“เราไม่ควรดังในฐานะนักข่าว เพราะมีคนสอนเสมอว่า ยูทำข่าว ไม่ควรเป็นข่าว”

นข่าวหนุ่มหล่อมือฉมังรุ่นใหม่ของค่ายหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่กำลังโด่งดังในโลกโซเชียลจากการรายงานสดภาคสนามในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

“อาร์ทตี้” ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ เด็กหนุ่มชาวบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ระหว่างอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนเอกชนในบ้านเกิด ได้สอบแลกเปลี่ยนเป็นนักเรียนเอเอฟเอสไปอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พกความฝันอยากเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง ด้วยความที่ชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมจากจุดเริ่มต้นอ่านนิยายแฮรี่พอร์ตเตอร์ฉบับภาษาอังกฤษ

เขาอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ของเมืองเล็ก ๆ ในแคลิฟอร์เนียที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เจ้าตัวบอกว่า พอพูดภาษาอังกฤษได้กระท่อนกระแท่นสำเนียงคนไทย ไปตอนแรกไม่กล้าพูด สักพักต้องพูดให้ได้ ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ ใช้เวลา 3 เดือนปรับตัวและเป็นตัวแทนนักเรียนต่างชาติไปขึ้นดีเบตตามโมเดลจำลองของสหประชาชาติที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้รางวัลชมเชย เมื่อพูดถึงประเทศไทยในโครงการพัฒนาประเทศด้วยการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และเข้าถึงสาธารณสุข

เรียนรู้ชีวิตนักเรียนแลกเปลี่ยนนาน 1 ปีกลับมา เพื่อนชวนไปสอบเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพราะเด็กสาขาที่เรียนส่วนใหญ่ฝันอยากเป็นนักการทูต แต่เกิดประเด็นร้อนเมื่อทำคลิปกิจกรรมเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เสนอแนวคิดแตกต่างกับผู้ใหญ่จนถูกมองว่าแรงเกินไป เพราะเรียกร้องให้ทุกคนมีสิทธิข้ามเพศได้ กลายเป็นเรื่องไม่เหมาะสมในสมัยนั้น ทั้งที่สอบกระทรวงต่างประเทศผ่านได้คะแนนลำดับต้น

“ตอนนั้นเข้าใจนะ ถ้าเป็นตอนนี้เราก็คงสู้ เพราะสังคมมันเปิดแล้ว คิดว่า คงคุยกันได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น สังคมสมัยก่อนมันไม่พร้อม ไม่ยอมรับก็ไม่เป็นไร” อาร์ทตี้ย้อนอดีต ถึงกระนั้นเขายอมรับว่า คณะที่เรียนในมหาวิทยาลัยค่อนข้างเปิดกว้าง เป็นต้นแบบที่ให้ได้ศึกษา จะเป็นสีอะไร หรือจะเป็นฝั่งไหนก็ได้จะเชื่อฝั่งไหนเชื่อไป แต่ต้องเคารพคนอื่น เคารพความคิดของอีกฝ่าย เหมือนกับว่า เรามั่นใจ แต่ต้องเหลือที่ว่างว่า เราอาจผิดได้ เราเลยไม่เป็นคนที่มั่นใจจนเกินไป

หลังเรียนจบได้ไปช่วยงานวิจัยของอาจารย์ท่านหนึ่งเกี่ยวกับการลงทุนค้าขายสินค้าของไทยในประเทศยุโรปตะวันออก ทำไม่นานขยับไปช่วยโปรเจกต์ศูนย์อาเซียนศึกษาของมหาวิทยาลัยในการวางแผนจัดการเพิ่มพูนทักษะให้โอกาสตัวเองสะสมประสบการณ์ ก่อนทำงานบริษัทโฆษณาเรียนรู้ด้านการตลาด สุดท้ายรู้สึกว่าไม่ใช่งานที่ชอบ

ประจวบเหมาะหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เปิดรับสมัครพอดี อาร์ทตี้บอกว่า เป็นอะไรที่ไม่เคยคิดมาก่อน แม้จะเป็นคนชอบคิด พูด เขียน ชอบอ่านหนังสือ ชั่งใจแล้วถึงเข้ามาทำงานบางกอกโพสต์ เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยมีงานที่ให้ได้ใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน ทำให้ชอบ เดิมทีเริ่มต้นอยู่ฝั่งโฆษณา มีคนเห็นว่า จบด้านนี้น่ามีความรู้เหมาะกับการเป็นนักข่าวมากกว่าเลยโดนดึงตัวไปอยู่ฝ่ายข่าวต่างประเทศ ประจำกองบรรณาธิการ

