกมาใช้ชีวิตสันโดษถิ่นเก่าสมัยคลานออกมาจากท้องแม่ ยึดห้องพักชั้น 4 แฟลตตำรวจดับเพลิงที่ยังเป็นสิทธิของพันตำรวจโทประสงค์ กฤษณสุวรรณ รองผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจดับเพลิง ผู้พ่อซุกหัวนอน

“ไหวหรือ” แม่ถามด้วยความเป็นห่วง

มันเป็นการจากบ้านออกมาเผชิญโลกลำพังครั้งแรกไม่ต่างนกน้อยหลุดจากกรงบินสู่อาณาจักรไร่ส้ม ผมต้องหาอะไรกินเอง ซักผ้า รีดผ้า ถูห้องเองหมด ช่วงแรกสนุกดีกับชีวิตหนุ่มโสดที่เพิ่งจับงานข่าวอาชญากรรมประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาลไม่กี่เดือน

ตื่นสายโด่งก็ไม่หวั่นว่าจะมาทำงานสาย แค่ขยับกายเดินลงมาจากชั้น 4 ก้าวมาอีกนิดหน่อยก็ถึงที่หมายในรังใหญ่นายพลเมืองหลวง ตกเย็นหาอะไรอิ่มท้องเสร็จก็กลับขึ้นบันไดไปนอนเอนหลังพักสายตาฟังเพลง ซักผ้า รีดผ้า ถูห้อง

สุขจริงหนอชีวิตคนข่าวอย่างผม แต่พอนานวันความขี้เกียจเริ่มสิงสถิตเข้ากระดูก เริ่มตื่นบ่ายเยื้องกายมาเอาเกือบตลาดข่าววาย เสื้อผ้าใส่แล้วเริ่มกองพะเนิน ห้องฝุ่นจับ มีเพียงเตียงนอนเท่านั้นที่ดูเหมือนเป็นพื้นที่ปลอดไรฝุ่น หากทว่าสิ่งเดียวที่ผมไม่เคยรู้สึกสันหลังยาวนั่นคืองานข่าวที่มันดูดซับเข้าสู่เส้นประสาทเกาะอยู่ในจิตสำนึกกลายเป็นวิญญาณที่แยกไม่ออกจากร่างเสียแล้ว แม้จะมาทำงานสายบ้าง บ่ายบ้าง ผมก็พยายามเก็บข่าวด้วยตัวเองอาศัยพันธมิตรรุ่นพี่ช่วยกันแงะแกะเกาเอามาผสมปนเปคลุกเคล้าเข้าด้วยกันก่อนลงมือร่ายรำบรรเลงสู่โรงพิมพ์

มีพิมพ์ดีด Olympia กระเป๋าหิ้วของพ่อเป็นอุปกรณ์ข้างกายที่ทำช่วยให้ปากกาไหลลื่นเป็นกระดาษข่าวยาวเหยียด ทั้งที่ก่อนหน้า ผมแสลงหูเสียงต๊อก แต๊ก ของเครื่องพิมพ์ดีดมาก มันเกือบทำผมบ้าคลั่งไม่ผ่านวิชาหนังสือพิมพ์ตอนสอบพิมพ์ดีด

แม่ผมเป็นครูวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ พยายามแนะหลักการพิมพ์ดีด มีเครื่องพิมพ์ดีดที่แผนกทะเบียนของวิทยาลัยให้ผมฝึกมือได้ตลอดเวลาราชการ ผมกลับไม่เอาถ่านด้วยอารมณ์ที่ร้อนแรงหงุดหงิดคิดว่า ชาตินี้คงพิมพ์ดีดไม่เป็นแน่

“ฟอ หอ กอ ดอ เอก อา สอ วอ” แม่ให้ท่องแล้วฝึกวางนิ้วก้อยซ้ายที่แป้น ฟ.ฟัน นิ้วนางซ้ายไว้ ห.หีบ นิ้วกลางซ้ายอยู่ ก.ไก่ ส่วนนิ้วชี้ซ้ายอยู่ ด.เด็ก ขณะที่ นิ้วชี้ขวาอยู่ตรง ไม้เอก นิ้วกลางอยู่สระอา นิ้วนางอยู่ ส.เสือ และนิ้วก้อยขวาอยู่ตรง ว.แหวน

“เบสิกพื้นฐาน การพิมพ์แบบสัมผัสเลยนะลูก”

“ใครจะไปพิมพ์ได้ แถมอาจารย์ให้เวลาด้วย” ผมปฏิเสธตั้งแต่ยังไม่เริ่มกดแป้น

ต๊อก แต๊ก พักใหญ่ ผ่านวิกฤติสอบพิมพ์ดีดได้ ต่อมายังคงใช้นิ้วจิ้มพิมพ์ข่าวทีละตัวชิมลาง จิ้มไปจิ้มมาเริ่มคล่อง ทุกอย่างฉลุย ผมกลายเป็นน้องใหม่รับหน้าเสื่อพิมพ์ข่าวให้รุ่นเดอะหลายคน แต่มีข้อแม้ว่า ต้องเป็นข่าวที่ช่วยกันทำ ช่วยกันหามา

“ใครจะมาชุบมือเปิบไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเอาไปพิมพ์เอง” ผมกำลังปีกแข็ง