ปรากฏว่า กรชนก รักษาเสรี รองหัวหน้าข่าวบางกอกโพสต์เห็นแวว แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ออกภาคสนาม ส่งให้ไปประจำกระทรวงการต่างประเทศ และทำเนียบรัฐบาล เรียนรู้อะไรหลายอย่าง “เวลานั้นยังเป็นเด็กหนุ่มที่ต้องกระตือรือร้นตลอดเวลา งานหนักแทบไม่ได้พัก เหนื่อย แต่คิดเสมอว่า ได้เจอคนที่เราไม่เจอ ได้คุยกับคนที่เราไม่เคยได้คุย ยิ่งถ้าในเวลาปกติคงไม่ได้คุยกับเขา ทำให้ได้รับความรู้ ถึงแม้เรื่องบางเรื่องเราไม่ได้เชื่อเหมือนเขา แต่เราได้นั่งคุยเปิดใจ มันก็สนุกดี”

อย่างไรก็ตามอาร์ทตี้อยู่บางกอกโพสต์แค่ 1 ปี 9 เดือนตัดสินใจยื่นใบลาออก เหตุผลเนื่องจากเหนื่อยมาก รู้สึกตัวเองไม่ได้พัก ทำงานสัปดาห์ชนสัปดาห์ ไม่มีเวลาจนคิดว่า ไม่ไหว ทั้งที่กำลังสนุกกับการเกาะติดตามข่าวหลังเหตุการณ์รัฐประหารได้ 2 ปี มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.ที่ใช้เสื้อสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์

“มันเป็นเรื่องการเมือง เรื่องของอำนาจ ไม่มีใครถูกตลอด หรือผิดตลอด สำหรับเราเชื่อในประชาธิปไตย พอมีรัฐประหาร เราด่าเขาว่า มันไม่โอเค เพราะว่า มันต้องไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย นั่นคงเป็นเหตุผลทางความคิดว่า ทำไมกระทรวงการต่างประเทศถึงตัดเราออก เพราะเรายังเด็ก กรอบคิดเราเป็นอีกแบบ คิดว่า ประชาธิปไตยต้องเป็นอย่างนี้”

ประสบการณ์การทำข่าว  อาร์ทตี้ได้เปิดใจกว่าเดิม เจอคนทุกฝั่ง ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เห็นในสิ่งที่คนข้างนอกไม่เห็น เป็นเหตุผลที่ตัวเขาไม่เชื่อใคร ไม่มีฟันธง เวลาไปคุยกับใครจะไม่ตัดสินเขา ถามให้เขาพูดแล้วให้คนอ่านตัดสินเอง เพราะเราก็ไม่มีสิทธิจะตัดสินเขาอยู่แล้ว ค่อนข้างโชคดีด้วยว่า บางกอกโพสต์ เปิดให้ตรงนี้ บ่อยครั้งโดนด่าตลอดว่า เชียร์รัฐบาล จริงๆ ไม่ใช่  มีคนหลายแบบ เป็นปกติของสังคมประชาธิปไตยมีคนทุกฝั่งมาอยู่ร่วมกันแล้วได้เสนอความคิดของตัวเอง ในขณะที่คนอีกคนได้เสนอความคิดของตัวเองได้เช่นกัน ถือว่าดี

เขาโบกลาวงการข่าวไปทำงานฝ่ายคอนเทนท์ให้ติ๊กต็อก แอปพลิเคชันที่เป็นบริการเครือข่ายสังคมสัญชาติจีนเพิ่งมาเปิดที่ไทย เนื่องจากต้องการขยายลูกค้า และเปลี่ยนตลาดให้เป็นแบบกว้างมากขึ้น ไม่มีแค่เด็ก ผลักดันติ๊กต๊อกให้เป็นแบรนด์คุณภาพมากขึ้น ทว่าทำงานได้เพียงสี่เดือนด้วยความเคยเป็นนักข่าวที่เป็นอาชีพอิสระ ไม่ชอบให้ใครมากดแบบไร้เหตุผล พาเขากลับคืนสังเวียนข่าวในสังกัดรังเก่าย่านท่าเรือคลองเตยอีกครั้ง

  เจ้าตัวว่า รู้สึกบางกอกโพสต์เหมือนบ้าน เราอาจไม่ใช่คนที่อนุรักษ์นิยม รักองค์กรอะไรขนาดนั้น แต่ว่าเราชอบ เพราะบางกอกโพสต์ให้เราได้เห็นโลกหลายอย่าง เราอยากใช้ตรงนี้เป็นสื่อที่มีคุณภาพจริงๆ ให้คนข้างนอกได้มองเห็นประเทศไทย ได้เข้าใจประเทศไทยจริง ๆ แบบเรื่องการเมืองที่จะต้องมีคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า ถึงเวลาต้องมีคนรุ่นใหม่เข้ามา ผสมผสานคนระหว่างเจเนอเรชั่น

กลับลงภาคสนามครั้งใหม่ มีคนรู้จักฮาร์ทตี้มากขึ้นหลังได้รายงานสถานการณ์สดผ่านช่องทางออนไลน์การชุมนุมตั้งแต่เมื่อครั้งครบรอบเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2563  แบบไม่มีสะดุดเป็นภาคภาษาอังกฤษ “จริง ๆ แล้วเราคิดตลอดเวลาว่า เราไม่ควรดังในฐานะนักข่าว เพราะมีคนสอนเสมอว่า ยูทำข่าว ไม่ควรเป็นข่าว แต่ว่าวันนั้นที่บูมขึ้นมา อาจเพราะเป็นเจ้าเดียวที่มีคลื่นสัญญาณ กลายเป็นคนเดียวที่รายงานได้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทย แปลสดให้ชาวต่างประเทศได้เห็นและเข้าใจสถานการณ์การชุมนุม”

นักข่าวหนุ่มบางกอกโพสต์สารภาพว่า ไม่ได้สนใจยอดกดไลค์ส่งข้อความชื่นชมมาตลอด เพราะกังวลคลื่นสัญญาณจะหลุด หลังจากจบงานแล้วถึงมาดูพบมีคนติดตามเยอะมากกว่า 2 ล้านคนจากหลายประเทศทั่วโลก รู้สึกดีเราสามารถเป็นหน้าต่างให้เห็นประเทศไทย เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เราไม่รู้ลึกว่า อะไรเป็นอะไร ให้คนดูตัดสินเอง แค่แปลอย่างตรงไปตรงมาในฐานะนักข่าว ในฐานะคนไทย  เราอาจมีความเชื่อแบบไหน พออยู่ในฐานะนักข่าว เราจะเอาความเชื่อเราใส่ลงไปไม่ได้

เขาทำยอดให้บางกอกโพสต์ขึ้นท็อปเทนในทวิตเตอร์อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ที่เข้ามาชื่นชม แต่อาร์ทตี้อยากให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า สื่อหลักไม่ได้หายไปไหนอย่างที่โลกโซเชียลทึกทักกันไป ทุกสื่อตั้งใจทำงานหมด ทว่าอาจมีข้อจำกัดหลายอย่างที่นำเสนอไม่ได้ เฉกเช่นวันนั้นที่ไม่มีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้มีแรงกดดันจากฝ่ายไหน หรือรัฐบาล “เราไม่ได้เลือกข้าง ไม่ได้แสดงความเห็น ข่าวก็คือ ข่าว ถ้าคุณเอาความเห็นคุณใส่ลงไป นั่นไม่ใช่ข่าว สื่อบางสื่อเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมในการรายงานข่าว แต่ก็ต้องเข้าใจเขา บางอย่างสื่อออนไลน์ต้องการความอยู่รอด ซึ่งในฐานะสื่อ เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าเราเป็นองค์กรหลักในสังคมที่ต้องนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่เจือปน ให้คนเสพไปตัดสินเอาเอง”

อนาคตของสื่อหนังสือพิมพ์ อาร์ทตี้ยังเชื่อว่า ไปรอด แต่ต้องเอาดิจิทัลเข้าขับเคลื่อน จะทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว เห็นได้จากนักข่าวปัจจุบัน อย่างฐปณีย์ เอียดศรีไชย หรือใครก็ตาม ใช้กล้องตัวเดียว มือถือตัวเดียวแล้วต้องทันเหตุการณ์ ต้องเร็ว ที่สำคัญต้องไม่เลือกข้าง แน่นอนคนเราต้องมีธงอยู่แล้ว แต่เวลา ทำงาน ต้องไม่เลือกข้าง  แค่ต้องนำเสนอเหมือนเป็นเลนส์ให้คนเสพเห็น ให้เขาเลือกเอาเอง ไม่งั้นเราก็จะโดนหาว่าเป็นสลิ่มเลือกข้าง

เขาย้ำว่า ถ้าอยากให้สื่อหรือองค์กรสื่ออยู่ได้ อาจจะให้มีวิธีการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ลองเปลี่ยนจากการรายงานข่าวแบบเดิม ๆ เข้าไปถึงถนน ไปคุยกับคนพื้นที่จริง ๆ เรื่องจะมีดราม่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้  ทุกสื่อ โดนด่าอยู่แล้ว  นำเสนอเจ้านี้ก็หาว่า เป็นฝั่งนั้น คงต้องยืนหยัดต่อไป  บางทีเวลาคนด่าก็ปิดหูบ้าง ต้องดูว่า สารที่สื่อออกมาเป็นยังไง ทุกคนมีอคติอยู่แล้ว นักข่าวต้องพยายามไม่ใส่อคติของตัวเอง เพราะเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์เหตุการณ์ที่ต้องยึดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อ

RELATED ARTICLES