ผ่านมาหลายเดือน ผมเรียนรู้การทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์สยามโพสต์คลอดสู่แผงตลาดเป็นที่เรียบร้อย ผมถึงเริ่มเป็นเจ้ามีศาลกับเขาแล้ว ไม่ต้องมาเลื่อนลอยให้นายพลนายพันผู้กองผู้หมวด นายดาบนายหอกต้องขมวดคิ้วด้วยเครื่องหมายคำถาม “สยามโพสต์ คืออะไร”

ผมเลยกระตือรือร้นที่จะปั่นผลงานให้ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ต่อมาย้ายกองบรรณาธิการจากตึกอื้อจือเหลียงไปอยู่ตึกใหม่ของบางกอกโพสต์ ห้าแยก ณ ระนอง คลองเตย ท่ามกลางความภูมิใจของผมที่ช่วยเป็นนอตตัวเล็กขับเคลื่อนฟันเฟืองประเดิมแท่นหมึกสร้างตำนานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับใหม่ไว้เป็นอีกทางเลือกของนักเสพข่าว

“เฮ้ย เขาว่าตำรวจทำวิสามัญฯโจรปล้นร้านเพชรที่แยกราชประสงค์ว่ะ” ศักดา เจ๊กจั่น ฟังวิทยุแล้วหน้าตาตื่นมาบอก “มีใครจะไปด้วยกันไหม” แกชวนทันควัน

ผมคว้าสมุดจดข่าวเหน็บกระเป๋ากางเกง หยิบปากกาเสียบกระเป๋าเสื้อแล้วสะพายกล้อง Nikon FA มรดกตกทอดไม่รีรอ เพราะกลัวตกขบวน

เก๋งโตโยต้า เซลิกา สีเทา รุ่นเก่าบุโรทั่ง ที่แรงเพราะความเก๋าของคนขับอย่างศักดา พาพวกเราพุ่งทะยานออกจากรั้วกองบัญชาการตำรวจนครบาลไปยังที่เกิดเหตุเวลาไม่ถึง 20 นาที ในยามการจราจรที่พลุกพล่านตอนเที่ยงเศษของวันที่ 16 กันยายน 2535

บริเวณทางเท้าหน้าศาลพระพรหม ใกล้แยกราชประสงค์ บรรดาไทยมุงจับกลุ่มทอดสายตาดูร่างคนร้ายที่นอนเลือดนองพื้น มีปืน 9 มิลลิเมตรตกอยู่ข้างกาย นายตำรวจใหญ่ที่เกี่ยวข้องทยอยกันเดินทางไปคุมสถานการณ์ พลตำรวจตรีสมศักดิ์ ปิตรชาต ผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ยืนเท้าเอวก้มมองมนุษย์ไร้วิญญาณเคียงข้างลูกน้อง

ผมรัวชัตเตอร์เก็บนาทีเดือดไม่ยั้ง ก่อนเหลือบไปเห็นข่าวภาพสังกัดเดียวกันกำลังลั่นกล้องด้วยท่าทางทะมัดทะแมงดุจมืออาชีพ

“อ้าว …พี่บ๊อบ มาด้วยหรือ ถ้าอย่างนั้นพี่ว่าไปเลยนะ ผมจะได้ทำข่าวอย่างเดียว” ผมยอมแพ้การดวลชัตเตอร์หันมาเอาจริงเอาจังจับปากกาจดรายละเอียดเหตุระทึก

“ยิงกันสดอย่างนี่เลยหรือ” ผมถามไทยมุง

“เปล่าหรอก มันหนีตำรวจมาแล้วยิงตัวตายเอง”

“เอาซะงั้น ไหนบอกวิสามัญฯวะ”ผมบ่นในใจ

คนร้ายรายนี้เป็นแก๊งโจรสิงคโปร์เพิ่งร่วมกันก่อเหตุปล้นร้านนิวสตาร์ เจมส์ เลขที่ 4/1ซอยสุขุมวิท 3 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ยิงนายไพฑูรย์ สุขแสงเทียนชัย เจ้าของร้านบาดเจ็บ จากนั้นวายร้ายเลือดมังกรได้พากันหนี มีสิบตำรวจเอกบรรจง รัตนภักดิ์ ตำรวจจราจรโรงพักลุมพินีผ่านมาประสบเหตุจึงขี่มอเตอร์ไซค์ไล่ล่า

กระทั่งมาถึงหน้าศาลพระพรหม โรงแรมไฮแอท แกรนด์ เอราวัณ มันเห็นจวนตัวเลยชักปืนระเบิดสมองตัวเองหนีผิด ทราบชื่อ ชู ยิบ กวง หนุ่มเมืองลอดช่องวัย 30 ปี

เลือดของมันแดงฉานนองเต็มพื้นตัดกับเสื้อเชิ้ตเขียว ท้องฟ้า และบรรดาเครื่องแบบสีกากี

ผมชอบภาพนี้ที่ผมถ่ายมาก ถึงแม้จะไม่ได้ลงตีพิมพ์

มันเป็นจุดจบของวายร้ายข้ามชาติกลางกรุงที่ผมจำติดตา

RELATED ARTICLES